ว่ากันว่าสิ่งที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากเผ่าพันธุ์อื่นบนโลกใบนี้ คือความสามารถในการจินตนาการ มีงานวิจัยมากมายที่ช่วยยืนยันว่าสัตว์ไม่น่าจะมีความสามารถในการคิดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงได้
ทำให้สัตว์ไม่มีชุดความเชื่อ ไม่มีศาสนา ไม่มีการสร้างวัฒนธรรม และไม่อาจสร้างวิทยาการขึ้นมาได้
แต่มนุษย์นั้นต่างออกไป สังคมของเราวิวัฒนาการขึ้นมาจากการใฝ่ฝัน ตั้งแต่การสร้างระบบสังคมที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตที่ดีร่วมกันได้ ความสามารถในการเดินทางไปให้ไกลกว่าที่เคยไป ท่องไปในท้องทะเล จนถึงการโบยบินสู่ฟากฟ้า และอวกาศอันเป็นพรมแดนสุดท้าย มาจนถึงวันนี้ที่วิทยาการทำให้เราแตกต่างห่างไกลจากสิ่งมีชีวิตอื่นที่เรารู้จักโดยสมบูรณ์ ทุกอย่างล้วนเริ่มต้นจากการใฝ่ฝัน
[บทถัดไปของอินเทอร์เน็ต]
อินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงโลกของเราในทุกวันนี้ เคยเป็นดังฝันที่ไกลเกินเอื้อมของอดีต แต่ในวันนี้มันกลับกลายเป็นเพียงชีวิตประจำวันปกติของพวกเราทุกคน
แต่ในขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็ได้กลายมาเป็นความคุ้นชิน เป็นความปกติที่พวกเราคุ้นเคย จนเป็นเรื่องยากที่เราจะมองเห็นอนาคตที่ต่างออกไปจากปัจจุบันนี้ แต่สิ่งที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ คือสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่อินเทอร์เน็ต
“I believe the metaverse is the next chapter for the internet.” – Mark Zuckerberg
(ผมเชื่อว่าเมตาเวิร์สคือบทถัดไปของอินเทอร์เน็ต)
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของเขาต่อเมตาเวิร์สไว้ในงาน Connect 2021 พร้อมกับการประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Meta บริษัทที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยี Metaverse
Metaverse คือชื่อเรียกคอนเซปของโลกดิจิทัล ที่ผู้คนสามารถปฎิสัมพันธ์กับมันได้เหมือนโลกความเป็นจริง ในวันนี้อินเตอร์เน็ตที่เราใช้ปรากฎอยู่แค่บนหน้าจอเท่านั้น แต่ Metaverse คือการสร้างโลกอีกใบขึ้นมาด้วยดิจิทัล (หรือใครอาจพูดว่ามันคือ Digital World ก็ได้)
หากเราเปรียบว่าอินเทอร์เน็ตที่เราเห็นในทุกวันนี้ปรากฎขึ้นใน 2 มิติ (บนหน้าจอเท่านั้น) Metaverse คือการนำสิ่งเหล่านั้นมาปรากฎใน 3 มิติ (สร้างโลกเสมือนขึ้นมา)
[เมื่อมนุษย์ใฝ่ฝันถึงโลกอีกใบ]
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Metaverse ถูกพูดถึง และหากให้ย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้นจริง ๆ Metaverse คือจินตนาการของ นีล สตีเวนสัน นักเขียนไซไฟผู้ได้รับรางวัล Hugo Award (รางวัลนี้ถูกยกให้เป็นรางวัลออสการ์ของนักเขียนไซไฟ) และรางวัล Prometheus Award
ในนิยายเรื่องแรกที่สร้างชื่อให้กับเขา Snow Crash ซึ่งถูกตีพิมพ์ออกมาในปี 1992 เขาได้เขียนถึงโลกอนาคตที่ผู้คนสามารถพบปะกันได้ในโลกเสมือนซึ่งสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Metaverse และนั่นคือที่มาของคำๆ นี้
แต่ก็ไม่ได้มีแค่นีล สตีเวนสันที่จินตนาการว่ามนุษย์จะสามารถสร้างโลกอีกใบขึ้นมาได้ด้วยเทคโนโลยี มีงานอีกมากมายที่จินตนาการถึงการที่เทคโนโลยีได้สร้างโลกใบใหม่ขึ้นมา
แม้แต่ก่อนหน้าที่นีลจะเขียน Snow Crash ขึ้นมา ก็มี Neuromancer (1984) งานเขียนของ วิลเลียม กิบสัน ที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานเขียนของนีลออกมาแล้ว โดยโลกดิจิทัลที่เขียนไว้ในงานชิ้นนี้ถูกเรียกว่า Cyberspace
หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นโลกดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมามากมาย ในหลากหลายคอนเซป ทั้ง เกมออนไลน์อย่าง .hack และงานที่คนรุ่นใหม่น่าจะคุ้นเคยกันมากขึ้นอย่าง Sword Art Online หรือ Log Horizon หรือโลกที่เกิดขึ้นมาเองจากข้อมูลดิจิทัล อย่าง Digital World ในซีรีส์ Digimon ไปจนถึงงานเขียนที่พยายามวาดภาพโลกดิจิทัลที่ใกล้กับความเป็นจริง และตั้งอยู่ในอนาคตอันใกล้มากขึ้น อย่าง Ready Player One
นอกจากนี้แนวคิดของโลกดิจิทัลอย่าง Metaverse ก็ยังก่อให้เกิดคำถามที่ท้าทาย เช่น “หากเราสร้างโลกเสมือนที่เหมือนจริงมากได้ เราจะแยกโลกเสมือนและโลกจริงออกไหม” ไปจนถึง “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโลกที่เราอยู่นี้ไม่ใช่โลกเสมือนอยู่แล้ว”
คำถามเช่นนี้เองที่สร้างให้เกิดงานอันโด่งดังอย่าง The Matrix ที่บอกว่ามนุษย์เราอาจจะกำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
[โลกภายนอกมันถูกให้ค่ามากเกินไป – Outside is overrated]
อีกหนึ่งคำถามที่กลายเป็นที่กังวล นอกเหนือจากคำถามที่ดูห่างไกลอย่าง “เราจะแยกโลกเสมือนและโลกจริงออกไหม” และ “เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโลกที่เราอยู่นี้ไม่ใช่โลกเสมือนอยู่แล้ว”
คือคำถามที่ว่า “เราจะเลือกโลกเสมือนมากกว่าโลกความจริงไหม”
มีงานหลายชิ้นที่พยายามนำเสนอแนวคิดนี้ แต่ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้น Ready Player One ในโลกที่เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมเลวร้ายยิ่งกว่าปัจจุบันเป็นอย่างมาก ผู้คนใช้เวลาแทบทั้งหมดไปกับ Oasis โลกเสมือนที่ผู้คนเข้าถึงได้ผ่าน VR
ในโลกของ Ready Player One ผู้คนไม่สนใจโลกภายนอกที่ย่ำแย่ และปล่อยให้มันเสื่อมโทรมลงไปอีกจากความไม่ใส่ใจ สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขากลับกลายเป็นโลกเสมือนที่อยู่บนออนไลน์ ผู้คนทำงาน ใช้ชีวิต มีปฎิสัมพันธ์กันอยู่ในนั้น และความสำคัญของโลกความเป็นจริงก็ยิ่งลดลงเรื่อย ๆ
ความกังวลและความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นต่อไปของมนุษย์ หากเทคโนโลยีสร้างโลกใหม่ให้เราได้จริง ๆ คือเราจะรักษาโลกเดิมของเราไว้อย่างไร และผู้คนจะยังใส่ใจมันอยู่ไหม
หรือเราจะได้เห็นคนทั่วโลกกลายเป็นคนเก็บตัว และหันไปบอกกับคนอื่นว่า “โลกภายนอกมันถูกให้ค่ามากเกินไป” (Outside is overrated)
[จากจินตนาการอันห่างไกล…]
คงจะเป็นเวลาอีกหลายปี ก่อนที่เราจะได้เห็น Metaverse ที่ล้ำหน้าอย่างที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ได้ขายฝันเอาไว้ แต่อย่างน้อยเราก็มั่นใจว่าอนาคตที่ว่านี้จะมาถึงอย่างแน่นอน
อีกหนึ่งความใฝ่ฝันอันห่างไกลของมนุษย์กำลังใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จากจินตนาการของชายคนหนึ่ง สู่แรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย และในวันนี้จินตนาการนั้นกำลังจะเเปรเปลี่ยนเป็นความจริง
ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าจินตนาการคือสิ่งที่ขับเคลื่อนอารยธรรม และวิทยาการของมนุษย์ และแม้ในวันนี้อาจมีบางสิ่งที่เป็นไปได้แค่ฝันเฟื่อง ก็ขอให้เราทุกคนอย่าหยุดที่จะใฝ่ฝัน เพราะโดยไม่รู้ตัว เราอาจกำลังวาดภาพอนาคตของมนุษยชาติอยู่ก็เป็นได้