หมดยุคอัดโปรฯ เอาใจผู้บริโภค เมื่อ ‘Grab’ จะเน้นกำไรมากขึ้น พาตัวเองออกจาก ‘หุบเหวแห่งความตาย’

Share

“ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม”

แต่บางธุรกิจก็ต้องการ ‘พร้างาม’ โดยที่ไม่ต้องรอ

ในโลกแห่งการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการแต่ละคนก็มีทัศนคติและสไตล์การบริหารงานที่ต่างกันออกไป บางคนเน้นความยั่งยืนตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ ขอโตอย่างช้าๆ แต่มั่นคงในทุกย่างก้าว และสำหรับบางคนขาดทุนเท่าไรไม่ว่า แต่ธุรกิจต้องโตให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนความอยู่รอดเป็นเรื่องที่ต้องไปตายเอาดาบหน้า

แต่ไม่ว่าจะบริหารด้วยแนวคิดที่เน้นความยั่งยืนหรือการเติบโตอย่างรวดเร็ว สุดท้ายปลายทางของการทำธุรกิจก็คือ ‘การทำกำไร’ และ ‘ยืนหยัด’ ในสนามธุรกิจอยู่ดี

สำหรับแนวคิดการบริหารที่เน้นความยั่งยืนก็ดูจะเมกเซนส์ในสายตาของคนทั่วไป เพราะมีบทเรียนจากรุ่นพี่ในวงการมากมายที่คิดใหญ่ทำใหญ่ เวลาที่ล้มลงมาก็เจ็บหนักทุกที แต่ทำไมยังมีบริษัทที่ยอมแลกการเติบโตกับการขาดทุนอยู่อีก?

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คำว่า ‘ธุรกิจเผาเงิน’ หรือธุรกิจที่ใช้เงินทุนในการก่อร่างสร้างตัวจำนวนมหาศาล แต่ยังไม่มีทีท่าจะพลิกทำกำไรได้เสียที เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้างมากขึ้น จากข่าวคราวที่บริษัทสตาร์ตอัป (Startup) หลายแห่งประสบปัญหาขาดทุนสะสมอย่างหนัก และไม่สามารถระดมเงินจากนักลงทุนเพิ่มได้ในยามที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้

ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่ใช้โมเดลธุรกิจลักษณะนี้ จนมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีชื่อเสียงโด่งดัง ก็คือ ‘แกร็บ’ (Grab) แพลตฟอร์มเดลิเวอรีที่โลดแล่นในวงการธุรกิจมาแล้ว 10 ปี

ถึงแม้ว่า แกร็บจะมีภาพลักษณ์เป็นธุรกิจที่เติบโตไว และได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนมีรายได้หลักร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จากผลประกอบการในไตรมาส 2/2565 กลับพบว่า แกร็บยังคงขาดทุนสุทธิที่ 547 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักลงทุนผิดหวังไปตามๆ กัน

และแกร็บก็ไม่สามารถปล่อยให้บริษัทขาดทุนได้อีกต่อไป พร้อมประกาศจุดยืนว่า จะหยุดอัดฉีดโปรโมชันและเงินอุดหนุน เพื่อเน้นทำกำไรให้กับบริษัท เรียกได้ว่า แกร็บกำลังเข้าสู่ยุคของการพาตัวเองออกจาก ‘หุบเหวแห่งความตาย’ (Valley of Death) อย่างเต็มตัว

แล้วแนวคิด ‘หุบเหวแห่งความตาย’ ในวงการสตาร์ตอัปคืออะไร? เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำนี้พร้อมๆ กัน

‘หุบเหวแห่งความตาย’ คืออะไร?

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับแนวคิด ‘หุบเหวแห่งความตาย’ เราต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวงจรการอยู่รอดของบริษัทสตาร์ตอัปกันก่อน โดยในวงจรจะแบ่งเป็น 5 ระยะ ดังนี้

– ระยะที่ 1 : ช่วงเริ่มต้น (Inception)
– ระยะที่ 2 : ช่วงบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ (Seed Stage)
– ระยะที่ 3 : ช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ (Early Stage)
– ระยะที่ 4 : ช่วงเติบโต (Growth Stage)
– ระยะที่ 5 : ช่วงขยายธุรกิจ (Expansion Stage)

ซึ่งระยะที่ 3 หรือช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ คือช่วงที่ขาข้างหนึ่งของผู้ประกอบการเริ่มก้าวลงเหวแล้ว หลังจากนี้คือการตัดสินใจว่า จะหยุดตัวเองไม่ให้ตกเหว หรือจะผลักตัวเองให้ตกเหว แล้วค่อยหาทางขึ้นมาใหม่

ดังนั้น หุบเหวแห่งความตาย จึงหมายถึงแนวคิดที่ผู้ประกอบการจะใช้เงินทุนจำนวนมากในการทำธุรกิจตั้งแต่ช่วงแรก เพื่อขยายฐานลูกค้าและหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดโปรโมชัน แจกโค้ดส่วนลด ค่าส่งฟรี และการประชาสัมพันธ์ผ่านพรีเซนเตอร์ที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและฐานแฟนคลับของตัวเอง

ยิ่งผู้ประกอบการตัดสินใจใช้เงินทุนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจของตัวเองตกลงไปใกล้ก้นเหวมากขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญ แพลตฟอร์มเดลิเวอรีอย่างแกร็บก็มีต้นทุนทางเทคโนโลยีที่ต้องแบกรับอยู่แล้ว ทั้งการพัฒนาแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีหลังบ้านที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบ

ด้วยความที่รายได้ไม่สัมพันธ์กับต้นทุนมากมายที่เสียไป อีกทั้งแกร็บก็พยายามต่อยอดความครบเครื่องด้านการบริการมาตลอด เพื่อมุ่งสู่การเป็น ‘ซูเปอร์แอป’ (Super App) เบอร์หนึ่งของคนไทย ทำให้แกร็บยังต้องใช้เงินทุนอยู่เรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดการขาดทุนมาจนถึงปัจจุบัน

และนี่ก็เป็นเวลาอันสมควรที่แกร็บจะเน้นทำกำไรเสียที ก่อนที่จะตกลงไปถึงก้นเหวแล้วไม่มีทางกลับขึ้นมาได้อีก…

จะเน้นทำกำไรก็ไม่ว่า แต่ ‘ผู้บริโภค’ อยู่ส่วนไหนของสมการ?

“กินหรู อยู่สบาย”

คำเปรียบเปรยถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่แสนจะสุขสบาย ไม่ต้องกังวล ‘เรื่องกิน’ หรือ ‘เรื่องอยู่’ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต

ในยามที่เราเริ่มรู้จักกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ชีวิตของเราก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ต้องการทานเมนูอะไรก็กดสั่ง จากนั้น แค่รอให้พี่ไรเดอร์มาส่ง อีกทั้งการสั่งผ่านแอปฯ ยังทำให้เราซื้ออาหารในราคาที่ถูกลงได้ เพราะโค้ดส่วนลดและการจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่างร้านค้ากับแพลตฟอร์ม

ด้วยความสะดวกสบายและสิทธิประโยชน์มากมาย ทำให้แพลตฟอร์มเดลิเวอรีแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตโดยไม่รู้ตัว…

แต่เมื่อแพลตฟอร์มเหล่านั้นตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางจากการขยายฐานลูกค้ามาเน้นทำกำไรแทน ผู้บริโภคต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า ‘ยุคทองของตัวเองมาถึงกาลอวสาน’ โค้ดส่วนลดที่เคยใช้ได้กลับใช้ไม่ได้ ค่าส่งที่เคยฟรีกลับไม่ฟรีเหมือนแต่ก่อน

จริงๆ แล้ว การที่ผู้ประกอบการยอมผลักตัวเองลงไปในหุบเหวด้วยการอัดฉีดโปรโมชันไม่อั้น เป็นการประวิงเวลาที่ทำให้ผู้บริโภคพบเจอกับความจริงช้าลง รวมถึงเป็นยาหลอกที่ทำให้ผู้บริโภคติดใจ และเอาความสะดวกสบายของแพลตฟอร์มเดลิเวอรีมาผูกติดกับวิถีชีวิตของตัวเอง

หลังจากที่แนวทางการทำธุรกิจของแพลตฟอร์มเดลิเวอรีเปลี่ยนไป การใช้บริการของผู้คนน่าจะแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง สำหรับใครที่ใช้บริการจนเคยชินก็จะยังใช้บริการต่อไป แต่สำหรับบางคนก็เลือกที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และใช้บริการเท่าที่จำเป็น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวเอง

และหากถามว่า ตอนนี้ ‘ผู้บริโภค’ อยู่ส่วนไหนของสมการ คงต้องตอบว่า ‘ยังอยู่ที่เดิม’ แต่ความสำคัญที่มีก็ลดลงไปตามกาลเวลา

สุดท้ายแล้ว แพลตฟอร์มเดลิเวอรีอย่างแกร็บหรือเจ้าอื่นๆ ก็ไม่ใช่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ต่อให้ไม่ปรับแนวทางการทำธุรกิจในวันนี้ ก็ต้องปรับแนวทางเพื่อเน้นทำกำไรในวันหน้าอยู่ดี ซึ่งผู้บริโภคก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจาก ‘ทำใจ’ ยอมรับความจริงว่า “ธุรกิจทุกประเภทก็ล้วนแต่ต้องทำกำไรทั้งสิ้น”

แล้วทุกคนคิดว่า การปรับแนวทางการทำธุรกิจของแกร็บจะส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ อย่างไรอีกบ้าง?

Sources: https://bit.ly/3CQgAMQ

https://s.nikkei.com/3QaI7M2

https://bit.ly/3R9SIs3

https://bit.ly/3AGVm19

https://bit.ly/3CQeNaA