งานทอล์กครั้งที่สามของเพจ Future Trends ที่มาพร้อมกับเรื่องของ Storytelling ศาสตร์ของเราเล่าเรื่อง
ทุกวันนี้เราได้เห็นคอนเทนต์ต่างๆมากมายในหนึ่งวัน ตั้งแต่ในหน้าข่าว บนฟีดส์ Facecook แฮชแท็ก Twitter และในหนังสือที่เราอ่าน ในขณะที่มีคอนเทนต์เกิดขึ้นมากมาย คอนเทนต์บางอย่าง หรือเรื่องเล่าจากคนบางคนนั้นกลับโดดเด่นขึ้นมา
เราจะทำอย่างไรจึงจะเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ มีเสน่ห์ และทำให้ผู้คนติดตาม
งานเสวนาในครั้งนี้เราก็ได้ร่วมพูดคุยกับ 2 สุดยอดนักเล่าเรื่องจาก 2 เพจดัง
- คุณณัฐกร เวียงอินทร์ บรรณาธิการ The People
- คุณกวิน ศิริ เจ้าของเพจ นวล
บอกเล่าเรื่องราวของ Storytelling การหาสไตล์ในการเล่าเรื่อง และการเลือกหยิบเรื่องขึ้นมาเล่า มาร่วมเรียนรู้เรื่องของ Storytelling ไปด้วยกัน
Storytelling คืออะไร?
ในมุมของคุณกวิน Storytelling นั้นคือสิ่งปกติธรรมดาในชีวิตเรา คือเรื่องเล่าที่เราได้เจอ เราดูหนัง ดูซีรี่ส์ เราเรียนเราฟังสิ่งที่ครูเล่า หรือแม้กระทั่งการดูฟุตบอล เราก็ไม่ได้ดูแค่การแข่งขัน แต่เรากำลังดูเรื่องราวของทีมที่แข่งขัน และมีเหตุผลของตัวเองที่เลือกว่าจะเชียร์ทีมไหน จากมุมนนี้ Storytelling ก็คือเรื่องเล่าที่อยู่รอบตัวเรา
ในขณะที่คุณก็อป ซึ่งเป็นคนทำงานสื่อ ก็ได้นำเสนอภาพของการเล่าเรื่องที่กว้างขึ้น ในขณะที่ Storytelling คือเรื่องเล่าที่อยู่รอบตัวเรานั้น เรื่องเล่าก็ยังมีแตกต่างกันออกไปในสื่อ ใน Publisher ที่ต่างกัน
สิ่งที่แตกต่างกันนี้คือคาแรคเตอร์ที่ต่างกันออกไปในแต่ละสื่อ ปัจจุบันคอนเทนต์ส่วนมากก็มาอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งคอนในโลกออนไลน์นี้ก็สามารถแบ่งได้อย่างกว้างออกเป็น 2 ลักษณะ
- Seasonal Content – เรียกอีกอย่างได้ว่าคอนเทนต์ตามกระแส คอนเทนต์เหล่านี้ก็คือสิ่งที่เราคุยกันในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองที่ร้อนแรงในขณะนี้ การระบาดของ Covid-19 หรือที่ผ่านมาเช่นพี่ตูนวิ่ง หรือทีมหมูป่า ก็ล้วนเป็น Seasonal Content ทั้งนั้น คอนเทนต์ประเภทนี้จะแข่งขันกันด้วยความเร็ว และสามารถได้ยอดผู้อ่านจำนวนมากในเวลาไม่นาน แต่ยอดเหล่านั้นก็จะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน เมื่อเรื่องเหล่านั้นหลุดจากกระแส
- Evergreen Content – คือคอนเทนต์ที่ไม่ได้อยู่ในกระแส แต่อ่านได้เรื่อยๆ เป็นคอนเทนต์ที่ไม่ได้เกาะอิงกับกระเเสอะไร คอนเทนต์เหล่านี้จะไม่ได้ทำยอดได้อย่างรวดเร็ว แต่จะมียอดที่คงที่กว่า และยังมีคนเข้ามาอ่านได้เรื่อยๆ เช่นคอนเทนต์เรื่องรถ เรื่องโรค เรื่องการพัฒนาตัวเอง ที่อาจไม่ใช่เรื่องฮอตฮิทติดกระแส แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่คนจะยังเสิร์จหา ต่อให้เวลาผ่านไปแล้ว
แต่ในความเป็นจริง บางครั้ง Evergreen Content ก็สามารถกลายมาเป็น Seasonal Content ได้ในช่วงเวลาหนึ่ง เช่นบทสัมภาษณ์ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และทิม พิธา ก็มีคนอ่านสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในวันที่มีข่าวยุบพรรคอนาคตใหม่
สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญใน Storytelling ก็คือการหาคาแรคเตอร์ หรือตัวตนที่คนจดจำคุณได้ว่าคุณเล่าเรื่องในรูปแบบไหน และเรื่องเล่าแบบไหนที่คุณจะเล่าได้ดีที่สุด
การหาสไตล์ของทั้งสองคนเป็นอย่างไร?
ตั้งแต่เริ่มต้นเพจนวล คุณกวินเล่าว่า มันไม่ได้มาจากการออกแบบ และมันไม่ได้ถูกเตรียมมาให้มันโตขึ้นมาเป็นเพจอย่างที่เป็นในปัจจุบัน ทุกอย่างเป็นเหมือนเรื่องบังเอิญ ที่เริ่มต้นมาจากที่ช่วงทำวิทยานิพนธ์ คุณกวินไม่มีโอกาสได้วาดรูปเลย และอยากวาดการ์ตูนมากๆ เมื่อมีโอกาสเขาก็หยิบสิ่งที่ใกล้ตัวละคุ้นเคยมาวาดเป็นการ์ตูน นั่นคือหมาของคุณตา นวลนั่นเอง
ขณะที่การออกแบบคอนเทนต์ อาจมักมุ่งเน้นกับยอด หรือตัวเลขที่ได้กลับมา แต่คุณกวินมองว่านวลคือเรื่องเล่าที่เป็นส่วนตัวของเขามาก เป็นกระจกสะท้อนตัวเอง และบางครั้งมันก็ทำให้เขาเลือกที่จะไม่ทำในสิ่งที่อาจจะ Viral อาจจะได้ยอด แต่ทำในสิ่งที่เขาอยากทำจริง คุณกวินยกเคสของเขาว่านี่คือสิ่งที่ไม่น่าเลียนแบบ แต่เรื่องเล่าอันเป็นส่วนตัวนี้เอง อาจเป็นสิ่งที่ทำให้นวลมีเสน่ห์ และมีสไตล์ของตัวเองอย่างชัดเจนก็เป็นได้
ในการเล่าเรื่องทุกคนนั้นต่างมีแนวทางที่ต่างกัน ส่วนตัวคุณกวินเองหากต้องทำในสิ่งที่ขัดกับแนวทางของเขา เขาเองก็จะไม่อยากทำ สุดท้ายแล้วการเล่าเรื่องก็ไม่ใช่สมการที่เมื่อแทนค่าแล้วทุกคนจะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน แต่ทุกคนจะต้องหาสไตล์และแนวทางของตัวเอง
แน่นอนว่าแนวคิดอย่าง Seasonal/Evergreen Content และวิธีการออกแบบเพื่อสร้างยอด เป็นแค่วิธีคิดพื้นฐานของการทำ Story Telling ซึ่งเราทุกคนต่างก็ต้องนำไปต่อยอดด้วยสไตล์ของตัวเอง
ในจุดนี้ คุณก๊อป ก็บอกว่าคอนเทนต์ของเรานั้นเองที่จะเป็นตัวสะท้อนว่าเราเป็นคนแบบไหน และการต้องทำคอนเทนต์ที่ไม่เข้ากับตัวเองนั้น ก็อาจหมายถึงการได้คอนเทนต์ที่ไม่นัก
ส่วนตัวคุณก๊อปเองเป็นนักเขียนที่ถนัดงานเขียนเชิงให้ข้อมูล ซึ่งเป็นงานเขียนขนาดยาว ในขณะที่คนมองกันอยู่ว่าการอ่านออนไลน์ มีพฤติกรรมการอ่านอะไรสั้นๆมากกว่า แต่ในจุดหนึ่งเมื่อคนไม่อ่านอะไรบนกระดาษแล้ว คนก็เริ่มอยากอ่านอะไรที่ยาวขึ้นบนออนไลน์
จากจุดนี้จึงเกิดการออกแบบว่าจะสู้กับคนที่เขียนคอนเทนต์ยาวคนอื่นๆอย่าง ลงทุนแมน, The Matter หรือ วิเคราะห์บอลจริงจัง ที่มาก่อนอย่างไร ซึ่งทำให้เขาก็ต้องหาลายเซ็นของตัวเอง ที่คนอ่านจะจดจำได้ จึงกลายมาเป็นชื่อง่ายๆอย่าง The People
ด้วยการพลิกสไตล์ของคอนเทนต์ จากการที่เคยเป็นคนทำสื่อที่เริ่มต้นสมการด้วย What When Where Why How มาสู่การเป็น The People ที่เปลี่ยนสมการการคิดคอนเทนต์โดยเริ่มจาก Who
เพราะที่จริง Who นั้นก็เป็นสิ่งที่อยู่ในทุกเรื่องราวเช่นกัน พี่ตูนวิ่ง วง BNK48 หรือทีมหมูป่า ทุกสิ่งเหล่านี้คือ Who ทั้งนั้น จึงกลายมาเป็นคอนเทนต์ของ The People เรื่องราวที่เริ่มด้วยคน
การค้นหาตัวตนของตัวเองในการเล่าเรื่อง
ทุกวันนี้ ในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรือ Instagram ผู้อ่านหรือคนที่ติดตามนั้นมักจะคาดหวังให้คนทำเพจ รักษาคาแรคเตอร์ของตัวเองไว้ เเละรักษาความเป็นตัวตนนั้นๆไว้เสมอ แต่ในความเป็นจริง คุณกวินเองก็บอกว่าเขานั้นไม่เหมือนนวล เขาไม่ใช่คนกวนประสาท หรือปากจัดเหมือนนวล แต่ในเวลาเดียวกันนวลก็คือตัวตนที่เขายินดีจะเป็น
การหาตัวตนในการเล่าเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องของการใส่ความเป็นตัวเองลงไปเสียทั้งหมด แต่คือการหาตัวตนที่ใช้ในการเล่าเรื่องได้ และเราโอเคที่จะเป็นตัวตนนั้น เช่นในวันนี้ที่คุณกวินเองก็ยังโอเคกับการรับบทนวลต่อไป ซึ่งบางครั้งมันก็เหมือนว่านวลคือเขาในฉบับที่ปากจัดขึ้นเท่านั้นเอง
ในทางกลับกัน การพยายามไปเป็นในสิ่งอื่นที่เราเป็นไม่ได้ หรือไม่โอเคที่จะเป็น เช่นหากกระแสบิวตี้บล็อกเกอร์มาแรง บางคนอาจเป็นบิวตี้บล๊อกเกอร์ได้ และยังเป็นต่อไปได้เรื่อยๆ แต่บางคนอาจแต่งหน้าไม่เป็น ไม่สนใจเครื่องสำอางค์ เขาอาจรักษาตัวตนเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์บนออนไลน์ไว้ได้พักหนึ่ง แต่สุดท้ายก็คงเป็นไม่ได้นาน
การเลือกตัวตนในการเล่าเรื่องนั้นก็เหมือนกับการเลือกบทที่เราจะแสดง มันมีทั้งหมดบทที่เราแสดงได้ และเเสดงไม่ได้ และก็ยังมีบทที่เราแสดงได้ แต่เราไม่ได้อยากจะทำ ฉะนั้นแล้วการหาตัวตนในการเล่าเรื่อง ก็คือการเลือกตัวตนที่คุณยินดีที่จะรับบทนั้น และทำคอนเทนต์ออกมาเรื่อยๆเท่านั้นเอง
ในฝั่งคุณก๊อป The People เองก็มีตัวตนในการเล่าเรื่องที่ชัดเจน คอนเซ็ปของพวกเขาคือ “ทุกคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง”
แต่ The People ก็เป็นสื่อทีมีคนเขียนคอนเทนต์อยู่ประมาณ 5 คน ทำให้ในการสร้างวิธีการเล่าเรื่องของพวกเขาจึงต้องมีการออกแบบที่ทำให้ทุกคนสามารถทำงานถนัดของตัวเองได้ในชื่อเดียวกัน
ในตอนเริ่มต้นก่อนจะฟอร์มทีม The People ขึ้นมา คุณก๊อปก็ใช้วิธี ให้นักเขียนแต่ละคนในทีมไปทำการบ้านว่า “10 คนแรกที่อยากจะเล่าคือใคร” จากจุดนั้นทำให้มองเห็นภาพรวมได้ว่า แต่ละคนนั้นสนใจคนในกลุ่มไหน และจัดให้นักเขียนเขียนคนในหมวดของเขา คนหนึ่งเล่าเรื่องคนประวัติศาสตร์ อีกคนเล่าเรื่องคนทำธุรกิจ อีกคนทำเรื่องคนภาพยนตร์ และอีกคนทำเรื่องคนในวงการดนตรี
หลังจากจัดการฟอร์มทีมขึ้นมาได้แล้ว ทำให้แม้ในการทำงานแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไป มีสไตล์ มีรูปแบบของตัวเอง แต่ในภาพใหญ่ทุกคนต่างก็เล่าเรื่องคน เป็น The People ด้วยกัน
จะเลือกเรื่องมาเล่าอย่างไร
ในทุกสำนักล้วนจะมีห่านทองคำของตัวเอง ห่านที่ว่านี้แตกต่างกันไปในแต่ละที่ และบางทีก็อาจมีห่านที่ว่านี้มากกว่าหนึ่งตัว
ห่านทองคำ ที่ว่านี้คือคอนเทนต์ที่สามารถสร้างยอด สามารถการันตีคนอ่านได้เมื่อเขียน การเจอห่านทองคำ จะช่วยให้ผู้เล่าสามารถรู้ได้ว่า ถ้าเล่าเรื่องไหนแล้วจะมีคนอ่านแน่นอน
สำหรับ The People คุณก๊อปเรียกห่านทองคำของเขาว่า “ไพ่ในมือ” เป็นรูปแบบของคอนเทนต์ที่เขามีความมั่นใจว่าจะมีคนอ่านแน่นอน และสามารถหยิบออกมาใช้ได้เมื่อไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี
ซึ่ง The People ในตอนนี้ก็มีไพ่ในมือประมาณ 4 ใบด้วยกัน ซึ่งเป็นแนวของคอนเทนต์ที่มีคนอ่านจำนวนมากในเว็บไซต์ The People
- From Zero to Hero – เรื่องราวของคนสู้ชีวิตที่ปั้นตัวเองขึ้นมาจากที่ไม่มีอะไรจนประสบความสำเร็จ
- 90’s – เนื่องจากฐานคนอ่านที่ดูจากหลังบ้านของ The People นั้นส่วนมากอยู่ในช่วงอายุที่เติบโตในช่วงปี 90’s ฉะนั้นหากเขียนเรื่องที่เจากลุ่มคนเหล่านี้แล้ว จะมีคนอ่านแน่นอน
- ร่วมสมัย – เรื่่องราวของคนรักแมว คนรักหมา โรคซึมเศร้า และอื่นๆที่ให้ความรู้สึกถึงความร่วมสมัย ความใกล้ชิดกับแนวคิดไอเดีย หรือมีส่วนร่วมบางอย่างกับเรื่องของคนที่เล่า
- สังคมสงเคราะห์ – คอนเทนต์เกี่ยวกับคนช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นร้านข้าวแกงที่ให้ทุนนักศึษาในมธ ไปจนถึงเจ๊จง ร้านข้าวหมูทอดขาวดีที่แจกกับข้าวให้ลูกค้าฟรี และอื่นๆ
หากเป็นเพจอื่น หรือเว็บไซต์อื่น ห่านทองคำ และการ์ดที่จะใช้เล่นนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งสำคัญในการจะเลือกเรื่องมาเล่า คือการเรียนรู้กลุ่มผู้อ่านของตัวเอง และค้นหาห่านทองคำของเราให้ได้
ซึ่งคุณกวินก็ได้ช่วยเข้ามาอธิบายถึงเหตุผลที่บางครั้งมันเหมือนมีโครงสร้าง มีรูปแบบบางอย่างที่จะช่วยกำหนดได้ว่าคอนเทนต์ไหนจะเป็นที่นิยม คอนเทนต์ไหนจะมีคนอ่านเยอะ หากอธิบายอย่างง่ายๆ การ์ดต่างๆที่ว่ามานี้ ก็คือ Story Arc หรือองค์ประกอบเรื่องในรูปแบบที่เราคุ้นเคย
แต่ลงลึกไป คุณกวินก็ได้ยกงานวิจัยเมื่อประมาณปี 2010 เกี่ยวกับรูปแบบและวิธีการพาดหัว ซึ่งตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์ Newyork Times ว่าต้องพาดหัวบทความอย่างไร ให้ได้ผลที่ไวรัลที่สุด
การวิจัยนี้ก็จะเล่าถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการปรับพาดหัวให้เกิดอารมณ์ต่างๆ เพื่อดูว่าอารมณ์แบบไหนจะทำให้คนแชร์เยอะที่สุด ซึ่งอารมณ์ที่ส่งผลให้คนแชร์ได้มากที่สุด คือพาดหัวที่ส่งผลให้เกิดความรู้สึกโกรธ
อย่างไรก็ตาม นี่ก็ยังเป็นงานวิจัยของโลกตะวันตก ซึ่งมีบางส่วนที่อาจจะดูต่างไปจากประเทศเรา เช่นในงานวิจัยนี้ บอกว่าคนจะไม่ค่อยแชร์พาดหัวที่ทำให้เกิดอารมณ์เศร้า
ในขณะที่เราอาจสงสัยว่าในประเทศไทย เรื่องเศร้าคนก็แชร์กันมากมาย ในส่วนนี้ตัวคุณกวินเองก็คาดเดาว่ามันอาจจะมาจากการที่คนไทยเรา ไม่ได้รับรู้เรื่องเศร้าด้วยความรู้สึกเศร้า แต่ด้วยความรู้สึกโกรธ โกรธที่เห็นคนอื่นต้องเจอเรื่องแย่ๆ โกรธที่คนอื่นมีเรื่องราวที่รันทด
ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ก็บอกกับเราว่า แม้เราจะเชื่อว่าคนแต่ละคนมีรสนิยมไม่เหมือนกัน แต่ในทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัยต่างๆก็พิสูจน์ได้ว่ายังมีโครงสร้างบางอย่างที่ทำให้เราสามารถออกแบบเรื่องเล่า และเนื้อหาต่างๆ ให้สอดรับกับวิธีการที่สมองของมนุษย์จะรับเรื่องราวต่างๆได้
แน่นอนว่าการมองเช่นนี้อาจจะทำให้เสน่ห์ของ Storytelling ลดน้อยลงไป แต่เราอาจมองได้ว่ามันคือการออกแบบเพื่อตอบสนองต่ออัลกอริธึมในสมองคน เหมือนที่ทุกวันนี้เราออกแบบคอนเทนต์ เพื่อตอบสนองต่ออัลกอริธึมของ Facebook ก็ได้
สุดท้ายแล้ว การเล่าเรื่อง การทำคอนเทนต์ และ Storytelling ก็ยังเป็นศาสตร์ที่เรายังศึกษาได้อีกมากมาย งานทอล์กครั้งนี้ได้นำประสบการณ์ของผู้ที่อยู่ในวงการมาบอกเล่าเรื่องราวในการทำ Storytelling ซึ่งแตกต่างกันออกไปในทั้งสองคน
เราก็หวังว่างาน Future Talk ในครั้งนี้จะให้ประโยชน์กับคุณดังที่เราตั้งใจไว้ และพับกันใหม่ในงาน Future Talk ครั้งต่อไป