คุณเคยสงสัยไหมว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้พนักงานเก่งๆ ทำงานที่ใดที่หนึ่งได้นานแบบคนอื่น และอะไรคือสิ่งที่ทำให้พนักงานบางกลุ่มถึงกับตัดสินใจโบกมือลาอย่างรวดเร็วทั้งที่เพิ่งทำงานได้ไม่กี่เดือน?
คำถามนี้ คือ หนึ่งในบทสนทนาระหว่างดิฉันกับเพื่อนหลังจากที่บริษัทเพิ่งครบรอบ 10 ปีเมื่อไม่กี่วันก่อน ซึ่งภายใต้การเฉลิมฉลอง บริษัทก็ได้จัดกิจกรรมมากมายให้ทุกคนร่วมสนุก สะสมคะแนนเพื่อแลกรับของรางวัลตลอดระยะเวลา 3 เดือนเต็ม โดยการเปลี่ยนกรอบรูปเฟซบุ๊ก (Facebook) ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของอีเว้นต์นี้
เรียกได้ว่า ตอนนี้พอไถฟีดเฟซบุ๊กไปทางไหน ก็มักจะเจอแต่สเตตัสอัปเดตของบรรดาพี่ๆ ในบริษัทที่เปลี่ยนกรอบรูปเต็มไปหมด แต่ที่น่าสนใจก็คือ หลายคนเปลี่ยนกรอบรูปพร้อมกับขึ้นสเตตัสข้อความทำนองว่า “ก็อยู่ไปจะ 10 ปีไปเลยสิ”
ในขณะเดียวกัน เพื่อนดิฉันเองก็ไถเจออะไรแบบนี้ไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น “9th (ชื่อตัวเอง) in (ชื่อบริษัท)”, “ตำแหน่งจะอยู่กับเราไม่นาน แต่ตำนานจะอยู่กับเราตลอดไป” เป็นต้น ซึ่งถึงแม้จำนวนปีอาจจะน้อยกว่าพี่คนดังกล่าว แต่ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า พวกพี่ๆ ต่างก็ทำงานที่บริษัทแห่งนี้มา ‘นานมากๆ ’ เหมือนกันหมด
เรื่องนี้ทำให้ตัวดิฉันกับเพื่อนที่เพิ่งเปลี่ยนงานกันมาได้ไม่กี่ครั้ง และใช้เวลาทำงานที่บริษัทเก่าอย่างมากที่สุดก็แค่ 1 ปีถึงกับสงสัย และตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเขาถึงอยู่นานกันได้ขนาดนี้? เพราะในสายตาของพวกเราที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากสถานะ First Jobber กันอย่างไม่เต็มตัวนั้นมองว่า ต่อให้รักบริษัท ผูกพันมากแค่ไหนเต็มที่สุดก็คงไม่เกิน 5 ปี
“ทั้งที่ก็มีตัวเลือกดีๆ ตั้งเยอะ ความสามารถระดับพวกพี่ๆ เขาน่าจะไปไหนก็ได้รึเปล่า? หรือต่อให้ไปจริง เผลอๆ อาจจะไปได้ไกลกว่านี้ก็ได้” นี่คืออีกหนึ่งคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวตลอดบทสนทนากับเพื่อน
แล้วอะไรคือสิ่งที่เหนี่ยวรั้งให้คนเก่งๆ อยู่ทน อยู่นานได้ถึงขนาดนี้ ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูสมการการรักษา High Performance ในระยะยาวของเว็บไซต์แกลแลป (Gallup) กัน
ฝีมือ ความสามารถ (Talent) x การมีส่วนร่วม (Engagement) x สิทธิ (Tenure) = High Performance
1. ฝีมือ ความสามารถ (Talent)
ประเด็นนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่หลายคนน่าจะทราบกันอยู่แล้ว เหมือนกับเวลาที่เราได้ทำงานที่รัก ตรงกับทักษะ ความรู้ ความสามารถ ก็ทำให้เกิดความชื่นชอบ รู้สึกสนุกไปกับมัน หากผู้นำ และบริษัทจ้างคนได้ตรงสายงาน ตรงสเปคทั้งตัวผู้สมัคร และบริษัท ก็ย่อมจะก่อให้เกิดความผูกพันขึ้นกับทั้งสองฝ่ายเป็นธรรมดา
2. การมีส่วนร่วม (Engagement)
จากผลสำรวจของแกลแลป (Gallup) ระบุว่า พนักงานที่มีส่วนร่วม (Engagement) กับบริษัท ‘น้อย’ มีแนวโน้มสูงที่จะลาออกมากกว่า โดยพนักงานที่ความสามารถสูง แต่มีส่วนร่วมน้อยมีอัตราการลาออกมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ในทางกลับกัน พนักงานที่มีทั้งความสามารถ และส่วนร่วมสูงมีอัตราการลาออกเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น รวมไปถึงพนักงานที่มีทั้งความสามารถ และส่วนร่วมน้อยก็มีอัตราการลาออกมากถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ต่างจากพนักงานที่ความสามารถน้อย แต่มีส่วนร่วมสูงที่อยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์
คิดว่า ผลสำรวจข้างต้นน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบให้กับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ใช่แค่เงินเดือน และสวัสดิการที่ดีเท่านั้น แต่ถ้าลองสังเกตดีๆ กลับพบว่า แทบทุกคนที่อยู่มานานต่างก็สนุก รู้สึกมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของบริษัท เห็นได้จากบรรดารูปภาพ และคลิปวิดีโอเก่าๆ ในกิจกรรมสำคัญของบริษัทบนโซเชียลมีเดียส่วนตัวของพี่ๆ เหล่านั้น
ดังนั้น ขอสรุปตรงนี้เลยว่า ที่อยู่นานกันถึงขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเลยก็น่าจะมาจากความรู้สึกมีส่วนร่วม ไม่ได้ถูกจ้างมาใช้งานเพียงอย่างเดียว
3. สิทธิ (Tenure)
ลึกๆ แล้วไม่ว่าใครก็ไม่ชอบถูกจับผิดหรือจู้จี้ แม้แต่ตัวคุณก็ด้วยใช่ไหมล่ะ? สิทธิจึงเป็นอีกตัวแปรสำคัญของสมการที่คนทำงานต่างมองหา เพราะการมอบอิสระ เปิดโอกาสให้กับทุกความคิดก็ยิ่งจะช่วยยกระดับความเก่ง และความรู้สึกผูกพันผ่านความเป็นเจ้าของโปรเจกต์นั้นไปพร้อมกัน ส่งผลให้พวกเขาทำงานที่บริษัทได้นานแบบไม่น่าแปลกใจ
ทั้งหมดนี้ก็คือตัวแปรสำคัญที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้พวกพี่ๆ เขาอยู่ทน อยู่นานแบบ forever คายตะขาบความเก่งให้พนักงานรุ่นใหม่ต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้ว เราไม่จำเป็นต้องแยกย้ายกันไปเติบโตเสมอไป แต่เราสามารถจับมือไว้แล้ว ‘โตไปด้วยกัน’ ได้นั่นเอง
Source: https://bit.ly/3L3AXqp