‘Great Resignation’ สู่ ‘Great Layoff’ และกลายเป็น ‘Great Reshuffle’ ในวันที่ตลาดเทคฯ ซบเซา อเมริกาต้องเผชิญหน้ากับ ‘ภาวะสมองไหล’

Share

พนักงานในสหรัฐฯ พร้อมใจกันลาออกมากสุดเป็นประวัติการณ์

บริษัทสตาร์ตอัป (Startup) และบิ๊กเทค (Big Tech) พากันชะลอการจ้างงาน รวมถึงปลดพนักงานเป็นจำนวนมาก

ช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา มีข่าวมากมายเกี่ยวกับประเด็นการจ้างงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งข่าวการลาออกครั้งใหญ่ การชะลอการจ้างงาน และการปลดพนักงานจำนวนมากของบริษัทเทคฯ จนทำให้เกิดเป็นคำศัพท์ตระกูล ‘Great’ ที่เกี่ยวกับการทำงานขึ้นมามากมาย และคำแรกที่ทำให้วงการตลาดแรงงานต้องสั่นสะเทือนอย่างหนัก ก็คือ ‘Great Resignation’ หรือ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ นั่นเอง

จาก ‘Great Resignation’ สู่ ’Great Layoff’

ย้อนกลับไปในปี 2021 เป็นครั้งแรกที่คนทั้งโลกรู้จักกับคำว่า ‘Great Resignation’ หรือ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ ของพนักงานออฟฟิศเกือบทั่วทุกมุมโลก หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยอเมริกาเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีสถิติการลาออกของพนักงานมากถึง 4 ล้านคนต่อเดือน

ซึ่งการตัดสินใจลาออกของพนักงานในช่วงที่มีการลาออกครั้งใหญ่ก็มีที่มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากขึ้นจากการทำงานทางไกล (Remote Working) ทั้งความยืดหยุ่นในการจัดสรรเวลา รวมถึงการที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง และหากบริษัทต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานที่ออฟฟิศดังเดิม พวกเขาเลือกลาออก แล้วขอเริ่มต้นใหม่กับบริษัทที่มีนโยบายการทำงานทางไกลหรือ Work From Home ดีกว่า สอดคล้องกับผลสำรวจจาก Gallup ที่ระบุว่า 48 เปอร์เซ็นต์ ของพนักงานชาวอเมริกัน จะพิจารณาการสมัครงานใหม่จากรูปแบบการทำงานนอกเหนือจากเรื่องตำแหน่งและเงินเดือนด้วย

ผลจากการเกิดปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในระบบอย่างรวดเร็ว จนหลายๆ บริษัทต้องรีบหาพนักงานหน้าใหม่มาทดแทน ซึ่งการจะหาคนจำนวนมากมาให้ได้ทันเวลา กลับไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด อีกทั้งบาดแผลจากการลาออกครั้งใหญ่ยังไม่ได้รับการรักษาให้หายดี ก็มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นเป็นคำที่สอง คือ ‘Great Layoff’ หรือ ‘การปลดพนักงานครั้งใหญ่’

จาก ‘Great Layoff’ สู่ ‘Great Reshuffle’

ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เราคงได้ยินข่าวการปลดพนักงานเป็นจำนวนมากของบริษัทด้านเทคโนโลยีทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เช่น ‘เน็ตฟลิกซ์’ (Netflix) สตรีมมิงชื่อดังระดับโลกประกาศปลดพนักงานเพิ่มอีก 300 คน ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หรือ ‘เทสลา’ (Tesla) เบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ก็มีการปลดพนักงานภาคการผลิตถึง 10,000 คน เป็นต้น

โดยสาเหตุการปลดพนักงาน ก็หนีไม่พ้นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ราคาหุ้นตก รายได้หดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงขาดโอกาสในการระดมทุน เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในบริษัท เพราะยามที่เศรษฐกิจซบเซาจากภาวะเงินเฟ้อหนักเช่นนี้ นักลงทุนย่อมตัดสินใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงมากกว่าอย่างแน่นอน

เมื่อบริษัทมีผลประกอบการติดลบ หรือหารายได้มาได้ไม่สัมพันธ์กับต้นทุนที่เสียไป การลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงาน จึงเป็นตัวเลือกแรกที่หลายๆ บริษัทเลือกทำ แต่คำถามก็คือ ‘อนาคตของพนักงานที่ถูกปลดออกไปจะเป็นอย่างไร?’

คำตอบที่ง่ายสุด อาจจะเป็นการหางานใหม่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด หรืออาจจะผันตัวไปเป็นฟรีแลนซ์ (Freelance) ทำงานอย่างอิสระโดยไม่ต้องขึ้นตรงใคร แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เริ่มเกิดขึ้นมาอย่างชัดเจน ก็คือ ‘Great Reshuffle’ หรือ ‘การสับเปลี่ยนครั้งใหญ่’ ที่ทำให้พนักงานสายเทคฯ ไปทำงานในภูมิภาคอื่นได้ โดยที่ไม่ต้องย้ายที่อยู่อาศัยเลยแม้แต่น้อย

‘Great Reshuffle’ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ‘อเมริกา’ ต้องเผชิญกับ ‘ภาวะสมองไหล’

ด้วยความที่พนักงานที่ถูกบริษัทเทคฯ เหล่านั้นปลดออกมา มีดีกรีของความเป็น ‘ทาเลนต์’ (Talent) หรือบุคคลมากความสามารถที่มีความรอบรู้ด้านเทคโนโลยี เพราะการที่จะเข้าทำงานกับบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ชื่อคุ้นหู หรือบริษัทที่มีที่ตั้งอยู่ใน ‘ซิลิคอน วัลเลย์’ (Silicon Valley) ต้องได้รับการยอมรับว่า เป็น ‘หัวกะทิ’ ตัวจริงเสียงจริง

แต่เมื่อบริษัทเทคฯ เหล่านั้นยอมปล่อยตัวเพชรเม็ดงามออกมา ก็ย่อมเกิดการดึงตัวจากบริษัทอื่นเป็นธรรมดา ถึงแม้ว่า ตลาดเทคฯ ในอเมริกาจะซบเซา แต่ตลาดเทคฯ ในภูมิภาคอื่นๆ อย่างยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลางไม่ได้เป็นเช่นนั้น กลับมีการขยายตัวสูงขึ้นด้วยซ้ำ เพราะนโยบายการสนับสนุนด้านเทคโนโลยียังเดินหน้ามาไม่ไกลเท่าไรนัก

โดยปกติแล้ว การดึงตัวทาเลนต์มาทำงานข้ามประเทศหรือภูมิภาค ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดได้ง่ายนัก เพราะบริษัทต้องลงทุนหลายๆ อย่างกับพนักงานต่างชาติ ทั้งเงินเดือนที่สูงกว่าปกติ ค่าที่พัก และอื่นๆ อีกมากมาย แต่การมาของวิถีการทำงานทางไกลกลับช่วยทลายข้อจำกัดเดิมๆ ได้อย่างไรที่ติ ทำให้ทาเลนต์สามารถทำงานกับบริษัทต่างชาติได้โดยที่ไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง

และหากอเมริกายังไม่สามารถยุติการเกิดปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงานได้ จนพนักงานสายเทคฯ ชาวอเมริกาพร้อมใจกันโบกมือลาซิลิคอน วัลเลย์ที่รัก แล้วไปซบอกตลาดเทคฯ อื่น ภาวะสมองไหลคงเกิดขึ้นกับอเมริกาอย่างแน่นอน

วันนี้ เราจะพาทุกคนไปร่วมกันวิเคราะห์ว่า หากดินแดนเบอร์หนึ่งของโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยทรัพยากรมนุษย์มากความสามารถ เกิดภาวะสมองไหลขึ้นมาจริงๆ จะเป็นอย่างไร?

ขาดคนเก่งยุคใหม่มาช่วยพัฒนาประเทศ

หลายคนอาจจะรู้สึกขัดแย้งอยู่ในใจกับความเชื่อเดิมที่มีมา เพราะอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการดึงทาเลนต์จากประเทศอื่นๆ เข้าไปพัฒนาประเทศตัวเองได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถ้านำจำนวนของทาเลนต์สัญชาติอื่นรวมเข้ากับทาเลนต์สัญชาติอเมริกันก็น่าจะเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ และต่อให้ทาเลนต์สัญชาติอเมริกันตัดสินใจไปทำงานที่ภูมิภาคอื่น ก็คงไม่มีปัญหาอะไรอย่างแน่นอน

แต่ข้อมูลจากบทความของ New York Times ระบุว่า ในปี 2021 มีผู้อาศัยชาวต่างชาติหน้าใหม่ในอเมริการาว 2.5 แสนคน ซึ่งจำนวนทาเลนต์ที่อยู่ในนี้ ก็อาจจะมีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ด้วยซ้ำ และเมื่อเทียบกับประชากรชาวอเมริกาที่มีอยู่แล้วประมาณ 3 ร้อยล้านคน ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ ทำให้อเมริกาก็ไม่สามารถคาดหวังกับทาเลนต์สัญชาติอื่นได้เช่นกัน

มิหนำซ้ำ อเมริกาก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใกล้จะเข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มตัว โดยมีการคาดการณ์ว่า ปี 2030 ประชากรในกลุ่ม ‘เบบี้ บูมเมอร์’ (Baby Boomer) จะทำให้ประชากรถึง 1 ใน 5 ของอเมริกาเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก หากทาเลนต์เลือกที่จะทำงานในภูมิภาคอื่นมากกว่า

ลมเปลี่ยนทิศ แม่น้ำเปลี่ยนสาย อเมริกาอาจจะไม่ใช่ตลาดเทคฯ รายใหญ่ของโลกอีกต่อไป

เมื่อพูดถึงตลาดเทคฯ รายใหญ่ของโลก หลายๆ คนอาจจะนึกถึงอเมริกา หรือซิลิคอน วัลเลย์เป็นอันดับต้นๆ แต่ในปัจจุบัน คู่แข่งในตลาดเทคฯ มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากฟากฝั่งเอเชียอย่างจีนและเกาหลีใต้ที่มีข่าวการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอด รวมถึงฟากฝั่งยุโรปและตะวันออกกลาง ที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความมั่งคั่งทางดิจิทัล’ (Digital Wealth) มากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น การย้ายที่ทำงานของทาเลนต์ไม่ได้ไปแค่เพียงตัวเปล่า แต่พวกเขายังนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่ก้าวหน้าไปยังภูมิภาคที่พวกเขาทำงานอยู่ด้วย ทำให้ในอนาคตอเมริกามีสิทธิ์ตกชั้นความเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดเทคฯ ได้ หากบริษัทในภูมิภาคอื่นๆ เริ่มเรียนรู้นวัตกรรมเหล่านั้น และพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองให้เหนือกว่าในทุกมิติ

แม้ว่าในปัจจุบัน เราจะยังไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดของการเข้าสู่ภาวะสมองไหลของอเมริกา แต่หากในอนาคต ปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงานยังไม่ได้รับการแก้ไข คนรุ่นใหม่ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศย่อมต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองอย่างแน่นอน

แล้วทุกคนคิดว่า โอกาสที่อเมริกาจะเกิดภาวะสมองไหลเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

Sources: https://bit.ly/3NGJFvS

https://bit.ly/3umIwTq

https://bit.ly/3OG6z87

https://nyti.ms/3Am8EBR

https://bit.ly/3OXA4m9