ลูกทีมมีปัญหาแต่ไม่ยอมบอก รู้ตัวอีกทีลาออกไปแล้ว 6 วิธีรักษาลูกทีมที่องค์กรระดับโลกใช้กัน

Share

“พี่คะ หนูขอลาออกค่ะ”

“ผมขอลาออก ขอบคุณสำหรับที่ผ่านมาครับ”

นี่คงเป็นประโยคสุดช็อกสำหรับคนเป็นหัวหน้า ไม่ว่าจะได้ยินจากปาก หรืออ่านจากข้อความก็ทำให้รู้สึกใจหายได้ไม่แพ้กัน เพราะลูกทีมที่เราปั้นมากับมือกำลังจะจากเราไป เพื่อเริ่มต้นเส้นทางชีวิตใหม่ที่พวกเขาเลือก

หากเหตุผลของการจากลา คืองานที่ทำอยู่มาถึงทางตัน หรือต้องการทำตามความฝันที่เป็นหมุดหมายใหญ่ในชีวิตให้สำเร็จ ก็นับว่าเป็นการจากลาที่สวยงาม แต่หากเป็นการจากลาที่เกิดจากปัญหาการทำงานที่ลูกทีมไม่ยอมบอก หรือเกิดจากสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจ แล้วไม่ได้รับการพูดคุยเพื่อปรับความเข้าใจกันอย่างชัดเจน การสูญเสียลูกทีมไปด้วยเหตุผลเช่นนี้คงไม่ใช่สิ่งที่ดีแน่

ยิ่งไปกว่านั้น เทรนด์การทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปจากในอดีตมาก พวกเขาไม่ได้ยึดถือว่า ความมั่นคงในหน้าที่การงานเท่ากับความมั่นคงในชีวิตอีกต่อไป พวกเขาพร้อมเปลี่ยนงาน หรือแสวงหาโอกาสใหม่ๆ หากงานที่ทำอยู่ไม่ได้ทำให้พวกเขามีความสุข

และในมุมของหัวหน้า การรักษาลูกทีมให้ทำงานด้วยกันไปนานๆ คงเป็นโจทย์สุดหินอยู่ไม่น้อย เพราะหากปล่อยให้ในบริษัทมีอัตราการลาออก (Turnover) สูง จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของบริษัท รวมถึงการที่ต้องสอนงานลูกทีมคนใหม่ให้เชี่ยวชาญเท่ากับลูกทีมคนเก่าในระยะเวลาอันสั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด

วันนี้ เราจึงนำวิธีการรักษาลูกทีมที่องค์กรชั้นนำหลายๆ แห่งนำไปใช้แล้วได้ผลจริง รวมถึงยังได้รับการการันตีจาก ‘บีซีจี’ (Boston Consulting Group หรือ BCG) องค์กรที่ปรึกษาระดับโลก มาฝากหัวหน้าทีมทุกคนที่ต้องดูแลลูกทีมของตัวเองได้ไปลองปรับใช้กันดู

1. สร้างแรงจูงใจ เพื่อนำไปสู่ความภักดี

ทุกคนเคยได้ยินเกี่ยวกับ ‘ทฤษฎีบูมเมอแรง’ มาก่อนหรือเปล่า?

ทฤษฎีบูมเมอแรง เป็นการเปรียบเทียบว่า ‘ทำสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น’ เช่นเดียวกับบูมเมอแรงที่ขว้างออกไป แล้วเดี๋ยวก็กลับมา ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการทำงานในทีมเลย หากหัวหน้าต้องการรักษาลูกทีมให้ทำงานไปด้วยกันนานๆ ต้องเริ่มจากการวางระบบในการทำงานที่ดี สร้างแรงจูงใจในการทำงานที่ไม่บังคับจนเกินไป จะทำให้ลูกทีมเกิดความเชื่อมั่นในตัวหัวหน้า จนมีสายสัมพันธ์บางอย่างที่แข็งแกร่ง และปัญหาจากการทำงาน จะไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจลาออกอีกต่อไป

2. ให้โอกาสในการเติบโต

ผลสำรวจจากบีซีจี ระบุว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั่วโลก มีความกระตือรือล้นในการพัฒนาทักษะ และต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้องค์กรในทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมา ทำให้ทุกคนมีช่วงเวลาแห่งการเติบโตเป็นของตัวเอง

ดังนั้น หัวหน้าควรรับฟังสิ่งที่ลูกทีมต้องการสื่อสารอย่างเปิดใจ และนำความคิดเห็นที่มีประโยชน์มาปรับใช้เข้ากับการทำงาน เมื่อความคิดเห็นถูกทำให้เป็นจริง จะทำให้ลูกทีมรู้สึกว่า เสียงของตัวเองมีคุณค่า จนเกิดความต้องการที่จะอยู่ในองค์กรที่ใส่ใจตัวเองต่อไป

3. ฟีดแบกการทำงานอย่างเหมาะสม

ผลสำรวจจาก Gallup ระบุว่า สิ่งที่ลูกทีมต้องการจากหัวหน้าของตัวเอง ก็คือการฟีดแบกการทำงานอย่างเหมาะสม เพราะเวลาที่ลูกทีมทำงานในส่วนของตัวเอง ก็เห็นแค่สิ่งที่ตัวเองถ่ายทอดลงไปในงานจริงๆ แต่ไม่รู้ว่า สิ่งที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นคืออะไร

ดังนั้น เวลาที่ลูกทีมต้องการให้หัวหน้าฟีดแบกการทำงานของตัวเอง หัวหน้าควรบอกกล่าวอย่างตั้งใจ และติเพื่อก่อ ไม่ใช่ติเพื่อให้ล้ม เพราะหากหัวหน้าใช้คำที่รุนแรงในการฟีดแบกงานของลูกทีม จะทำให้ลูกทีมหมดกำลังใจ และเดินจากไปในที่สุด

4. เชื่อมสัมพันธ์ให้ทีมแข็งแกร่งอยู่เสมอ

บางทีสาเหตุของการลาออกไม่ได้อยู่ที่ปัญหาจากการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดจากความรู้สึกโดดเดี่ยว หรือความเข้ากันไม่ได้กับคนในทีม ทำให้หัวหัวหน้าทีมต้องเป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างลูกทีมอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเป็นการสร้างสังคมดีอีกสังคมหนึ่งในที่ทำงานด้วย

5. เอาใจใส่เหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว

หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่า ความสัมพันธ์แบบเพื่อนร่วมงาน ช่างห่างไกลกับความสัมพันธ์แบบครอบครัวยิ่งนัก แล้วการดูแลลูกทีมเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวจะทำได้จริงๆ เหรอ?

จริงๆ แล้ว หัวหน้าไม่จำเป็นต้องดูแลลูกทีมเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวขนาดนั้น แค่หยิบเอาจุดเด่นของความสัมพันธ์แบบครอบครัวมาใช้อย่างมีความเห็นอกเห็นใจก็พอ เช่น คอยมอบความปรารถนาดีให้กับลูกทีม ให้คำปรึกษาที่มีประโยชน์ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้ลูกทีมอยากตื่นขึ้นมาในตอนเช้า เป็นต้น

6. ให้ความยืดหยุ่นในการทำงาน

“หัวหน้าที่ดีไม่ใช่คนที่ออกคำสั่งเก่ง แต่เป็นคนที่ผลักดันศักยภาพของคนอื่นได้ดีต่างหาก”

ประโยคสุดคลาสสิกเกี่ยวกับการเป็นหัวหน้าที่ดีที่จริงเสมอ เพราะทุกคนที่เข้ามาทำงานต่างมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง การบังคับให้ลูกทีมทำตามที่หัวหน้าสั่ง เป็นเหมือนการตีกรอบที่มีแต่จะทำให้ลูกทีมรู้สึกอึดอัด และเมื่อทนไม่ไหว ลูกทีมอาจจะตัดสินใจลาออกไป

ดังนั้น หากหัวหน้าทีมต้องการให้ภาพรวมของการทำงานเป็นไปตามที่วางไว้ ให้ทำแค่ไกด์ไปในทิศทางนั้นก็พอ ไม่ต้องออกคำสั่ง หรือจับมือทำ เมื่อหัวหน้ากับลูกทีมสื่อสารกันอย่างชัดเจน ผลลัพธ์ของงานก็จะออกมาตามทิศทางที่หัวหน้าวางไว้อย่างแน่นอน

ถึงแม้ว่า การเป็นหัวหน้าจะมีหน้าที่และสิ่งที่ต้องแบกรับมากมาย แต่หนึ่งในสิ่งที่คนเป็นหัวหน้าต้องใส่ใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการดูแลหัวใจของคนในทีมให้ดีอยู่เสมอ รวมถึงรับฟังปัญหากับความคิดเห็นอย่างเปิดใจ และตระหนักอยู่เสมอว่า หน้าที่ของการเป็นหัวหน้าไม่ใช่แค่การปั้นคนให้เก่ง แต่ต้องรักษาให้คนอยู่กับองค์กรไปนานๆ ด้วย

Sources: https://bit.ly/3agO1fK

https://bit.ly/3NQtXyE

https://bit.ly/3AuH0CD