ทีมไม่มุ่งมั่น เห็นเป้าหมายไม่ชัด แก้ด้วยทฤษฎี Locke’s Goal-Setting ตั้งเป้าหมายให้ใช่ ปลุกไฟให้กระฉูด

Share

ในการทำงานเป็นทีม หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้ดีคือ ‘การมีเป้าหมายร่วมกัน’ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม หรือองค์กรใด การกำหนดเป้าหมายที่ดีก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก และยังช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้กับสมาชิกด้วย หากทีมมีการกำหนดเป้าหมายที่ดีแล้ว ก็นับว่า เป็นการเริ่มต้นการทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม

แม้การตั้งเป้าหมายจะดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว ก็มีหลายกรณีที่ความผิดพลาดนั้นเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายออกมาให้เห็นเรื่อยๆ เช่นกัน ดังนั้น การตั้งเป้าหมายก็อาจจะไม่ใช่เรื่องปลอกกล้วยเข้าปากอย่างที่คิด อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่า โชคดีที่เคยมีคนที่ให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้ และได้คิดหลักการสำหรับการตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่น่าสนใจภายใต้ชื่อของ ‘Locke’s Goal-setting Theory’ ด้วย

แล้ว Locke’s Goal-Setting Theory คืออะไร ถ้าอยากทำบ้าง มีหลักการยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

Locke’s Goal-Setting Theory คืออะไร?

Locke’s Goal-Setting Theory เป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่ว่า การตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง และสามารถวัดผลได้นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการตั้งเป้าหมายแบบกว้างๆ หรือไม่ชัดเจน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ก็ถูกนำเสนอโดยเอ็ดวิน เอ ล็อก (Edwin A. Locke) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันในปี 1968 ผ่านงานเขียน ‘Toward a Theory of Task Motivation and Incentive’ เขาพยายามชี้ให้เห็นว่า ‘พนักงานจะมีแรงจูงใจมากขึ้นก็ต่อเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเฉพาะเจาะจง’

ด้วยข้อสรุปนี้จึงได้นำไปสู่ทฤษฎีหลักการตั้งเป้าหมายที่ดีให้กับทีม หรือองค์กรว่า เป้าหมายที่ตั้งขึ้นมาควรมีความเฉพาะเจาะจง และวัดผลได้ ซึ่งก็เป็นแค่แนวทางทั่วไปเท่านั้น ยังมีหลักการอีก 5 ข้อที่ถูกนำเสนอออกมา เพื่อช่วยให้การตั้งเป้าหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดด้วย

หลักการ 5 ข้อ ของ Locke’s Goal Setting-Theory

1. มีความชัดเจน (Clarify)

เป้าหมายที่กำหนดขึ้นมาจะต้องชัดเจน และเฉพาะเจาะจง ให้ทุกคนในทีมสามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อทุกคนเข้าใจ เห็นภาพชัดเจนแล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาด หรือความคลาดเคลื่อนในการสื่อสารงานต่างๆ ก็จะน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลให้ทุกคนมุ่งมั่นมากขึ้น และมีโอกาสจะทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จยิ่งขึ้นไปอีก

2. มีความท้าทาย (Challenge)

เป้าหมายที่กำหนดขึ้นมาต้องมีความท้าทายใน ‘ระดับกำลังดี’ เพื่อให้คนในทีมมีแรงกระตุ้น อยากมีส่วนร่วม และมุ่งมั่นที่จะทำตามเป้าหมาย เป้าหมายที่ง่ายเกินไปจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายจนลดแรงจูงใจลง แถมเมื่อทำสำเร็จแล้ว ก็ยังไปลดระดับความพึงพอใจน้อยลงตามไปด้วย

3. มีจุดมุ่งหมายตรงกัน (Commitment)

เป้าหมายที่กำหนดขึ้นมาต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจตรงกันผ่านการยอมรับ และเห็นชอบจากทุกคน เพราะเมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว แน่นอนว่า โอกาสที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จก็มีมากขึ้นนั่นเอง โดยการกำหนดเป้าหมายแบบนี้จะช่วยลดการขาดแรงจูงใจต่อเป้าหมายของลูกน้องแต่ละคน และยังทำให้ทีมรู้สึกสนุกไปกับการทำเป้าหมายนั้นพร้อมๆ กันด้วย

4. เปิดรับข้อเสนอแนะ (Feedback)

ในการกำหนดเป้าหมายควรเปิดรับความเห็น และข้อเสนอแนะอย่างสม่ำเสมอตลอดกระบวนไปจนถึงการบรรลุเป้าหมาย เพื่อตรวจสอบการทำงาน และลดข้อผิดพลาดให้มากที่สุด ทำให้แน่ใจว่า ทีมยังคงอยู่บนเส้นทางการไปสู่เป้าหมาย

5. กระจายความซับซ้อนของงาน (Task Complexity)

เป้าหมายที่กำหนดขึ้นมาต้องสามารถกระจายออกเป็นเป้าหมาย หรืองานย่อยๆ ได้ เพื่อที่ว่า ภารกิจ หรืองานที่ชัดเจนนั้นจะทำให้สมาชิกแต่ละคนในทีมเอาไปรับผิดชอบต่อได้ง่าย แถมหัวหน้าอย่างเราๆ ยังตรวจสอบความคืบหน้าได้ง่ายเช่นกัน

สำหรับผู้บริหาร หรือหัวหน้าคนไหนที่กำลังประสบปัญหาทีมไม่มีแรงจูงใจ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไม่ได้ ทฤษฎี Locke’s Goal-Setting นี้ก็เป็นอีกหลักการหนึ่งที่น่านำไปปรับใช้ เพราะการทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้นเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งเป้าหมายที่ดี หากเรามีเป้าหมายที่ทำให้คนในทีม หรือองค์กรมองเห็นภาพความสำเร็จชัดเจนแล้ว เชื่อว่า ทั้งความมุ่งมั่น และแรงจูงใจของทุกคนก็จะเพิ่มขึ้น และเป้าหมายก็เป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินเอื้อมอย่างแน่นอน!

สำหรับผู้บริหาร หรือหัวหน้าคนไหนที่กำลังประสบปัญหาทีมไม่มีแรงจูงใจ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไม่ได้ ทฤษฎี Locke’s Goal-Setting นี้ก็เป็นอีกหลักการหนึ่งที่น่านำไปปรับใช้ เพราะการทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้นเริ่มต้นตั้งแต่การตั้งเป้าหมายที่ดี หากเรามีเป้าหมายที่ทำให้คนในทีม หรือองค์กรมองเห็นภาพความสำเร็จชัดเจนแล้ว เชื่อว่า ทั้งความมุ่งมั่น และแรงจูงใจของทุกคนก็จะเพิ่มขึ้น และเป้าหมายก็เป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินเอื้อมอย่างแน่นอน!

Sources: https://indeedhi.re/3oAnqxO
.
https://bit.ly/3cMBNw3