ตอนนี้ หันไปทางไหน ก็เห็นแต่คนใส่สมาร์ตวอตช์ (smart watch) นาฬิกาข้อมือสุดไฮเทค กันทั่วบ้านทั่วเมือง การที่สมาร์ตวอตช์ได้รับความนิยมมากขนาดนี้ คงเป็นเพราะฟีเจอร์ต่างๆ ในสมาร์ตวอตช์ ทำให้ชีวิตของเราในหลายๆ ด้าน สะดวกสบายมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่โดนใจสายรักสุขภาพมากๆ นั่นก็คือ ‘การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ’ เมื่อฟีเจอร์นี้ เกิดขึ้นมา ก็ทำให้การติดตามการเต้นของหัวใจทำได้ง่ายขึ้น และยังทำให้ผู้ใช้งานตระหนักถึงการดูแลของตนเองมากขึ้นตามไปด้วย จนในที่สุดสมาร์ตวอตช์ ก็ขึ้นแท่นเป็นอุปกรณ์สุดฮิตที่สายรักสุขภาพทุกคนต้องมีไปแล้ว
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาด wearable device หรืออุปกรณ์ไอทีที่สวมใส่ได้ ที่มีสมาร์ตวอตช์เป็นสินค้าหลักในกลุ่ม เติบโตขึ้นมาก ข้อมูลจาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านไอทีระดับโลก ได้ระบุว่า ในปี 2021 สินค้าในกลุ่ม wearable device สามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึง 81.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ามูลค่าตลาดที่ทำได้ในปี 2020 ถึง 18% และยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า ในปี 2022 มูลค่าตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ จะสูงขึ้นอีก 15% เลยทีเดียว
การเติบโตของ wearable device ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกวันนี่เอง ที่ทำให้มีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่มโปรเจกต์ในการพัฒนาสินค้าใหม่ที่มีความแตกต่างจากสินค้าเดิมในกลุ่ม wearable device และเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของนักวิจัยกลุ่มนี้ คือ ‘เสื้อฟังเสียงหัวใจ’
‘เสื้อผ้าที่ดี ต้องมาจากเส้นใยที่มีคุณภาพ’
เมื่อทีมนักวิจัยตัดสินใจแล้วว่า จะพัฒนาสมาร์ตเชิ้ต (smart shirt) ตัวใหม่ที่สามารถฟังเสียงหัวใจได้ พวกเขาก็ต้องเริ่มจากการวิจัย ‘เส้นใย’ ที่ใช้ในการผลิตเสื้อก่อน เพราะเส้นใยธรรมดาๆ คงไม่สามารถฟังเสียง หรือจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้อย่างแน่นอน
หลังจากที่ทีมนักวิจัยได้ทำการค้นคว้า และทดลองมาอย่างยาวนาน พวกเขาก็ได้เส้นใยชนิดใหม่ที่เรียกว่า ‘carbon nanotube’ ซึ่งมีการทำงานคล้ายกับเส้นลวดในเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยลักษณะของเส้นใยที่ว่านี้ จะมีความอ่อนนุ่มเหมือนเส้นใยจากฝ้าย แต่มีความแข็งแรงเหมือนเคฟลาร์ (Kevlar) ที่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ประเภทหนึ่ง และเส้นใยชนิดนี้ จะทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณการเต้นของหัวใจ แล้วส่งข้อมูลไปแสดงผลที่อุปกรณ์อื่นๆ คล้ายกับการทำงานของสมาร์ตวอตช์
ถึงแม้ว่า เสื้อตัวนี้ จะทำจากเส้นใยที่มีความสามารถในการนำไฟฟ้า เพราะต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตลอดเวลา แต่ทีมนักวิจัยก็ได้พัฒนาให้สามารถซักล้าง และใช้ซ้ำได้เหมือนเสื้อผ้าทั่วไป ทำให้ผู้ใช้งานหมดกังวลในเรื่องนี้ ไปได้เลย
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาให้เสื้อตัวนี้ สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายกับสมาร์ตโฟนได้ เพื่อความสะดวกในการใช้งานจริง และพวกเขายังมุ่งหวังว่า ในอนาคต เสื้อตัวนี้ จะสามารถครองใจผู้ใช้งาน จนสามารถเอาชนะสมาร์ตวอตช์ได้ในที่สุด
แต่การที่ทีมนักวิจัยจะสามารถเอาชนะสมาร์ตวอตช์ได้นั้น คงเป็นเรื่องยากอย่างแน่นอน เพราะในตอนนี้ สมาร์ตวอตช์ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ไอทีที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องประดับที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และความมั่นใจให้กับผู้ที่สวมใส่ได้อีกด้วย ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่แอปเปิล (Apple) หนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ตวอตช์รายใหญ่ ออกคอลเลกชันสาย Apple Watch มามากมายหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ด้านแฟชันของผู้ใช้งานแต่ละคน
ยิ่งไปกว่านั้น ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ อาจจะกำลังเจออุปสรรคใหม่ เพราะตอนนี้ มีทีมนักวิจัยทีมใหม่จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับเสื้อฟังเสียงหัวใจอยู่เช่นกัน โดยวัสดุที่ทีมวิจัยทีมนี้เลือกใช้ในการผลิตเส้นใยของเสื้อ ก็คือ ‘piezoelectric’ ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการเปลี่ยนพลังงานจลน์จากแรงกดหรือแรงสะเทือน ให้อยู่ในรูปของพลังงานไฟฟ้า
โดยเส้นใย piezoelectric จะถูกทอเป็นผ้ารับเสียง (acoustic fabric) ผืนใหญ่ ก่อนนำไปทำการตัดเย็บเป็นเสื้อ เพื่อตรวจจับสัญญาณการเต้นของหัวใจ ซึ่งผลการทดลองในอาสาสมัครก็เป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว เพราะเสื้อตัวนี้ สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจ และส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์วัดประเมินค่าเป็นตัวเลขได้อย่างแม่นยำ
ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากทีมนักวิจัยทีมไหนก็แล้วแต่ นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การดูแลสุขภาพของเราทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมากๆ และหากในอนาคต มีการพัฒนาเพื่อการใช้งานในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างสะดวกด้วยแล้ว ก็คงจะดีไม่น้อย
และนี่คงเป็นความสนุกของผู้ใช้งานอย่างเราๆ ที่ต้องรอดูว่า งานวิจัยของทั้งสองทีมนี้ จะอยู่ในสถานการณ์แบบ ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’ ที่ในอนาคต อาจจะกลายมาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ เพราะใช้เทคโนโลยีต่างกัน หรือจะเป็นแบบ ‘น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า’ ที่ในอนาคต เทคโนโลยีจากทั้งสองทีม อาจจะมารวมกันอยู่ในเสื้อตัวเดียว จนกลายเป็นเสื้อฟังเสียงหัวใจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกก็เป็นได้
Sources: https://cnn.it/3OrzEEz