ขึ้นชื่อว่า เป็นการทำงานแล้ว ก็คงไม่มีอะไรที่ราบรื่นดั่งใจหวัง และคงไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก เพราะมีปัจจัยมากมายที่รอท้าทายความสามารถของเราอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นความยากของงาน ความกดดัน เวลาที่เร่งรีบ หรือแม้แต่หนึ่งในปัญหาคลาสสิกของคนทำงานแทบทุกคนอย่าง ‘ความเข้ากันไม่ได้’ ทั้งกับคนในทีม และเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ
จริงๆ แล้ว ความเข้ากันไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไร ออกจะเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ เพราะทุกคนเติบโตมาจากพื้นเพและภูมิหลังที่ต่างกัน ทำให้เกิดความเข้ากันไม่ได้บ้างเป็นธรรมดา แต่ในบางกรณี อาจพัฒนาจาก ‘ความเข้ากันไม่ได้’ ที่ดูจะปกติ ได้แปรเปลี่ยนเป็น ‘ความขัดแย้ง’ ที่ไม่ปกติ และรุนแรงจนยากที่จะผสานรอยร้าว
สถิติจาก Pollack Peacebuilding System บริษัทให้คำปรึกษาด้านการจัดการความขัดแย้งของหน่วยงานต่างๆ ในสหรัฐฯ ระบุว่า มีพนักงานที่เคยตะคอกใส่เพื่อนร่วมงานถึง 72 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสาเหตุมาจากความเครียดและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ดี ถึงแม้ว่า จะเกิดจากความไม่ตั้งใจ แต่มันก็ได้ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีไปแล้ว จนกลายเป็น ‘ผิดใจกันหนึ่งครั้ง เท่ากับผิดใจกันตลอดไป’
และสิ่งนี้ ก็ได้นำพาความน่าปวดหัวมาให้กับหัวหน้าทีม เพราะความเข้ากันไม่ได้ ความขัดแย้ง ความผิดใจกัน หรือใดๆ ก็ตาม ทำให้การทำงานในทีมไม่ราบรื่น ประสิทธิภาพการทำงานไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้คุณภาพของเนื้องานแย่ลงไปด้วย ถึงแม้ว่า หัวหน้าทีมจะรู้อยู่เต็มอกว่า ปัญหาเกิดจากอะไร แต่ก็เป็นเรื่องยากที่หัวหน้าทีมจะเข้าไปก้าวก่ายได้ เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ดังนั้น ในวันนี้ เราจึงนำเทคนิคการเชื่อมสัมพันธ์ที่ว่าด้วยการถอยออกมาหนึ่งก้าว แล้วมองภาพรวม อย่าง ‘หลักการเกสตัลต์’ (Gestalt Principle) มาฝากหัวหน้าทีมที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาลูกทีมผิดใจกัน และพนักงานที่ต้องการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้คุณภาพของเนื้องานออกมาดีอยู่เสมอ
สำหรับใครที่อยู่ในวงการออกแบบ หรือเคยเรียนรู้ศาสตร์เกี่ยวกับการออกแบบมาก่อน คงคุ้นเคยกับหลักการเกสตัลต์ ในฐานะหลักการออกแบบยอดนิยมเป็นอย่างดี แต่หลักการเกสตัลต์ ก็สามารถนำไปใช้ประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ด้วย เพราะจริงๆ แล้ว หลักการเกสตัลต์ คือหลักการทางจิตวิทยาที่ว่าด้วย ‘มนุษย์จะเรียนรู้จากสิ่งเร้าที่เป็นส่วนรวมได้ดีกว่าส่วนย่อย’ เช่น การที่มองนาฬิกา แล้วบอกว่า สิ่งนี้ คือนาฬิกาได้ทันที โดยไม่ต้องจำแนกองค์ประกอบอย่างการมีเข็มสั้น เข็มยาว และเข็มวินาที
และสำหรับการนำหลักการเกสตัลต์ไปใช้ในการเชื่อมสัมพันธ์ของคนในทีม หรือพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน ต้องคำนึงถึง 4 องค์ประกอบสำคัญของหลักการ ดังนี้
ความใกล้ชิด (Proximity)
สมองของคนเราจะประมวลผลว่า วัตถุที่วางใกล้กัน จะเป็นวัตถุกลุ่มเดียวกันที่มีความเกี่ยวข้องกัน ความสัมพันธ์ของคนก็เป็นเช่นนั้น เมื่อคนสองคนที่เคยทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด ค่อยๆ ห่างเหินกัน จนเหมือนมีกำแพงบางอย่างมากั้นไว้ ก็เป็นสัญญาณแรกที่กำลังบอกให้หัวหน้าทีมทราบว่า ความสัมพันธ์ของคนในทีมเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงแล้ว
ดังนั้น หัวหน้าทีมจึงต้องรีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ต้องถึงกับยื่นมือเข้าไปเป็นตัวกลางในการเชื่อมความสัมพันธ์ แต่แค่คอยให้คำปรึกษา และดูแลอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ก็พอ เพราะในมุมของพนักงาน เวลาที่มีความขัดแย้งกัน ก็ไม่ได้อยากบอกให้หัวหน้าทีมรู้อยู่แล้ว
ความคล้ายกัน (Similarity)
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า แต่ละคนมีการเติบโตมาจากพื้นเพและภูมิหลังที่ต่างกัน ทำให้เกิดความเข้ากันไม่ได้ เมื่อมาอยู่รวมกันในสังคมหนึ่ง แต่ในความแตกต่างก็จะมีความคล้ายคลึงกันบางอย่างแฝงอยู่ด้วย เช่น ชอบดูซีรีส์เกาหลี ชอบฟังเพลงฮิปฮอป ชอบทานอาหารญี่ปุ่น เป็นต้น
ดังนั้น หัวหน้าทีมสามารถจับจุดความคล้ายกันบางอย่าง มาใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมสัมพันธ์แบบเนียนๆ ได้ เช่น พาไปทานข้าวด้วยกันสักมื้อ แล้วค่อยๆ ถาม หรือชวนคุยเรื่องทั่วไป หากหัวหน้าทีมทำได้ดี ลูกทีมก็จะรู้สึกเหมือนได้ปลดล็อกอะไรบางอย่างที่ยังค้างคาอยู่ในใจด้วย
ความต่อเนื่องกัน (Continuity)
หัวหน้าทีมสามารถใช้ความต่อเนื่องของการทำงาน เป็นตัวชี้วัดสถานะความสัมพันธ์ของคนในทีมได้ เชื่อว่า ทุกทีมมีโฟลว์การทำงานในแต่ละขั้นตอนเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่หัวหน้าทีมรู้สึกได้อย่างแน่นอน แต่หากอยู่ดีๆ โฟลว์การทำงานเกิดสะดุดลง แสดงว่ากำลังมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น อาจจะเป็นเพราะความคิดเห็นที่ต่างกัน หรือการทำงานในขั้นตอนก่อนหน้าเกิดความผิดพลาด ทำให้คนที่รับผิดชอบงานในขั้นตอนต่อมา ต้องมาตามสะสางความผิดพลาด จนเกิดเป็นความหงุดหงิดขึ้นมา
ดังนั้น เมื่อหัวหน้าทีมค้นพบความผิดพลาดที่กระทบต่อโฟลว์การทำงานแล้ว ก็สามารถนำเอาความผิดพลาดในครั้งนั้น มาใช้เป็นบทเรียนของทีมได้ อาจจะนำมาหารือร่วมกันในที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นในการแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้คนในทีมเข้าใจกันและกันมากขึ้น และกลายเป็นการสานสัมพันธ์แบบเนียนๆ ด้วย
ความปกปิด (Closure)
ความปกปิดในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง การปิดบังข้อมูลหรือความผิดพลาดแต่อย่างใด แต่หมายถึง การที่หัวหน้าทีมต้องพยายามมองหา ‘ช่องว่าง’ ที่มองไม่เห็น หรือสาเหตุของความเข้ากันไม่ได้ที่คนในทีมปกปิดไว้นั่นเอง ซึ่งวิธีการเชื่อมสัมพันธ์ที่หัวหน้าทีมพยายามทำ เป็นเหมือนการบรรเทาไม่ให้ความสัมพันธ์แย่ลงไปกว่านี้ คล้ายๆ กับการซ่อมกระดาษด้วยการติดเทปกาว ถึงต่อกันได้ แต่ก็ไม่เรียบเนียนเหมือนเดิม
ดังนั้น หัวหน้าทีมควรหาสาเหตุของความเข้ากันไม่ได้ให้พบ และแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างตรงจุด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ของคนในทีมอีก หากเปรียบเทียบกับการซ่อมกระดาษ วิธีนี้ จะเป็นเหมือนการป้องกันไม่ให้กระดาษฉีกขาดตั้งแต่แรก ซึ่งดีกว่าการที่ต้องมาซ่อมกระดาษในภายหลังอย่างแน่นอน
จริงๆ แล้ว หลักการเกสตัลต์ เป็นเพียงเทคนิคหนึ่งที่จะช่วยจับสังเกตความสัมพันธ์ของคนในทีมที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้เกิดแนวทางการเชื่อมสัมพันธ์ได้อย่างตรงจุด แต่มันคงจะดีกว่ามาก ถ้าเราสามารถรักษาความสัมพันธ์ของคนในทีมให้ดีอยู่เสมอ ด้วยการย้อนถามตัวเองว่า ‘หัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีมคืออะไรกันแน่?’
Sources: https://bit.ly/3962H0F
https://bit.ly/3aR5342
https://bit.ly/3NGyAvJ