หมดไฟแบบนี้ บอกหัวหน้ายังไงดี? วิธีบอกกับหัวหน้าอย่างตรงไปตรงมา เมื่อกำลังมีอาการหมดไฟ

Share

มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมากมายที่บอกว่า อาการหมดไฟที่ไม่ได้รับการรักษานั้น อาจทำให้สุขภาพจิตและร่างกายตกอยู่ในอันตรายได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการทำงานอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม พนักงานจำนวนมากที่ประสบกับอาการหมดไฟก็ไม่กล้าที่จะบอกกับหัวหน้าของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าพวกเขาจะสามารถช่วยเหลือได้ก็ตาม จนสุดท้ายก็เกิดปัญหาในการทำงานตามมา

บทความนี้จึงได้รวบรวมและแบ่งปันแนวทางในการเริ่มพูดคุยกับหัวหน้าอย่างเหมาะสม ว่าเรานั้นกำลังมีอาการหมดไฟ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์มากที่สุด

ยอมรับตัวเองว่าต้องการความช่วยเหลือ

หนึ่งในสาเหตุที่อาการหมดไฟไม่ได้รับการแก้ไขหรือรักษานั้น มาจากการที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานที่มีเครดิตดี เป็นที่ไว้ใจ และเป็นคนที่ถูกขอความช่วยเหลือมาโดยตลอด เนื่องจาก กลัวที่จะเสียเครดิตและตำแหน่งตรงนี้ไปถ้าหากแสดงออกว่าตัวเองมีปัญหาและขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

แต่ถ้าหากมองในอีกมุมหนึ่ง หากเราได้รับความไว้วางใจมากขนาดนั้น ก็หมายความว่าเราก็น่าจะมีเครดิตที่มากพอจะขอความช่วยเหลือได้ และหัวหน้าเองก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะเข้าใจเราเช่นกัน ไม่ว่าอย่างไร การเริ่มต้นแก้ปัญหาก็ต้องเริ่มจากการยอมรับว่าตัวเองมีปัญหาเสียก่อน

ชี้แจงสิ่งที่กำลังประสบอยู่ให้ชัดเจน

เพื่อให้การพูดคุยนี้นำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เราจำเป็นที่จะต้องชี้แจงให้หัวหน้าทราบถึงสิ่งที่เรากำลังประสบอยู่ให้ชัดเจน พยายามหลีกเลี่ยงการอธิบายแบบกว้างๆ เช่น เครียดมา หรือเบื่องานนี้ เพราะอาจทำให้หัวหน้าไม่เข้าใจสถานการณ์มากพอ ให้อธิบายอย่างเฉพาะเจาะจงไปเลย เช่น “เครียดเพราะปริมาณงานที่ได้รับมอบหมายมามันมากเกินไป” หรือ “กลัวและกังวลว่าจะทำงานทั้งหมดนี้ภายในเวลาที่กำหนดไม่ได้” เพื่อให้หัวหน้าเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเราที่มีต่องานให้มากที่สุด

‘ขอความช่วยเหลือ’ ไม่ใช่ ‘การบ่น’

อย่าลืมว่าจุดประสงค์หลักของเราในการพูดคุยกับหัวหน้านั้น คือการขอความช่วยเหลือ และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ไม่ใช่การบ่นหรือระบายให้หัวหน้าฟัง การระบายอารมณ์ของตัวเองกับหัวหน้า ไม่ได้ช่วยให้หัวหน้าเข้าใจปัญหาของเรามากขึ้น มิหนำซ้ำ หากหัวหน้าของเราเป็นพวกที่ไม่ได้สนใจอารมณ์ความรู้สึกอยู่แล้ว ก็อาจทำให้สถานการณ์นั้นแย่ลงไปอีก

เพื่อหลีกเลี่ยงการที่จะเผลอบ่นระบายออกไป ก็ควรที่จะรอให้ตัวเองอยู่ในอารมณ์ที่ไม่รู้สึกหงุดหงิดหรือเบื่อง่าย ก่อนที่จะเริ่มไปคุยกับหัวหน้า

รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น

เมื่อมีปัญหาความเครียดหรือปัญหาทางด้านจิตใจ สิ่งหนึ่งที่อาจตามมา คือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อผู้อื่น โดยที่เรานั้นอาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของงานและความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ได้ จึงเป็นการดีกว่าที่เราควรจะขอโทษ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเองที่เกิดขึ้น ในช่วงที่กำลังมีปัญหาระหว่างที่พูดคุยกับหัวหน้าเพื่อขอความช่วยเหลือ

แต่พึงระลึกไว้ว่า เราไม่ได้ขอโทษที่ตัวเองหมดไฟ เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่เราขอโทษที่ปล่อยให้ปัญหาของตัวเองส่งผลกระทบต่องานและผู้อื่น เพราะอาการหมดไฟไม่ใช่สิ่งที่ผิด อย่าโทษตัวเองมากจนเกินไป และหาทางแก้ไขให้ได้เร็วที่สุดจะเป็นผลดีทั้งกับตัวเรา และงานที่คุณกำลังกังวลอยู่ด้วยนะ

Source: https://bit.ly/3tPBfv6