ทำไมเรามี Work-Life Balance ไม่ได้สักที? เมื่อ ‘ส่วนผสมวัยเด็ก’ คือชิ้นส่วนสำคัญของชีวิตไร้ Balance

Share

คงจะไม่เป็นการพูดเกินจริงไปสักเท่าไร หากจะบอกว่า สำหรับมนุษย์ออฟฟิศหลายๆ คนแล้ว Work-Life Balance หรือการมีสมดุลชีวิตทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวอาจไม่ใช่เป้าหมายที่แปลกใหม่อะไร รวมไปถึงเราหรือคนรอบตัวก็อาจจะหยิบเรื่องนี้มาตั้งเป็น New Year’s Resolution จนเกริ่นเกร่อแล้วซะด้วย

แต่ว่ากันตามตรง แม้จะพยายามตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน พยายามไล่ทำตามสูตร How-to มากมายในบทความตามอินเทอร์เน็ต และหนังสือพัฒนาตนเอง (Self-help) ทว่า ในความเป็นจริง หลายๆ คนก็กลับคว้าน้ำเหลวอยู่บ่อยๆ อีกทั้งก็ยังถูกแทนที่ด้วย Work-Life Harmony หรือ Work-Life Integration เช่นกัน

เนื่องจาก มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่รู้สึกว่าการ Balance ตาชั่งให้ทั้ง Work กับ Life ไปด้วยกันเป็นเรื่องยาก และนั่นแปลว่า อาจจะต้องให้น้ำหนักอีกฝั่งลดลง เหมือนกับเวลาที่อยากรวย อยากได้เงินเยอะๆ เราก็เลยต้องทำงานให้มากขึ้น ยอมมีเวลาชีวิตส่วนตัวที่ลดลงนั่นเอง

มีบทความหนึ่งบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) พูดถึงประเด็นนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า อุปสรรคของ Work-Life Balance ไม่ได้มีแค่ปัญหางูกินหางของระบบทุนนิยมเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ส่วนผสมในวัยเด็กอย่าง ‘การเรียนรู้พฤติกรรมของพ่อแม่’ ก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมวาทกรรม ‘ชีวิตไร้ Balance’ ด้วย

Image by wayhomestudio on Freepik

งานวิจัยเรื่อง When the past comes back to haunt you: The enduring influence of upbringing on the work–family decisions of professional parents ของโลอะนา ลูปู (Ioana Lupu) รองศาสตราจารย์แห่ง ESSEC โรงเรียนธุรกิจฝรั่งเศส จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครพ่อแม่ที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี จำนวน 78 คน ทำงานที่สำนักงานกฎหมายในลอนดอน (London) และสำนักงานบัญชีระดับโลก ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางหรือสูง ส่วนใหญ่ผู้ชายมักมีภรรยาแล้ว และเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่มี Pattern ชีวิตอย่างการมีแม่อยู่บ้าน และพ่อเป็นคนทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

โดยได้ทำการแบ่งกลุ่มตัวออกอย่างออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือ คนที่ตั้งใจรับรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่ กลุ่มที่ 2 คือ คนที่รับรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่โดยไม่ได้ตั้งใจ กลุ่มที่ 3 คือ คนที่ตั้งใจปฏิเสธรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่ และกลุ่มสุดท้ายคือ คนที่ปฏิเสธรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่โดยไม่ได้ตั้งใจ

ผลปรากฏว่า พฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่นั้นมีผลกับวิธีคิดเรื่อง Work-Life Balance จริง โดยเนื้อแท้ คนเราไม่มีมุมมองที่ว่างเปล่าในการทำงาน ความเชื่อต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกๆ ผ่านการสังเกตพฤติกรรม และทัศนคติของพ่อแม่ นิสัยเหล่านี้ฝังลึกเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน แต่มักจะถูกมองข้ามไป

ซึ่งจากการสำรวจคนกลุ่มแรกที่ตั้งใจรับรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่ โลอะนาพบว่า Work-Life Balance ของพ่อหรือแม่ที่มีเพศเดียวกับลูกมีอิทธิพลต่อ Work-Life Balance ของลูกอย่างเห็นได้ชัด เช่น มุมมองของพ่อที่มีอิทธิพลต่อลูกที่เป็นผู้ชาย และกลายเป็นพ่อที่เป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวรุ่นต่อไปอย่างมาก ในทางกลับกัน ก็มีอิทธิพลต่อลูกที่เป็นผู้หญิง และกลายเป็นแม่ของครอบครัวรุ่นต่อไปน้อยมาก

แฟรงค์ (Frank) หนึ่งในกลุ่มตัวอย่างระบุว่า ในอดีต เคยเห็นพ่อกลับบ้านช้าเป็นประจำ และทำงานวันหยุด ตนไม่รู้สึกแปลกหากต้องทำงานวันหยุด เพราะมันเป็นสิ่งที่เห็นมาตลอดเวลาที่อยู่บ้าน

เช่นเดียวกับแจ็ค (Jack) ที่เผยว่า ตนมีพ่อเป็นแบบอย่าง พ่อทำงานตลอดเวลาเท่าที่จะทำได้ การทำงานด้วยชั่วโมงที่ยาวนานไม่ใช่แค่ความคุ้นเคย แต่กลายเป็นความรู้สึกส่วนตัวของตนที่ว่า การทำงานที่หนักพอควรจะเป็นเช่นไร

โลอะนาสรุปว่า ลูกที่เห็นพ่อแม่ทำงานหนักตอนเด็กๆ พอเติบโตขึ้น พวกเขาจะมองว่า ‘การทำงานหนักเป็นเรื่องปกติ’ และต่อให้จะพยายามทำตัวแตกต่างสักเท่าไร แต่นิสัยที่ฝังลึกก็ยังคงทำให้คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรม Work-ไร้-Balance แบบเดิมๆ

อย่างเช่น แจ็คที่เคยสัญญากับตัวเองว่า จะเป็นพ่อที่มีเวลาดูแลลูกให้มากๆ ไม่เดินตามรอยพ่อของตนในอดีต แต่สุดท้ายแล้ว ก็ทำไม่ได้ อีกทั้ง โมเดลนี้ยังเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับกลุ่มตัวอย่างผู้ชายคนอื่นด้วย

ในขณะที่ แอน (Anne) ผู้จัดการในบริษัท Big 4 แห่งหนึ่งก็มองการทำงานในเชิงลบเช่นกัน เธออธิบายว่า แม่ไม่เคยขาดงาน เต็มใจทำงานหลายชั่วโมง ตอนแรกตนก็มีมุมมองแบบนั้นเหมือนกัน พอลูกป่วย ตนก็หาคนไปดูแล เนื่องจาก ต้องทำงาน

แอนสารภาพว่า รู้สึกเสียใจมากที่งานส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับลูก เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างตนกับแม่แท้ๆ ที่ไม่ค่อยจะดีนัก และต่อให้จะตระหนักถึงเรื่องนี้ ขีดเส้นตายว่า จะลดชั่วโมงการทำงานลง แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้มากอยู่ดี

Image by creativeart on Freepik

นอกจากนี้ การสำรวจคนกลุ่มสุดท้ายที่ปฏิเสธรูปแบบ Work-Life Balance ของพ่อแม่โดยไม่ได้ตั้งใจ โลอะนาพบว่า ลึกๆ แล้ว เป็นผลมาจากความล้มเหลว หรือความเสียใจที่ได้รับจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ อย่างเช่น คนใกล้ตัวที่ป่วยหรือเสียชีวิต

เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงเปลี่ยนพฤติกรรมไปอย่างสิ้นเชิง ปฏิเสธการทำงานวันหยุด และบางทีก็อาจจะถึงขั้นลาออกไปทำงานในองค์กรที่ควบคุมชั่วโมงการทำงานได้มากขึ้นด้วยซ้ำ

คริสต้า (Christa) สมาชิกในกลุ่มตัวอย่างเล่าว่า หลังจากที่กลับจากการลาคลอด คิดจะลงจากตำแหน่งปัจจุบัน เพื่อมีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น แม่ทำงานตั้งแต่ตนยังเด็ก ตนเคยอารมณ์เสียมากเวลาที่มีพี่เลี้ยงมาคอยรับ-ส่งที่โรงเรียน ไม่มีแม่มาหาเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ นี่จึงทำให้ตนเริ่มกลับมาคิดใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะไม่อยากให้ลูกได้รับประสบการณ์แย่ๆ อีก

ซิลเวีย (Sylvia) ตัวแทนของผู้หญิงที่ตั้งใจทำตัวให้เหินห่างจากแม่แท้ๆ ที่อยู่บ้านตาม Pattern ครอบครัวชนชั้นกลางโดยไม่ได้ตั้งใจอธิบายว่า ตั้งแต่จำความได้ ตนก็เห็นแม่เสียใจเวลาที่ไม่มีงานนอกบ้านทำ มันส่งอิทธิพลมาถึงตน พี่สาว และน้องสาว แม่สนับสนุนให้พวกตนหาอาชีพที่ทำได้ ที่จริงแม่ค่อนข้างรู้หนังสือ และมีการศึกษามากกว่าพ่อด้วย แต่เพราะธรรมชาติของครอบครัว และการมีลูกเล็ก แม่เลยต้องอยู่แต่บ้านนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้วาทกรรม Work-Life Balance และ Work-ไร้-Balance ส่วนหนึ่งจะเกิดจากส่วนผสมวัยเด็ก แต่ถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมว่า เป็นเพราะตัวเองที่จัดการชีวิตไม่ดี โทษคนอยู่ฝ่ายเดียว แต่บางทีก็อาจมีส่วนผสมขององค์กรอย่างการให้ Workload ที่มากเกินไป และระบบงูกินหางของทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวด้วย

อ่านจบแล้ว ลองย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่า กำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ผลิตซ้ำ ส่งต่อวัฒนธรรมที่บิดเบี้ยวนี้จากรุ่นสู่รุ่นอยู่รึเปล่า เคยทักหาเพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องคนไหนโดยใช้คำว่า “ขอพิมพ์ทิ้งไว้” ไหม? ลองหาคำจำกัดความใหม่ดู ความสำเร็จไม่ได้มีแค่ชีวิตการทำงานเสมอไป เคารพเวลาซึ่งกันและกัน เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เดี๋ยวนี้เลย!

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ ทุกวันนี้ Work-Life Balance หรือ Work-ไร้-Balance อยู่ คุณกำลัง Work to Live หรือ Live to Work กันแน่? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Source: https://bit.ly/3MWZ0d1