นาทีนี้หากพูดถึงประเด็นดราม่าแล้ว คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก ‘รายการโหนกระแส’ รายการกระแสข่าวร้อนที่ทุกครั้งที่มีข่าวอะไรที่เป็นที่สนใจของสังคม มักจะถูกนึกถึงเป็นรายการแรกๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแตงโม (นิดา หรือภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์) นางเอกสาวชื่อดังที่โลดแล่นอยู่ในวงการมายากว่า 22 ปี ที่หลายคนต่างเกาะขอบจอ รอดูหนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ผู้ดำเนินรายการฉายา ‘คุณพ่อจอมโหน ผู้อยู่เบื้องหลังทุกความขัดแย้ง’ ว่า จะมีท่าทีตีแผ่ประเด็นสุดร้อนแรง และจะนำบุคคลสำคัญมาร่วมพูดคุยอย่างไร?
ด้วยคอนเซ็ปต์รายการที่ ‘โหน’ ไปกับกระแส บวกกับบุคลิกนักแสดงหนุ่มอารมณ์ดีที่ผันตัวมาเป็น ‘นักเล่าข่าวสุดจี๊ด’ ล้วงลึกถึงตับ ไต ไส้ พุงส่งผลให้รายการได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งในบางตอนยอดคนดูไลฟ์ก็เกือบทะลุล้านเลยทีเดียว รวมไปถึงในปี 2563 ที่ผ่านมา จากข้อมูลของเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มีกำไรรวมสุทธิถึง 6,130,827.70 บาท อีกด้วย
เรียกได้ว่า รายได้ปัง เรตติ้งพุ่งกระฉูด สวนกระแสพฤติกรรมของผู้เสพที่เปลี่ยนผ่านไปในวันที่สื่อเก่าเริ่มซบเซา คนดูทีวีน้อยลง แถมรายการที่ว่า เรตติ้งก็ ‘ดีวันดีคืน’ สมกับชื่อบริษัทที่จัดทำรายการอย่างบริษัทดีคืนดีวัน จำกัด ซะด้วย
แล้วอะไรคือไม้ตายสำคัญที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากต่างสมัครเป็นมิตรรักแฟนข่าว และเม็ดเงินมหาศาลหลั่งไหลเข้ามาที่รายการโหนกระแสได้มากขนาดนี้? วันนี้ Future Trends จะพาไปดูกันค่ะ
อย่างที่เกริ่นกันไปก่อนหน้า ตั้งหัวข้อว่า ปัจจุบันคนดูทีวีน้อยลง แต่รายการนี้ก็ยังโตได้ไม่หยุด และไม่มีทีท่าว่าจะถอยหลังลงคลองเลยสักนิด ส่วนหนึ่งเลยก็เพราะ ‘การปรับตัว’ ค่ะ โดยรายการก็ได้เพิ่มช่องทางออนไลน์ขึ้นมา มีการไลฟ์สดผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก (Facebook) อีกทั้งยังลงคลิปแต่ละตอนย้อนหลังผ่านทางช่องยูทูป (Youtube)
ซึ่งเป็นการสอดรับกับพฤติกรรมของผู้เสพที่เปลี่ยนไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ละทิ้งช่องทางเก่าอย่างโทรทัศน์ ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ ‘ทุกที่ ทุกเวลา’ ไม่ต้องนั่งรอรายการสด สามารถเลือกรับชมย้อนหลังได้ตามความต้องการแบบออนดีมานด์ (On-demand) ตอบโจทย์ข้อจำกัด (Pain point) ของคนไม่ค่อยมีเวลา แต่อยากอัปเดตข่าวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะดูธรรมดาไปหน่อย หลายรายการก็มีการทำในลักษณะนี้เช่นกัน
ถัดมา ไม้เด็ดที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘ประเด็นร้อนแรง เรื่องที่สังคมอยากรู้ สงสัย ตั้งคำถามมากมาย’ ค่ะ หรือพูดง่ายๆ ว่า มักจะนำเสนอแต่ประเด็นที่ทันต่อเหตุการณ์ (Real-time) ที่เปรียบเสมือนอาหารอันโอชะที่ผู้คนสนใจตั้งแต่แรกอยู่แล้ว และเมื่อนำไปปรุงรส เติมแต่ง เจาะประเด็นคำถามที่คนส่วนใหญ่อยากรู้เป็นพิเศษ เกาคำถามให้ถูกกับจังหวะอารมณ์ของคนในสังคม ก็ทำให้เรียกเรตติ้งได้สูงนั่นเอง
บวกกับการนำบุคคลสำคัญที่อยู่ในเหตุการณ์มาร่วมพูดคุย หรือแม้กระทั่งการจับคู่กรณีมา ‘ฉะ’ กันกลางรายการให้ดูน่าดุเดือด บุคลิกหนุ่ม กรรชัยที่ฝีปากกล้า จี้ถาม ขยี้ประเด็นได้อย่างตรงจุด เค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบ อย่างปมแตงโม นิดาตกเรือ ก็นับว่า ‘ถามแทนใจคนทั้งประเทศได้ดีทีเดียว’ ยกตัวอย่างเช่น “คุณเป็นเพื่อนประสาอะไร? ในวันที่เพื่อนหายไป คุณทิ้งเขา ในมุมกลับกัน ถ้าแตงโมอยู่ ผมเชื่อเขาไม่ไป เขาจะรอพวกคุณ” ซึ่งเป็นคำถามที่คนทั้งประเทศต่างสงสัย เสมือนเป็น ‘ตัวแทนของหมู่บ้าน’ ไขข้องใจในเรื่องนี้
รวมไปถึงการจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงบางเคสจากผู้อยู่ในเหตุการณ์เพื่อคลายข้อคาใจของหลายคน การทำหน้าที่สื่อตามบทบาทของการตีแผ่ความจริง แต่บางครั้งก็อาจจะมากเกินไปจนบางคนทวงถามถึง ‘จริยธรรมในการนำเสนอ’ ว่า เป็นเหตุการณ์เกี่ยวกับความเป็นความตายของคน ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเอามาสาธิตหรือจำลองให้สนุกสนานรึเปล่า?
โดยบางตอนของรายการ แม้จะถูกใจคนจำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ดำเนินรายการนั้นดูมุ่งหวังเรตติ้งจนเกินไป สร้างบรรทัดฐานที่ไม่ค่อยดีให้แก่อาชีพพิธีกรรายการข่าวสักเท่าไร เพราะยิ่งพูดคุยไปเรื่อยๆ ก็เหมือนจะมีธงในใจ อคติ และใส่อารมณ์แทนคนดูไปในบางครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
ในยุคที่สื่อเก่าซบเซา สื่อใหม่ค่อยๆ พุ่งทะยาน หลายธุรกิจ หลายรายการก็ต้องงัดไม้ตายออกมาใช้ เร่งปรับตัวกันอย่างเต็มที่ โหนกระแสก็เป็นอีกหนึ่งรายการข่าวที่ประสบความสำเร็จมากของเมืองไทย แจ้งเกิดผู้ดำเนินรายการข่าวจนโด่งดัง ไขข้อสงสัย ถามได้ตรงใจคนทั้งประเทศ ยืนอยู่บนจุดสมดุลระหว่างสื่อเก่ากับสื่อใหม่ได้เป็นอย่างลงตัว ถูกที่ ถูกเวลา และถูกจริตคนเสพ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมถึงประสบความสำเร็จได้มากมายขนาดนี้ในวันที่คนเริ่มดูทีวีกันน้อยลงเรื่อยๆ …
Sources: https://bit.ly/3k1aYVu