ขยะคือสิ่งปฏิกูล ที่นอกจากจะสร้างกลิ่นไม่พึงใจให้หลายคนแล้ว ก็ยังเป็นหนึ่งในต้นตอปัญหาสำคัญของน้ำท่วมซ้ำซากเหมือนอย่างที่ Miss Universe Thailand คนล่าสุดเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน คำพูดขยะจากปากหัวหน้า Toxic ก็เช่นกัน ที่ไม่เพียงแต่สร้างความเจ็บปวดเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้ว ได้สร้างแผลเป็นทางใจระยะยาว และเป็นต้นตอหลักของปัญหาสุขภาพอื่นๆ ไม่แพ้กัน
เว็บไซต์ Jobcluster.com เคยกล่าวถึงผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างพนักงานในสหรัฐอเมริกาไว้ว่า พวกเขาใช้เวลากังวลเกี่ยวกับสิ่งที่หัวหน้าพูด หรือทำ โดยเฉลี่ย 13 ชั่วโมงในช่วงวันทำงาน และ 6.2 ชั่วโมงในช่วงวันหยุด ซึ่งพอรวมกันแล้ว เรียกได้ว่า คำพูดแย่ๆ จากหัวหน้าที่ไม่ดีเหล่านั้น ได้ฆ่าเวลาชีวิตของพวกเขาไปถึง 19.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว
เดโบราห์ แอนโคนา (Deborah Ancona) และเดนนิส เอ็น ที เพอร์กินส์ (Dennis N.T. Perkins) อธิบายถึงเรื่องประเด็นดังกล่าวในลักษณะคล้ายกันบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ไว้อย่างน่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว พฤติกรรมในที่ทำงานนั้นเกิดจาก ‘Family Ghost’ หรือปัจจัยจากการเลี้ยงดูในอดีตของครอบครัว โดยเนื้อแท้ นิสัยหัวหน้าแสน Toxic ที่เราไม่ชอบก็อาจจะเกิดจากอดีตที่มีพ่อ แม่ พี่ชาย พี่สาวของพวกเขาหลอกหลอนตามไปในที่ทำงานอยู่ก็ได้
พวกเขาอธิบายจากกรณีศึกษาของซาราห์ (Sarah) ว่า เธอลาออกจากตำแหน่ง HR ในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งที่ทำงานมาเป็นเวลากว่า 17 ปี และตัดสินใจเปลี่ยนไปทำงานที่บริษัท Start-up แห่งหนึ่งเป็นเวลา 2 ปี ในตำแหน่งผู้ออกแบบอัลกอริทึมจับคู่นายจ้างกับลูกจ้าง
เมื่อเธอออกแบบเสร็จเรียบร้อย อัลกอริทึมได้รับการทดสอบ และพร้อมใช้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือ การหาเงินลงทุน และลูกค้าที่จะใช้ อย่างไรก็ตาม ถึงเธอจะดูเหมาะมากกับงานขั้นตอนนี้ เพราะเป็นคนที่มีความมั่นใจ มีความเชื่อในตัวบริษัทที่เปิดใหม่อย่างแรงกล้า แถมยังมีการเตรียมตัวนำเสนอมาเป็นอย่างดี
แต่พอถึงเวลาประชุมจริง เธอกลับ นำเสนอได้ตะกุกตะกัก แต่ที่หนักที่สุดก็คือ เธอล้มเหลวเรื่องนี้ซ้ำๆ จนเครียด กังวล และรู้สึกสับสนด้วย อันที่จริง ตอนแรกเธอเข้าใจว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะตำแหน่ง บทบาทนี้ยังค่อนข้างใหม่ และเธอเองก็เป็นผู้หญิงคนเดียวที่อยู่ท่ามกลางเพื่อนร่วมงานผู้ชายที่แบกงานเยอะๆ
ซาราห์ลองใช้เวลาคิดอีกครั้งหนึ่ง จากนั้น เธอก็เข้าใจว่า ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความเชื่อมโยงบางอย่างจากการเปลี่ยนแปลงในวัยเด็กของตัวเองต่างหาก เธอบอกว่า โดยพื้นฐานแล้ว การมาจากครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา และความสำเร็จเป็นสำคัญส่งผลให้เธอต้องพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจ
ในขณะเดียวกัน แม้พ่อแม่จะชื่นชมมากแค่ไหน เธอจะทุ่มเทสุดอย่างความสามารถมากเท่าไร แต่สุดท้ายแล้ว พี่ชายแท้ๆ ก็เทียบกับเธอไม่ได้เลยสักนิด ด้วยเหตุนี้ ซาราห์เลยคิดว่า มันเป็นเหตุผลที่ทำให้พี่ชายพยายามตีตัวออกห่างจากเธอ และครอบครัวนั่นเอง
ตอนนั้น ซาราห์เสียใจมาก เพราะความสำเร็จที่ได้มาไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด แต่กลับนำมาซึ่งบาดแผลทางใจ การแปรเปลี่ยนความรู้สึกภูมิใจกลายเป็นความรู้สึกผิดแทน คอยกังวลว่า ความสำเร็จจะทำให้พี่ชายแท้ๆ ทำตัวเหินห่าง และสร้างความคิดแบบผิดๆ อย่างการกลัวประสบความสำเร็จไปโดยปริยาย
ซึ่งจากเคสดังกล่าว เดโบราห์ และเดนนิสก็สรุปไว้ว่า ‘ตัวตนในวันนี้ก็ล้วนเป็นส่วนผสมของเราในวัยเด็ก’ โดยหลักๆ แล้ว ก็ประกอบไปด้วย 5 ส่วนผสมหลักด้วยกัน อย่างแรกเลยคือ ‘คุณค่า และความเชื่อ (Values and Beliefs)’ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านกรอบค่านิยมของคนในครอบครัวที่คอยชี้นำพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่ตายตัว และแตกต่างกันออกไป
อย่างเช่น ครอบครัวของซาราห์ที่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จ หรืออย่างหัวหน้าแสน Toxic ที่อาจจะมาจากครอบครัวที่เชื่อว่า การกดดันเป็นเรื่องที่ดี ดังนั้น เมื่อเด็กน้อยในอดีตคนนั้นเติบใหญ่ขึ้น เวลาพูดอะไรออกไป พวกเขาเลยมองข้ามความรู้สึกลูกน้องโดยไม่รู้ตัว
ถัดมา ส่วนผสมที่สองคือ ‘บทบาท (Roles)’ ที่ต่างกันตามสมดุล Dynamic ของแต่ละครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นผู้ตัดสิน ผู้รับฟัง มันสมอง ตัวตลก หรือแม้กระทั่งตัวสร้างปัญหาก็ด้วย เพราะฉะนั้น นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากวันหนึ่งบทบาทนี้จะถูกถ่ายทอดมาในโลกของการทำงานจนกลายเป็นเรื่องคุ้นชินได้ง่าย โดยพวกเขาก็บอกด้วยว่า คนทำงานทุกคนควรหมั่นทบทวนว่า บทบาทนี้สร้างผลดีหรือผลเสียให้กับตัวเอง มีประโยชน์กับการทำงานไหม หรือเป็นสิ่งที่ควรโยนทิ้งไปกันแน่?
ส่วนผสมที่สาม พวกเขาเสริมว่า มันคือ ‘ความลับ (Secret)’ เพราะบางทีคนในครอบครัวก็อาจจะมีลับลมคมในกัน ส่งผลต่อคำพูด การกระทำที่แสดงออกมาค่อนข้างมาก อย่างเคสพฤติกรรมการตีตัวออกห่างของพี่ชายซาราห์ที่อาจจะทำงานได้ไม่ดี แต่ต้องอยู่ท่ามกลางครอบครัวที่ให้คุณค่ากับความสำเร็จ
ส่วนผสมที่สี่ เดโบราห์ และเดนนิสอธิบายว่า คือ ‘ขอบเขต (Boundaries)’ ที่ถูกกำหนดไว้ต่างกัน อย่างเช่น ครอบครัวซาราห์ที่ค่อนข้างเข้มงวด นี่จึงทำให้เธอโอเคกับการทำงานบริษัทใหญ่ที่มีโครงสร้างชัดเจนได้นานถึง 17 ปี ในทางกลับกัน ถ้ามองอีกมุมหนึ่งความเข้มงวดเหล่านี้ก็อาจส่งผลเสียให้เธอ หรือใครที่เติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบนี้เผลอ Micromanage ลูกน้อง และพึ่งพาแต่คนอื่นเป็นหลักก็ได้
นอกจากนี้ พวกเขายังบอกว่า ‘สามเหลี่ยม (Triangles)’ ที่เกี่ยวกับ Dynamic ชุดความสัมพันธ์ภายในครอบครัวยังส่งผลอย่างน้อยทางใดทางหนึ่งด้วย ก็คือ ลูกชายที่กลัวพ่อ พี่สาวแสนดีที่คอยเป็นโล่ห์กำบังให้น้องชาย พ่อแม่ที่อาจจะไม่ลงโทษลูกก็ต่อเมื่อมีปู่กับย่าอยู่ด้วย
เช่นเดียวกับสามเหลี่ยมของซาราห์ที่มีตัวละครสำคัญ คือตัวเอง หัวหน้า และเพื่อนร่วมงาน เธออาจจะเป็นพนักงานที่ทำงานได้ดีในสายตาของหัวหน้า แต่ขณะเดียวกัน เธอก็เป็นตัวปัญหาในสายตาของเพื่อนร่วมงานที่เก่า
ส่วนผสมสุดท้าย เดโบราห์ และเดนนิสบอกว่า ก็คือ การแบก ‘ความคาดหวัง และความเชี่ยวชาญ (Expectations and Mastery)’ จากพ่อแม่ ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้าแสน Toxic ที่เติบโตมาด้วยความเชื่อว่า การกดดันเป็นเรื่องที่ดี และพ่อแม่ของพวกเขาก็อาจจะวางความคาดหวังไว้ที่การก้าวไปสู่ความสำเร็จเป็นอันดับแรก คล้ายกับครอบครัวของซาราห์จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญบางอย่างขึ้น
ถึงที่สุดแล้ว การมีอดีตอันขมขื่นไม่ได้แปลว่าหัวหน้า หรือเราจะพูดไม่คิด สร้างความป่วงด้วยคำพูดแย่ๆ ให้คนอื่นได้ตามใจชอบ การมีความคิด ความเชื่อแย่ๆ จากอดีตไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งสำคัญเลยก็คือ ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับ เลือกแสดงออกให้เป็น อย่าลืมรักษากาลเทศะ มารยาท ที่เป็นพื้นฐานของการทำงานร่วมกันด้วย
คนเรามีขีดจำกัดไม่เท่ากัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะรับไหวแบบเดียวกับสิ่งที่หัวหน้าเติบโตมาได้หมด และต่อให้จะทำงานไปนานแค่ไหน เปลี่ยนงานไปอีกกี่สิบ กี่ร้อยตำแหน่ง สุดท้ายแล้ว ‘สุขภาพจิตของเราก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ดี’
ถ้าไม่ไหวก็เดินออกมาเถอะ!
อย่าอยู่ทนจนกลายเป็นตัวเองที่ไม่อยากเป็นเลยนะ 🙂
Sources: https://bit.ly/3d3Skfb