Performance ตก ไม่มีใจอยากจะไปต่อ รับมือยังไงเมื่อเจอคนทำงานแบบ ‘Deadwood’ เหมือนไม้ตายซาก

Share

“เช้าชาม เย็นชาม” คืออีกหนึ่งประโยคที่หากพูดถึงแล้ว ภาพแรกที่ผุดขึ้นในหัวของหลายๆ คนมักจะเป็นภาพของพนักงานที่เติบโตภายใต้ระบบราชการอยู่เสมอ แต่ก็อาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะจริงๆ แล้วพฤติกรรมน่าเอือมระอาเหล่านี้สามารถพบได้ในพนักงานทุกคน ทุกระดับ ทุกบริษัทด้วย

อย่างเช่น ทีมงานหน้าเก่าที่หมดไฟ ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ ไม่พร้อมเรียนรู้ ไม่พร้อมพัฒนา หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘พนักงาน Deadwood แบบไม้ตายซาก’ ซึ่งนอกจากจะทำงานเฉื่อยชาไปวันๆ แล้ว ก็อาจพาทีมคนอื่นพังตามได้เช่นกัน

แล้วพนักงาน Deadwood แบบไม้ตายซากคืออะไร มีพฤติกรรมแบบไหน พาทีมคนอื่นพังยังไง และหัวหน้าอย่างเราๆ จะรับมือด้วยวิธีไหนได้บ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

พนักงานแบบ Deadwood คืออะไร?

Deadwood ถ้าแปลตรงตัวจากภาษาอังกฤษหมายถึง ไม้ที่ตายแล้ว คนหรือสิ่งของที่ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ที่ต่อให้จะพยายามรดน้ำ ใส่ปุ๋ยเท่าไร ไม้ที่เหลือแต่ตอ และตายแล้วก็ไม่มีวันเจริญเติบโตขึ้นไปได้อีก รวมไปถึงรากที่หยั่งลึกลงในดินก็ทำให้ยากต่อการขุดขึ้นมาด้วย

โดยคำดังกล่าวถูกนำมาเปรียบกับพฤติกรรมของพนักงานบางคนที่ไม่สามารถเติบโต ไม่สามารถสร้าง Value ให้องค์กรต่อได้ เพราะลึกๆ แล้ว คนกลุ่มนี้ไม่พร้อมจะพัฒนา ไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ หรือบางเคสก็อาจจะเป็นพนักงานประเภทศาลพระภูมิ เจ้าที่ เจ้าทางอย่างการสิงสถิตที่องค์กรนั้นๆ มานานก็ได้เช่นกัน

พนักงานแบบ Deadwood มีพฤติกรรมแบบไหน?

พนักงานแบบ Deadwood ประกอบไปด้วย 3 พฤติกรรมเด่นๆ ด้วยกัน ลูกน้องของเรากำลังเข้าข่ายอยู่รึเปล่า? ไปลองสำรวจกัน

1. ‘แบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว’ คือคำพูดติดปาก

อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าว่า พวกเขาไม่พร้อมพัฒนา นี่เลยทำให้พวกเขาทำงานแบบซ้ำๆ เดิมๆ อยู่ตลอด แน่นอนว่า เวลามีวิธีการอะไรใหม่ๆ ที่เวิร์กกว่า พนักงานแบบ Deadwood ก็จะไม่สนใจ แถมบางทีก็อาจจะเถียงข้างๆ คูๆ กลับด้วยว่า ‘แบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว’ โดยไม่สนใจว่า วิธีการแบบใหม่นั้นให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า และอาจจะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น

2. คิดไม่ออก บอกไม่ถูก

นอกเหนือจากการเถียงข้างๆ คูๆ แล้ว อีกหนึ่งท่าไม้ตายเด็ดที่ไม่มีใจอยากจะพัฒนาของคนกลุ่มนี้ก็คือ เวลาให้คิดงานอะไร โปรเจกต์ไหน คำตอบที่มักจะได้กลับมาก็หนีไม่พ้น ‘การคิดไม่ออก’ หรือบางเคส ถ้าหัวหน้าไม่ทวง งานนั้นก็จะหายเข้ากลีบเมฆไปแบบปริศนา ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่พวกเขาคิดไม่ออกหรือลืมแต่อย่างใด แต่แท้จริงแล้ว พวกเขาไม่มีใจอยากจะคิด ไม่อยากจะพัฒนางาน ไม่อยากจะขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าต่างหาก

3. Performance แย่ Potential ต่ำตลอด

ที่ผ่านมา มอบหมายงานอะไรไป ก็ทำออกมาได้แย่ ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้สักครั้ง แต่ที่หนักที่สุดคือ บางครั้งก็เป็น ‘ศูนย์’ เหมือนกับว่า แทบไม่ได้ทำอะไรเลยด้วยซ้ำ โดยอาจเรียกได้ว่า ‘พนักงานกลุ่มนี้ทำงานไม่คุ้มค่าจ้าง’ เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นผลสำเร็จของงาน พฤติกรรม การแสดงศักยภาพในการพัฒนาเนื้องาน และการไม่คิดจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเองก็ด้วย

พนักงานแบบ Deadwood มีสาเหตุมาจากเรื่องไหน?

หัวหน้าบางคนอาจจะรู้สึกว่า ในเมื่อแย่แบบนี้ก็บีบให้ลาออกทันทีด้วยการไม่ป้อนงานเลยก็คงจะดีกว่า เพราะจะได้ไม่พาทีมคนอื่นพังไปมากกว่านี้ แต่ถึงที่สุดแล้ว อยากให้ลองกลับมาทบทวน มองไกลๆ ว่า ไม่ว่าคุณจะไล่เขาออก หรือปล่อยให้เขาอยู่ต่อ ทั้ง 2 ทางเลือก ต่างก็ไม่เวิร์กทั้งคู่ มีแต่เสียกับเสีย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไล่ออก คุณอาจจะสูญเสียพวกเขาไป ซึ่งจริงๆ แล้ว โดยเนื้อแท้พวกเขาอาจจะเป็นพนักงานที่ดีคนหนึ่งเลยก็ได้ หรืออย่างการปล่อยให้เขาอยู่ต่อ หยั่งรากลึกในองค์กรต่อไปเรื่อยๆ นั่นก็ไม่เป็นผลดีพอๆ กัน

แต่แทนที่จะปักธงในใจแบบนั้น อยากให้ทำใจร่มๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เริ่มทำอะไรสักอย่าง ลองทำความเข้าใจว่า ‘ทุกอย่างมีเหตุและผลของมัน’ หลายๆ ครั้งอาจจะมีบางอย่าง Transfrom ให้พวกเขากลายเป็น Deadwood

ไม่ว่าจะเป็นเนื้องานที่ไม่ท้าทายความสามารถ ไม่ตรงกับความถนัด ปัญหาส่วนตัวที่รุมเร้า และการไม่ Match กับวัฒนธรรมองค์กรก็ด้วย สมมติ พนักงานคนนี้เป็นชอบคิดไอเดีย เสนอสิ่งใหม่ๆ แต่เจ้าขององค์กรเป็นประเภท Micromanagement ต้องทำตามที่บอกเท่านั้น นี่ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากพวกเขาจะกลายเป็นไม้ตายซากไปวันๆ นั่นเอง

นอกจากนี้ การเมืองภายใน และการจัดการขององค์กรก็มีผลไม่แพ้กัน อย่างเช่น การมีเด็กเส้น เด็กฝากที่อาจทำให้หัวหน้าบางคนยอมปิดตาข้างหนึ่ง ยกยอพนักงานกลุ่มนี้จนทำให้พนักงานที่เหลือรู้สึกไม่แฟร์ ตั้งคำถามเอาได้ รวมไปถึงการถูกปั่นว่าไม่เก่งหรือ Gaslighting หัวหน้าไม่ชอบหน้า ไม่ชอบใจในนิสัย และพฤติกรรมก็เช่นกัน

ถ้ามีพนักงานแบบ Deadwood อยู่ในทีม จะจัดการยังไง?

1. มองลูกน้อง ย้อนมองตัวเอง

มีคนเคยบอกไว้ว่า ดูละครให้ย้อนดูตัวเอง เช่นเดียวกับเคสนี้ ที่ดูลูกน้องแบบ Deadwood แล้ว อย่าเพิ่งตัดสินว่า เรื่องนี้เป็นขาวหรือดำ แต่ให้ย้อนกลับมาดูตัวเองด้วยว่า จริงๆ แล้ว เราได้สร้างสภาพแวดล้อมที่จะกำลังทำร้ายเขาทางอ้อมอยู่รึเปล่า? อาจจะลองตั้งคำถามกลับว่า วิธีการทำงานที่มีอยู่ไปบล็อกความสามารถเขาอยู่ไหม ที่บอกว่าเปิดกว้าง รับฟังจริงหรือรับฟังแบบทิพย์ๆ กันแน่ เวลาบรีฟงาน บรีฟดี ละเอียดพอแล้วหรือยัง?

2. เปลี่ยนความคิด ปลุกไฟอีกครั้ง

หลักๆ แล้ว ที่พนักงานประเภทนี้ไม่อยากพัฒนาก็ล้วนมีต้นตอมาจาก Fixed Mindset ที่บล็อกหัวสมองว่า ทำไม่ได้ แบบเดิมก็ดีอยู่แล้ว หัวหน้าอย่างเราๆ จึงควรหาแรงจูงใจผ่านการ Cheer up หรือ Recognition ทุกครั้งที่พวกเขาทุ่มเทกับงานอย่างเต็มที่ ไม่โฟกัสแค่ Result แล้วให้ Reward เฉพาะพนักงานแบบ Star ดาวเด่นเพียงอย่างเดียว

3. คนทุกคนพัฒนาได้

จับเข่าคุยกันตรงๆ อย่าเพิ่งไปตีตราว่า พวกเขาแย่ ไม่มีทางพัฒนาได้ โดยก็อาจจะลองหาทางออกร่วมกัน คิดโปรแกรมการพัฒนาผลงานคร่าวๆ วางเป้าหมายทั้งระยะสั้น และยาว ลิสต์สิ่งที่เป็นปัญหา ที่พวกเขายังขาดออกมา และหมั่นคอยฟีดแบ็ก ติดตามเป็นระยะๆ อยู่ตลอดด้วย

4. เปลี่ยนดิน เปลี่ยนกระถาง

ทำความเข้าใจว่า ความถนัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน Timing ในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ก็เช่นกัน อย่าเอาตัวเองเป็นไม้บรรทัด เพราะในความเป็นจริง พวกเขาอาจจะอยู่ผิดที่ ผิดทาง ผิดกับความถนัดที่มีก็ได้ เหมือนอย่างที่ต้นไม้บางพันธุ์เติบโตได้ดีในดินทราย แต่พอไปอยู่ในกระถางอื่นที่เต็มไปด้วยดินเหนียว หรือดินร่วน ก็อาจจะเฉาตายได้ ดังนั้น สิ่งที่หัวหน้าควรทำอีกอย่างก็คือ ‘สนับสนุนให้ลูกน้องเติบโตตามทางที่ควรจะเป็น’ โอนพวกเขาไปทำงานที่ถนัดในตำแหน่งอื่น ทีมอื่น เพื่อที่ว่าพวกเขาจะได้ใช้จุดแข็งที่มีอย่างเต็มที่

ถึงเขาจะเป็น Deadwood ในองค์กรเรา แต่ก็ไม่ได้แปลว่า พวกเขาจะแย่ไปตลอดสักหน่อย อันที่จริงเขาอาจจะเป็น Star ในองค์กรอื่นก็ได้ ท้ายที่สุดแล้ว ในเมื่อลองหมดทุกวิธี แต่ก็ยังไม่ได้ผล ตำแหน่ง เนื้องานที่มียัง Miss fit กับความสามารถอยู่ การรู้ว่า เมื่อไรควรพอ เมื่อไรควรปล่อย จากกันด้วยดีแล้วแยกย้ายกันไปมีอนาคตที่สดใส ก็อาจจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้นะ

Sources: https://bit.ly/3CcZj0c

​​https://bit.ly/3Prx3tG

https://bit.ly/3PnvL2R

https://bit.ly/3bYD8Qt

https://bit.ly/3A3x4OA

https://bit.ly/3pr2OIJ

https://bit.ly/3waDFWx