ผู้นำที่ลูกน้องไม่ปลื้มคือ ‘ผู้นำที่ไม่สนับสนุน’ เปลี่ยนตัวเองด้วย ‘Genchi Genbutsu’ วิธีรักษาคนแบบ Toyota

Share

“อยู่ผิดที่ ต่อให้ขยันอีกกี่สิบปีก็ไม่โต” ในทางกลับกัน “ถ้าอยู่ถูกที่ ขยันอีกกี่สิบปีก็โตเอาๆ”

บรรดาประโยคข้างต้นนี้น่าจะเป็นคำอธิบายถึงสาเหตุการลาออกของบรรดาพนักงานเก่งๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะการอยู่อย่าง ‘ถูกที่ ถูกเวลา’ ด้วยการมีแบ็คอัปเป็นผู้นำที่ดีคอยสนับสนุนย่อมจะช่วยยกระดับความสามารถที่มีให้ดีก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้น

จากผลสำรวจของแมคคินซีย์ (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกชี้ให้เห็นว่า ‘ผู้นำที่ไม่สนับสนุนทีม’ คือ 1 ใน 5 สาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานดีๆ ตัดสินใจลาออกมากที่สุด รองจากสถานที่ทำงานที่ไม่ยืดหยุ่น และค่าตอบแทนที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ

ตามปกติ เรามักจะเข้าใจกันว่า นโยบายการบริหารงานอย่างการเปิดประตู (Open-door policy) หรือการพูดว่า “ถ้ามีอะไรก็บอกนะ” เป็นเรื่องที่เวิร์ก เนื่องจาก แสดงถึงความใส่ใจ ห่วงใย การสนับสนุนด้วยการพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้ทีมทุกเมื่อ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างนั้นตรงกันข้าม เพราะเป็นเหมือนการผลักภาระความรับผิดชอบในการเปิดปากพูดไปให้ทีมซะมากกว่า บวกกับก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะกล้าพูดออกมาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะกล้าพูดกันแต่ข่าวดี ส่วนข่าวร้ายหรือความจริงที่ไม่ค่อยดีก็มักจะถูกเก็บเงียบจนเกิดปัญหาบานปลายตามมา ก่อนหน้านี้ Future Trends เคยพูดถึงประเด็นนี้ไป ถ้าใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านกันได้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: https://bit.ly/3M17fDI)

แล้วถ้านโยบายแบบเปิดประตูไม่เวิร์ก ต้องใช้วิธีอะไรแสดงออกถึงความห่วงใย และไม่กลายเป็นผู้นำที่ไม่สนับสนุนแบบที่ทีมคนไหนก็ไม่ปลื้ม ในบทความนี้ Future Trends จะมาแนะนำ Genchi Genbutsu หนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรที่โตโยต้า (Toyota) ใช้รักษาคนเก่งๆ กัน

Genchi Genbutsu (อ่านว่า เกน-จิ-เกน-บุด-สึ) มีที่มาจากคำในภาษาญี่ปุ่นอย่างคำว่า “Genchi” ที่หมายถึง ‘สถานที่จริง’ และ “Genbutsu” ที่หมายถึง ‘ของจริง’ แต่ถ้าแปลเป็นไทยแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ ‘การไปดูด้วยตัวเอง’ หรือการเข้าไปคลุกคลีกับขั้นตอนการทำงาน และต้นตอปัญหาที่ ‘แท้จริง’ ใน ‘สถานที่จริง’ ด้วยตาตัวเอง

โดยแนวคิดนี้ก็มีต้นกำเนิดมาจากโตชิอากิ ทากูชิ (Toshiaki Taguchi) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโตโยต้าในอเมริกาเหนือ ซึ่งสมัยที่ยังเป็นพนักงานฝึกหัดแผนกฝ่ายขาย เขาได้ถูกส่งไปยังบริษัทตัวแทนจำหน่ายเป็นเวลาร่วม 5 เดือนที่นาโกย่า (Nagoya) ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นั่น เขาก็ได้มัดใจลูกค้าด้วยการนำโบรชัวร์ไปเสนอขายตามบ้าน หรือที่สมัยโบราณเรียกว่า ‘การขายแบบเคาะประตูบ้าน’ แต่หากพูดกันตามตรง เขาไม่มีความจำเป็นต้องทำถึงขนาดนี้ด้วยซ้ำ แค่นั่งขายอยู่ที่โชว์รูม รอคนที่สนใจจริงๆ มาซื้อก็เพียงพอแล้ว

แต่ผลปรากฏว่า ความใส่ใจ การลงไปคลุกคลีกับสถานการณ์จริงนี้ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการขายรถยนต์ใหม่ รถมือสองมากถึง 9 คันด้วยกัน และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ วิธีนี้ทำให้โตชิอากิรู้เทคนิคการขาย เข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากยิ่งขึ้นไปพร้อมกัน

เพราะการเข้าไปสัมผัสลูกค้าแบบถึงที่ เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็น ความรู้สึกนึกคิดผ่านการพูดคุย สังเกตบุคลิกลักษณะ ความชื่นชอบ และกำลังซื้อช่วยให้เขาเข้าใจความต้องการที่แตกต่างกันออกไปของลูกค้าแต่ละคนได้อย่างลึกซึ้ง

ทั้งนี้ เราก็สามารถนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในการทำงานได้เช่นกัน โดยก็ยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานเดิมที่ว่า ลงไปสัมผัสกับทีม งาน และปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ได้เป็นผู้นำที่ตรงกับสำนวนไทยอย่าง ‘หอคอยงาช้าง’ ที่เอาแต่นั่งอ่านรายงาน หรือเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ด้านบนโดยไม่เข้าใจต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างาน

Genchi Genbutsu เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ช่วยสร้างความเชื่อถือซึ่งกันและกัน (Mutual Trust) ทำให้กระบวนการพัฒนาของบริษัทเป็นไปอย่างรวดเร็ว และราบรื่น แถมไม่ต้องเกิดปัญหาคาราคาซังตามมา และทำให้คุณกลายเป็น ‘ผู้นำสายซัพพอร์ต’ แบบที่ลูกน้องคนไหนก็ปลื้มนั่นเอง

หน้าที่หลักของผู้นำไม่ใช่แค่การบริหารควบคุมภาพรวมของงานเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่การสร้างคนในทีมให้เติบโตด้วย ทุกคนต่างก็อยากเติบโตด้วยกันทั้งหมด ทว่า การจะเติบโตได้นั้นไม่ง่าย และย่อมต้องมีแบ็คอัปที่ดีอย่างผู้นำที่พร้อมสนับสนุนเป็นกำลังสำคัญ ลองนำ Genchi Genbutsu ไปปรับใช้พร้อมกับประโยคง่ายๆ ที่เต็มไปด้วยพลังมหาศาล พูดกับทีมว่า “เชื่อสิ แกทำได้” “น้องพี่เก่งขนาดนี้ ทำได้อยู่แล้ว” ดู…

Sources: https://mck.co/394E2cc

https://bit.ly/3sn1SqC

https://bit.ly/3N6iye5