คงไม่ใช่เรื่องดี หากเราถูกปฏิบัติอย่างแตกต่าง หรือถูกมองด้วยอคติ เพียงเพราะความเป็นตัวเอง
ความเป็นตัวเองที่ว่านี้ก็เป็นได้ตั้งแต่เรื่องของชาติพันธุ์ ว่าคุณมีพื้นเพมาจากที่ใด วัฒนธรรมที่คุณมี สิ่งที่คุณเชื่อ พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม ความบกพร่องทางร่างกาย สีผิว ไปจนถึงเพศสภาพ
ในอดีตที่ผ่านมาผู้คนมากมายถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะคุณลักษณะบางอย่างที่ไม่เหมือนคนหมู่มากแต่เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ในวันนี้สังคมต่างเห็นด้วยมากขึ้นว่า การเลือกปฏิบัติเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า เราจะทำอย่างไรให้สังคมเปิดรับความหลากหลายได้อย่างแท้จริง
“ไม่ว่าคุณจะมีชาติพันธุ์ใด วัฒนธรรมแบบไหน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร ร่างกายบกพร่องหรือไม่ หรือมีเพศสภาพใด เราทุกคนต่างก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม”
นี่คือหัวใจของ ‘Diversity and Inclusion’ ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ทั้งในสังคม ในสถาบันการศึกษา ในครอบครัว รวมถึงในภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันธุรกิจให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในองค์กร (Business Human Rights) และพยายามสร้างองค์กรที่ยอมรับตัวตน และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมให้ได้มากขึ้น
ทำไม ‘Diversity and Inclusion’ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟัง
‘Diversity and Inclusion’ เมื่อโลกยุคใหม่บอกว่าการเป็นตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด
การเปิดรับในความหลากหลาย และไม่ตัดสินใครจากสิ่งที่เขาเป็น ได้กลายมาเป็นวาระสำคัญอย่างหนึ่งของโลก ที่ทำให้เราได้เห็นประเด็นต่างๆ มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นกระแส Black Lives Matter ที่ผู้คนออกมาประณามการเหยียดผิว ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในบางกลุ่มคน ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
รวมไปถึงเทศกาล Pride ที่เน้นย้ำถึงการยอมรับตัวเองและความหลากหลายทางเพศ ที่ถูกจัดอย่างต่อเนื่องทุกปี นับตั้งแต่ปี 1969 จากพาเหรดที่เริ่มต้นในบาร์แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก และเติบโตจนกลายมาเป็นเทศกาลที่ผู้คนทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองให้แก่ความหลากหลายและตัวตนของทุกคน
ในวันนี้สังคมเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าความหลากหลายที่มีอยู่ในนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องกีดกันแต่ต้องเปิดกว้างและยอมรับ
และสำหรับธุรกิจในโลกยุคใหม่ ‘Diversity and Inclusion’ จึงเป็นเรื่องของการยอมรับ และมองเห็นคุณค่าของความแตกต่างของพนักงานทุกคนภายในองค์กร จะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือทำให้พนักงานรู้สึกแปลกแยก
‘Diversity and Inclusion’ สำคัญกับองค์กรยุคใหม่อย่างไร เมื่อ ‘ตัวตน’ ที่หลากหลายเป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจ
งานวิจัยจากสถาบัน Mckinsey ในปี 2015 พบว่าองค์กรที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติและชาติพันธุ์สูง มีผลประกอบการที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยขององค์กรในอุตสาหกรรมเดียวกันถึง 35%
และองค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศสูง มีผลประกอบการที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยขององค์กรในอุตสาหกรรมเดียวกัน 15%
โดยตัวเลขเหล่านี้ก็คือการวิเคราะห์จากสถิติขององค์กรกว่า 180 แห่งเหตุผลว่าทำไมองค์กรที่เปิดกว้างและมีความหลากหลายถึงมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะมีปัจจัยเบื้องหลังที่สนับสนุนอยู่คือ
1. องค์กรที่มีความหลากหลายมีความสร้างสรรค์มากกว่า
ในความหลากหลายที่มีอยู่ ทั้งวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เพศ สภาพร่างกาย ไปจนถึงอายุ ต่างนำมาซึ่งมุมมองที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์
องค์กรที่ขาดความหลากหลายนั้น ยากที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ผู้คนอย่างกว้างขวางได้ เช่น องค์กรที่ขาดคนรุ่นใหม่อาจประสบปัญหาในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง หรือออฟฟิศที่ไม่มีพนักงานเป็นผู้บกพร่องทางกายภาพ อาจไม่ได้นึกถึงการออกแบบสถานที่ที่เป็น Universal Design
2. การเปิดกว้าง และยอมรับในตัวตน คือวิธีที่จะรักษาคนไว้ในองค์กร
หนึ่งในปัญหาดั้งเดิมที่องค์กรต่างๆ ต้องเจอ คือพนักงานรู้สึกว่าตนเองถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม เพียงเพราะพวกเขาต่างจากคนอื่น
เมื่อเจอปัญหานี้ ‘Diversity and Inclusion’ จึงเป็นเรื่องของการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีสำหรับทุกคน และสร้างพื้นที่ในการทำงานที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัยในการเป็นตัวเอง โดยไม่ถูกตัดสิน หรือเลือกปฏิบัติจากใคร
และไม่ใช่แค่การรักษาคนไว้ แต่การเปิดกว้างและยอมรับในตัวตนของแต่ละคนยังช่วยดึงดูดคนใหม่ๆ เข้ามาในองค์กรได้อีกด้วย
3. องค์กรที่มีความหลากหลายมีภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นที่ยอมรับ
การมีนโยบายด้านความหลากหลายในองค์กรไม่เพียงช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในองค์กร อย่าง การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการเลือกปฏิบัติ เพราะพนักงานในองค์กรต่างก็ยึดถือและโอบรับความหลากหลายเป็น Core Value
ธุรกิจต้องทำอย่างไรไม่ให้หลงลืม ‘Diversity and Inclusion’
บางครั้ง เพียงปัจจัยเล็กๆ สามารถนำไปสู่การเลือกปฏิบัติอย่างไม่ตั้งใจ เช่น การตัดสิน Candidate จากภาพถ่ายในใบสมัครงาน หรือตัดสินว่าพนักงงานที่อายุมากจะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นได้ไม่ดีเท่าพนักงานรุ่นใหม่
องค์กรต่างๆ ต้องคอยเตือนตัวเองถึงรากฐานของ ‘Diversity and Inclusion’ เราขอหยิบยก “3 มุมมอง ต่อการบริหารความหลากหลาย” (Three Paradigm of Diversity Management) ที่เขียนขึ้นโดยศาสตราจารย์ โรบิน เจ. เอลี่ (Robin J. Ely) จาก Harvard Business School มาอธิบาย ดังนี้
1. การเลือกปฏิบัติและความเป็นธรรม (The Discrimination-and-Fairness Paradigm)
หลายครั้งองค์กรพยายามบริหารจัดการความหลากหลายในองค์กรผ่าน ‘ตัวเลข’ ด้วยการจัดสัดส่วนให้กับพนักงานที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายต่างๆ เช่นการตั้งเป้าว่าจะจ้างพนักงานชาย-หญิงให้อยู่ในสัดส่วนที่เท่ากัน หรือการจ้างงานคนพิการ และอื่นๆ แต่กระบวนการไม่ได้ช่วยให้องค์กรเข้าใจในความหลากหลายมากขึ้นแต่อย่างใด
มุมมองต่อการเลือกปฏิบัติและความเป็นธรรม ควรเกิดขึ้นผ่านการมองข้ามเพศ และองค์ประกอบภายนอกอื่นๆ ของตัวบุคคล (สีผิว, ชาติพันธุ์, วัฒนธรรม, ความเชื่อ, ฯลฯ) และพยายามมองทุกคนอย่างเท่าเทียมกันมากที่สุด
2. ความเท่าเทียมและความถูกต้อง (The Access-and-Legitimacy Paradigm)
องค์กรควรเข้าใจในความหลากหลายอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง ความหลากหลายล้วนมาพร้อมข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป เช่น สิทธิ์วันลาคลอดให้กับพนักงานหญิง
แน่นอนว่าสิทธิ์วันลาคลอดนั้นเป็นเรื่องดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีพนักงานเพศอื่นๆ นอกจากเหนือจากพนักงานหญิง ที่ต้องการสิทธิ์วันลาสำหรับการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศ (หรือที่บางคนอาจคุ้นชินว่า “ผ่าตัดแปลงเพศ”) ซึ่งเป็นความต้องการทางการแพทย์ที่สำคัญ และต้องอาศัยการพักรักษาตัวเช่นเดียวกัน
foodpanda สร้างองค์กรที่ทุกคนสามารถเป็นตัวเองได้อย่างไร
foodpanda คือตัวอย่างหนึ่งขององค์กรที่สนับสนุนการเปิดกว้างและความหลากหลาย (Diversity and Inclusion) อย่างจริงจัง ภายใต้ความเชื่อว่าตัวตนที่หลากหลายคือเบื้องหลังความสำเร็จ
ตำแหน่ง Internal Communications, Diversity and Inclusion Manager คือสิ่งหนึ่งที่แสดงให้ว่า foodpanda แตกต่างจากองค์กรอื่น
หน้าที่ของตำแหน่งนี้คือการทำให้องค์กรเข้าใจความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพศ แต่รวมถึงภาษา วัฒนธรรม สีผิว และพื้นเพของคนจากทุกพื้นถิ่น และมีการดำเนินโครงการความหลากหลาย (Diversity Program) และจัด Training Program ต่างๆ เช่น ให้ความรู้เรื่องอคติแบบไม่รู้ตัว (Unconscious Bias), เรื่องความหลากหลาย หรือการใช้สรรพนาม ไปจนถึงการดูแลเรื่องนโยบายด้านความหลากหลายใหม่ๆ และสวัสดิการที่สนับสนุนความหลากหลายในองค์กร
ทำให้ในวันนี้ foodpanda มีสวัสดิการ
– วันลาสำหรับการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศ (ผ่าตัดแปลงเพศ) เพิ่มวันลา 10 วันให้กับพนักงานข้ามเพศเพื่อการเปลี่ยนผ่านเพศสภาวะ
– โครงการผ้าอนามัยฟรีสำหรับพนักงาน (#PadsForPandas) foodpanda จัดสรรผ้า อนามัยให้ใช้ฟรีในห้องน้ำหญิง เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย หรือภาษีสีชมพู (Pink Tax)ให้กับพนักงานหญิง ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในวันที่ไม่สบายตัว
– สร้างออฟฟิศที่มีห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ (Non-Binary Toilets) เพื่อสร้างพื้นที่ปลอยภัยและสบายใจสำหรับพนักงานทุกคน
– ส่งเสริมความเข้าใจในความหลากหลายให้กับพนักงานผ่าน foodpanda Thailand Diversity Talk ที่จัดขึ้นทุกเดือน
และ foodpanda ยังใช้นโยบายในการจ้างพนักงานโดยไม่แบ่งแยก (Non-Discrimination Hiring Policy) เพื่อสร้างกระบวนการรับสมัครพนักงานที่ปฏิบัติต่อผู้สมัครทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่ให้เพศ, วัฒนธรรม, สีผิว และพื้นเพของผู้สมัครส่งผลต่อการตัดสินใจ
ทั้งหมดนี้เพราะ foodpanda เชื่อมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความหลากหลาย จึงได้สร้างองค์กรที่ทุกคนกล้าที่จะเป็น ‘ตัวเอง’