“เวลารับงานมาทีไร พอส่งงานกลับ ขยับตัวไปทางไหนหัวหน้าก็ตำหนิ เพื่อนร่วมงานก็บอกว่า ไม่ดีทุกที ในขณะที่เพื่อนสนิทที่โตมาพร้อมกันไปไกล แต่ทำไมตอนนี้เราถึงยังอยู่ที่เดิมอยู่เลย เราเก่งได้แค่นี้จริงๆ เหรอ หรือเป็นแค่คำพูดที่เขาปั่นมากันแน่?”
ในช่วงชีวิตของการทำงาน ความรู้สึกสงสัยในตัวเอง (Self-Doubt) เป็นสิ่งที่ผุดขึ้นในหัวของหลายๆ คนอยู่ตลอด ซึ่งบางทีเราก็อาจจะไม่เก่งจริงๆ แบบที่ว่า, ด้อยค่าตัวเองด้วยอาการของ Imposter Syndrome หรืออีกมุมหนึ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การถูกด้อยค่า หลอกให้ตั้งคำถามกับคุณค่าของตัวเอง (Self-Worth) ด้วยคำพูดลอยๆ ของคนอื่นที่เรียกว่า ‘การถูกปั่นหรือ Gaslighting’ อยู่ก็ได้
Gashlighting เป็นคำอธิบายที่ใช้เรียกพฤติกรรมที่ฝ่ายหนึ่งปั่นอารมณ์ และจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ สร้างความสับสน ทำลายความมั่นใจ และทำให้ผู้เป็นเหยื่อเกิดความรู้สึกผิดกับตัวเองจนต้องเอ่ยคำขอโทษอยู่บ่อยๆ ผ่าน ‘การบิดเบือนความจริง’
โดยคำศัพท์ทางจิตวิทยานี้ก็มีต้นกำเนิดมาจากละครเวทีที่เคยโด่งดังในอังกฤษเมื่อปี 1934 อย่างแองเจิล สตรีต (Angel Street) ของแพทริก แฮมิลตัน (Patrick Hamilton) ซึ่งต่อมา ฮอลลีวูด (Hollywood) ก็ซื้อลิขสิทธิ์แล้วนำมาทำเป็นภาพยนตร์ต่อในปี 1944 ภายใต้ชื่อเรื่อง Gaslighting
ภาพยนตร์ Gaslighting เป็นเรื่องราวของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่สามีพยายามจะปั่นหัวให้ภรรยาให้รู้สึกว่า ตัวเองกำลังเสียสติ จำเป็นต้องพึ่งพาเขาเสมอ ยกตัวอย่างเช่น การหรี่ตะเกียงน้ำมันลง ทำให้ภรรยาเห็นว่าไฟดับ แต่ตัวเขากลับบอกว่า เธอคิดไปเอง ไม่ได้มืดสักหน่อย สุดท้าย ภรรยาเลยรู้สึกป่วงกับการเขย่าประสาทครั้งนี้จนเกือบเสียคน เป็นต้น
เช่นเดียวกับในโลกของการทำงาน ที่บางคนชอบบอกว่า “พี่ไม่ได้บรีฟแบบนั้น เราจำผิดแล้ว” ทั้งที่ในความเป็นจริง เราก็จำถูกอยู่แล้ว, “พี่แค่พูดไปเรื่อย อย่าถือสาเลย” ที่ชวนให้กลับมาตั้งคำถามว่า เราคิดมากเกินไปรึเปล่า หรือแม้กระทั่งการถูกกดเงินเดือนเมื่อผ่านโปรเบชันด้วยเหตุผลที่ว่า ความสามารถเรายังไม่ถึง แต่เขาอยากให้โอกาส ทั้งที่ในความเป็นจริง บางคนกลับทำได้ดีมากทีเดียว
มาเรีย คอร์โดวิกซ์ (Maria Kordowicz) อาจารย์อาวุโสด้านจิตวิทยาธุรกิจได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ Gaslighting ไว้ว่า บางครั้ง Gaslighting ในที่ทำงานก็เป็นผลมาจากการใช้อำนาจที่เหนือกว่าของคนหนึ่งในการเล่นงานอีกคนหนึ่งเพื่อสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง
การบั่นทอนความมั่นใจ ปั่นให้สงสัยตัวเองเช่นนี้ จึงทำให้คุณค่าในชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ผูกติด Self-Worth ไว้กับอาชีพการงาน
แอเรียล ลีฟ (Ariel Leve) นักเขียน นักข่าวชาวอเมริกัน และคอลัมนิสต์ของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) ได้แนะนำวิธีการรับมือจากประสบการณ์ตรงในอดีตที่เคยถูก Gaslighting จนเกือบฆ่าตัวตายบนเวทีเท็ดทอล์ก (TED Talks) ไว้ว่า อันดับแรก ถึงพวกเขาจะพยายามปั่นแค่ไหน ‘ให้เรามั่นใจในความคิดตัวเอง ไม่ไขว้เขวกับคำพูดพวกนั้น’ ในที่นี้คือ ฟังได้ แต่ไม่ต้องเก็บมาคิด เพราะยังไงเราก็เปลี่ยนพวกเขาไม่ได้ แถมถ้าเก็บมาใส่ใจ ก็เป็นตัวเราเองนั่นแหละที่แย่ และเสียเวลาชีวิตเปล่าๆ
ถัดมาคือ ‘ให้ยอมรับว่า จะไม่มีการรับผิดชอบอะไรเกิดขึ้นแน่ๆ’ ต่อให้จะพยายามแจงเหตุผล และตรรกะมากเท่าไร มันก็ไม่มีประโยชน์ เราไม่ได้มีพลังพอจะเปลี่ยนให้พวกเขายอมรับอยู่ดี นอกจากนี้ เธอยังเสริมด้วยว่า ‘ให้ปล่อยความต้องการอยากเปลี่ยนแปลงพวกเขาออกไป’ ถ้าเขาไม่ฟังก็ไม่ต้องพยายามหรอก ให้เราหยุดแล้วรีบดึงตัวเองออกมาก่อนที่สุขภาพจิต และกายจะแย่มากกว่านี้
อย่างสุดท้าย ‘ให้ตัดขาดตัวเองออกจากความสัมพันธ์ของอีกฝ่าย’ พอรู้แล้วว่า พวกเขากำลังปั่น ก็ให้ถอยออกมา ไม่ต้องไปข้องเกี่ยวกันมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะตัดขาด ไม่ร่วมวงโคจรชีวิตกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว เลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องแยกให้ออกว่า อันไหนคือคำพูดที่อยู่ใน ‘โลกแห่ง Gaslighting’ และอันไหนคือคำพูดที่อยู่ใน ‘โลกแห่งความเป็นจริง’ พวกเขาพูดอะไรก็พูดไป แต่เราต้องอยู่กับโลกใบเดียวที่ชื่อว่า ‘ความเป็นจริง’ นั่นเอง
วังวนของ Gaslighting ไม่ได้มีแค่ในเรื่องการทำงานเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดในความสัมพันธ์ทุกแบบเช่นกัน ทั้งเพื่อนสนิท คนรัก หรือแม้กระทั่งครอบครัวก็ด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่รู้สึกผิด สงสัยในความทรงจำ หรือตั้งคำถามกับความสามารถ ก่อนจะย้อนกลับไปโทษตัวเอง มองหาฮาวทูว่า จะทำยังไงให้เก่งขึ้น ลอง ‘Step Back’ ย้อนกลับมาทบทวนว่า เราไม่เก่งพอ เก่งได้แค่นี้จริงๆ รึเปล่า?
รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อในเกมของ Gashlighter คุณค่าชีวิตเราไม่ได้ผูกติดอยู่กับคำพูดคนอื่น Be kind of yourself ใจดีกับตัวเองให้เยอะๆ อย่าเอาคำพูดของพวกเขามากดตัวเราเลยนะ
Sources: https://bit.ly/3bvwJvs
https://bit.ly/3I8A281
https://bit.ly/3R5WUtg
https://bit.ly/3OzDwTK