Sea (ประเทศไทย) เปิดโครงการ ‘Women Made: Girl in STEM’ มอบพื้นที่ค้นหาแรงบันดาลใจให้เยาวชนหญิงหัวใจ STEM

Share

‘Sea (ประเทศไทย)’ ร่วมกับ InsKru และสวทช. สร้างแรงบันดาลใจ สร้างการเข้าถึงให้เยาวชนเพศหญิงได้รู้จักสายอาชีพ STEM

Sea (ประเทศไทย) เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง การีนา ช้อปปี้ และซีมันนี่ ที่คนไทยรู้จักและคุ้นชินกันเป็นอย่างดี ได้จับมือร่วมกับ InsKru และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อเปิดตัวโครงการ ‘Women Made: Girl in STEM’ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดัน สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงได้ทำความรู้จักกับการศึกษาและอาชีพสาย ‘STEM’

สำหรับ ‘STEM’ หรือ ‘สะเต็มศึกษา’ เป็นคำที่ใช้เรียกองค์ความรู้ในรูปแบบที่ถูกบูรณาการมาจาก 4 สาขาวิชาได้แก่ วิทยาศาสตร์ (S-Science) เทคโนโลยี (T-Technology) วิศกรรมศาสตร์(E-Engineering) และคณิตศาสตร์ (M-Mathematics) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ และการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

ลักษณะการศึกษาในรูปแบบนี้จะมีความท้าทายผู้เรียนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการบูรณาการ การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ การเรียนรู้แบบเน้นปฏิบัติจริง (Active Learning) และการเข้าถึงแก่นแท้ของดิจิทัล ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม STEM รายล้อมไปด้วยโอกาสแห่งการเติบโต

ตัวอย่างอาชีพในแวดวงของ STEM จะมีรากฐานมาจาก 4 สาขาวิชาที่กล่าวไปข้างต้น และแตกแขนงออกไปอีกมากมาย เช่น วิศวกรการบิน วิศวกรเสียง นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นิติวิทยาศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เป็นต้น

จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นโครงการการเรียนรู้ที่ดี แต่คุณคงจะตั้งคำถามว่าทำไมโครงการถึงสร้างมาเพื่อดึงดูดเด็กผู้หญิงกัน?

ต้นเหตุมาจากสัดส่วนการมีอยู่ของผู้หญิงในกลุ่มการศึกษาและอาชีพ STEM นั้นน้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่แท้จริงแล้ว งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเด็กผู้หญิงมักจะมีความสนใจทางด้าน STEM ในระดับเดียวกันกับเด็กผู้ชายในระดับประถม แต่มักจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทำให้เราเห็นถึงความท้าทายที่ผู้หญิงต้องเผชิญกับการมีตัวตนอยู่ในแวดวง STEM

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างภาพให้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถทำงานในอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยผู้ชายได้เช่นกัน

ความท้าทายของการศึกษาและการมีตัวตนในแวดวง STEM ของผู้หญิง

อุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยผู้ชายสร้างความท้าทายอย่างมากให้กับผู้หญิง ที่ต้องเผชิญเมื่อมีความฝันและมุ่งมั่นที่จะประกอบอาชีพในแวดวง STEM นอกเหนือจากงานวิจัยที่เราได้ยกตัวอย่างไปแล้ว ยังมีตัวเลขจากการรายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศประจำปี 2566 ที่จัดทำขึ้นโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Ecoonomic Forum) พบว่า จากการจ้างงานทั้งหมดในกลุ่มอาชีพ STEM มีเพียงร้อยละ 29.2 เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง

หมายความว่าจะมีผู้หญิงเพียง 29 คน ที่ได้รับการจ้างในสายอาชีพ STEM จากจำนวน 100 คน

เป็นตัวเลขที่ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศในมุมมองของการจ้างงานเอาเสียเลย ยิ่งนำมาเทียบกับการจ้างงานในสายอาชีพนอกกลุ่ม STEM ยิ่งเห็นความแตกต่างที่ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพในสายอื่นๆ ได้มากถึงร้อยละ 49.3 หรือเกือบครึ่งจากการจ้างงานทั้งหมด

ถ้าพูดถึงเรื่องสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าดัชนีช่องว่างระหว่างเพศแตกต่างกันมากขนาดนั้น มีที่มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมเกี่ยวกับเพศที่คนส่วนใหญ่มองว่า STEM เป็นพื้นที่ของผู้ชาย ซึ่งหลอมรวมมาจากแนวคิดของผู้คนทั้งในระดับปักเจกบุคคลและสังคม สอดคล้องกับสังคมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกมาจากอดีต ถึงแม้หลายๆ วัฒนธรรมจะแสดงให้เห็นความเท่าเทียมที่จับต้องได้แล้ว แต่ก็ยังคงมีการยึดโยงผู้ชายกับกลุ่มอาชีพ STEM อยู่

หรือ จะเป็นเพราะการขาดแบบอย่างที่เห็นได้ชัดและจับต้องได้ ในสื่อ หนังสือ และวัฒนธรรมที่ไม่ค่อยมีการเชิดชูผู้หญิงในสายอาชีพนี้เท่ากับผู้ชาย ทำให้ตัวอย่างที่เด็กผู้หญิงจะยกเป็นไอดอลนั้นมีน้อยกว่า และส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกเดินในสายอาชีพที่ต่างออกไป เพราะเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าตัวเองจะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้หญิงที่มีความสำเร็จในสายงาน STEM อย่างไรได้บ้าง

ด้วยตัวเลขและเหตุผลเหล่านี้ สร้างความตระหนักให้กับ Sea (ประเทศไทย) ในการริเริ่มโครงการ Woman Made: Girl in STEM เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงที่มีความฝัน ความสามารถ และความสนใจที่จะศึกษาต่อในสาขาอาชีพ STEM

ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิง ด้วยโครงการ Women Made: Girl in STEM

สำหรับโครงการ Women Made: Girl in STEM โดย Sea (ประเทศไทย) ร่วมมือกับ InsKru และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กผู้หญิงหันมาสนใจและศึกษาต่อในสาขา STEM มากยิ่งขึ้น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการเลือกทางเดินด้านการศึกษาได้รวดเร็วและชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยจัดกิจกรรม Day Camp ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ อาคารสราญวิทย์ (อาคาร 12) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีน้องๆ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและคุณครู เข้าร่วมงานกว่า 90 คน

กิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย

1. เวทีเสวนาจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง: แบ่งปันประสบการณ์จริงจากผู้ที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพ STEM ด้วยวิทยากรที่ได้มาสร้างแรงบันดาลใจ อย่าง คุณปริพรรษ ไพรัตน์ วิศวกรดาวเทียม คุณจักรพงศ์ พุ่มไพจิตร ท็อฟฟี่ เป็นตุ๊ดซ่อมคอม และคุณภวิษย์พร เจียรประเสริฐ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด

2.ห้องสมุดมนุษย์ (Human Library): กิจกรรมที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียน สามารถพูดคุยกับคนทำงานในแวดวง STEM ได้ใน 9 อาชีพ ได้แก่ โปรแกรมเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล วิศวกรด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ นักวิจัยนาโนเทคโนโลยี วิศวกรเสียง นักนิติวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เภสัชวิทยาภูมิคุ้มกัน วิศวกรการบินและอวกาศ และนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เพื่อศึกษาเส้นทางสายอาชีพ การศึกษา และความรู้สึกของการทำงานในแวดวง STEM

3. จดหมายบ่ายวันศุกร์: กิจกรรมที่ชวนนักเรียนและคุณครูมาสะท้อนความคิด ความต้องการและมุมมองของนักเรียนและคุณครูหลังจากจบกิจกรรม เพื่อเป็นการสร้างเสริมแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนหญิงทุกคน อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศทางการศึกษาและการทำงานอีกด้วย

4. กิจกรรมให้ความรู้และเวิร์กช้อปสำหรับคุณครู: กิจกรรมนี้จะให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้แก่คุณครูว่าบนโลกใบนี้เด็กนักเรียนหญิงก็สามารถเข้าถึงการศึกษา STEM ได้ เพื่อที่จะเปิดทางให้มีการแนะแนวการสอน STEM ภายในโรงเรียน สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมมุมมองแห่งโอกาสในด้านของอาชีพและการศึกษา

ทั้งนี้ ผู้ร่วมงานที่เป็นนักเรียนกว่า 60 คน ต่างมีความสนใจในด้าน STEM เป็นทุนเดิม โครงการ Women Made: Girl in STEM จะเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจและสานต่อความตั้งใจในการในการเดินตามความฝันในการเรียนและมุ่งหน้าทำงานด้าน STEM ในขณะเดียวกันผู้เป็นครูอีก 30 คน ก็มีบทบาทสำคัญในการแนะแนวอาชีพที่ต้องการทักษะ STEM และเปลี่ยนการเรียนรู้ให้เป็นแบบบูรณาการ แสดงให้เห็นว่า STEM เชื่อมโยงกันในการแก้ปัญหาจริง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงการสะเต็ม การใช้เทคโนโลยีในการสอน และกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจตลอดจนพัฒนาทักษะสำคัญสำหรับเด็ก

บทสรุปของ STEM และโครงการ Women Made: Girl in STEM

งานที่จัดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ Sea (ประเทศไทย) ในการสร้างความร่วมมือกับ InsKru และ สวทช. อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเด็กๆ ที่มีความฝักใฝ่และแสวงหาความรู้ STEM ถึงแม้ว่าสังคมจะมีแนวคิดว่าแวดวงนี้เป็นของผู้ชาย

แต่กิจกรรมภายใน Day Camp ก็ได้สร้างความตระหนักรู้ให้เด็กและคุณครูกว่า 90 คน รู้แล้วว่าผู้หญิงก็สามารถเข้าถึงกลุ่มอาชีพ STEM ได้เช่นกัน นำไปสู่การต่อสู้และแนะแนวการศึกษาให้ทุกคนได้เดินตามความฝัน ที่ถูกสนับสนุนและส่งเสริมด้วยโครงการ ‘Women Made: Girl in STEM’

นอกเหนือจากโครงการ ‘Women Made: Girl in STEM’ แล้ว Sea (ประเทศไทย) ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล สู่อนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง และเปิดประตูต้อนรับโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเอง เพียงแค่เข้าชมเว็บไซต์ 🌐 ได้ที่ Sea Academy

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม
Sources: AAUW – The STEM Gap: Women and Girls in Science, Technology, Engineering and Mathematics : https://www.aauw.org/resources/research/the-stem-gap/

Carleton College – Are Women Reaching Parity with Men in STEM? : https://econofact.org/are-women-reaching-parity-with-men-in-stem