เชื่อว่า ในชีวิตการทำงานของหลายๆ คนจะต้องมีสักครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่า ไม่เห็นด้วยกับความคิดของทีมส่วนใหญ่ หรือหัวหน้า แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่กล้าพูดออกไปเพราะกลัวว่า จะไม่มีใครรับฟัง อาจจะกระทบกับความสัมพันธ์ที่มีได้ เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทุกคนย่อมต้องการความเห็นที่ตรงกัน เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายพร้อมๆ กัน ดังนั้น การไปคัดค้านเสียงส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องยากเสมอ
อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้ว ทุกแนวคิดต้องมีการตรวจสอบ ป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น หากเรารู้สึกว่า ทีมหรือองค์กรกำลังขาดสิ่งสำคัญอะไรบางอย่าง กำลังเดินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง เสี่ยงเกิน สิ่งที่เราควรทำมากที่สุดก็คือ ‘การพูดออกมา’ นั่นเอง แล้วเราจะทำยังไงให้เสียงเล็กๆ ถูกรับฟัง และนำไปพิจารณาอย่างจริงจัง? บทความนี้จะพาไปดู 7 สิ่งที่ควรทำเพื่อให้เสียงคัดค้านของเรานั้นมีโอกาสจะถูกรับฟังมากยิ่งขึ้นกัน
1. ทำให้เขาเห็นว่า ‘เรามีประโยชน์’
แน่นอนว่า ถ้าอยากให้มีคนอื่นรับฟังเรา สิ่งสำคัญแรกที่เราจะต้องมีก็คือ ‘เครดิต’ ของผู้พูดที่ติดตัวมา ซึ่งก็จะมีได้เยอะๆ นั้น ก็ย่อมเกิดจากการสะสมผ่านการทำประโยชน์ต่างๆ ให้กับทีม ทั้งนี้ อาจจะอยู่ในรูปแบบของทักษะ ความรู้เฉพาะทาง หรือประสบการณ์การทำงานที่มีประโยชน์สักอย่างก็ได้ แต่ถ้าเรายังไม่มีสิ่งเหล่านี้ การพยายามสนับสนุนทีม อาสาช่วยงาน ให้คำปรึกษา หรือแม้กระทั่งการยอมเสียสละกับบางเรื่องก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสะสมเครดิตของตัวเองที่ดีเช่นกัน
2. ทำให้เขาเห็นว่า ‘เราโฟกัสประโยชน์ของทีมเป็นหลัก’
พยายามแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้ต้องการเอาชนะ มีปัญหาส่วนตัวกับใคร แต่เป็นการโฟกัสไปที่ผลประโยชน์ของทีมเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับความสำเร็จ อธิบายโดยใช้เหตุผลที่เกี่ยวกับงานมากกว่าเหตุผลส่วนตัว เพื่อสร้างความไว้ใจ และกระตุ้นให้คนอื่นๆ รู้สึกอยากฟังเรามากยิ่งขึ้น
3. อธิบายให้เห็น ‘ภาพชัดๆ’
มีผลการศึกษามากมายนั้นชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่จะกระตุ้น และโน้มน้าวใจผู้ฟังได้มากที่สุดคือ ‘การพูดให้เห็นภาพอย่างชัดเจน’ เวลาคัดค้านก็เช่นกัน พยายามอธิบายให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวบรวมข้อมูล และรายละเอียดที่แม่นยำ เพื่อให้ผู้ฟังเห็นว่า หากนำความเห็นของเราไปพิจารณาแล้ว ทีมจะได้ประโยชน์สูงสุด โดยอาจนำไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่พวกเขาสนใจ หรือให้คุณค่าก็ได้
4. ไม่กลัวโดนยิง พร้อมตอบทุกคำถาม
อีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ความเห็นของเรานั้นดูแข็งแรง และน่าเชื่อถือก็คือ ‘ความพร้อมในการตอบทุกคำถามที่ถูกยิงเข้ามาได้เป็นอย่างดี’ พยายามหาว่า ตรงไหนที่ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริง แต่เป็นความคิดเห็นส่วนตัว จากนั้น ให้หาหลักฐาน เหตุผลดีๆ มาสนับสนุน เพราะจุดนี้แหละที่คนอื่นมักจะยิงคำถามใส่มากที่สุดนั่นเอง
5. ระบุ ‘อุปสรรค’ กับ ‘ความเสี่ยง’ ให้ได้
ในความเป็นจริง การจะโน้มน้าวใจคนอื่นได้ หลักๆ แล้ว เราจำเป็นต้องอธิบายผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับกลับไปเป็นสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ควรอธิบาย ‘อุปสรรค’ กับ ‘ความเสี่ยง’ ที่เกิดขึ้นให้ได้ด้วย รวมไปถึงเคสที่ยิ่งเราทำตามข้อเสนอที่บอกไปได้ด้วย ก็ยิ่งแสดงถึงความจริงใจ และความโปร่งใส ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้การพูดโน้มน้าวใจมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น
6. แสดง ‘ความเป็นทีม’
อย่างที่บอกไปว่า ลึกๆ แล้ว เวลาที่คัดค้านอะไรออกไปก็ล้วนมาจากเจตนาดีที่เห็นประโยชน์ของทีมเป็นอันดับแรกๆ ไม่ใช่เพราะเรื่องส่วนตัว ฉะนั้น ก็ควรที่จะแสดงให้เห็นด้วยว่า เราเต็มที่กับทีมจริงๆ พยายามลดระยะห่างระหว่างกันลง ยอมรับในความสามารถของแต่ละคน และเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาช่วยเหลือ ปรับปรุง ตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งคัดค้านความคิดเห็นของเรา เพื่อส่งเสริมการทำงานเป็นทีมให้เกิดมากที่สุดก็ด้วย
7. หากองเชียร์
ถึงการคัดค้านเสียงส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับหลายๆ คน แต่ถ้ามีคนที่คอยสนับสนุน หรือคนที่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเตรียมไว้อย่างน้อยสักคน นี่ก็เพียงพอที่จะแบ่งเบาภาระออกไปได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกว่า ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว พอพูดอธิบายความคิดเห็นอะไรออกไป ก็จะทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนคัดค้านกับทีม อาจจะลองแชร์ความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมงานที่สนิทกันดูก่อนก็ได้
และทั้ง 7 ข้อนี้ก็เป็นเพียงวิธีการเพิ่มโอกาสให้คนรับฟังเรามากขึ้นเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ได้อาจการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ผลลัพธ์จะออกมาดีเสมอไป ทีม องค์กร และโลกใบนี้ต่างก็ต้องการนักคิดที่แตกต่างในการพัฒนาต่อไปข้างหน้า แม้ว่าบางครั้งการคัดค้านอาจไม่ได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงแรกๆ แต่การตัดสินใจของส่วนรวมจากความเห็นที่หลากหลายก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าในระยะยาว เพราะฉะนั้นแล้ว จงระลึกไว้เสมอว่า ถึงจะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่เสียงเราก็มีความสำคัญต่อส่วนรวมไม่แพ้เสียงคนอื่นๆ เช่นกัน
Source: https://bit.ly/3OAFkeb