ราคาที่ ‘กาตาร์’ ต้องจ่ายในการเป็นเจ้าภาพ ‘ฟุตบอลโลก’ คืออะไร?

Share

วันนี้ (23 พฤศจิกายน) ถือเป็นวันที่ 4 ของการแข่งขันระดับโลกที่แฟนบอลรอคอยให้เวียนมาบรรจบครบวาระในรอบ 4 ปี นั่นคือ ‘FIFA World Cup 2022’ หรือ ‘ฟุตบอลโลก’ นั่นเอง

โดยประเทศที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้คือ ‘กาตาร์’ (Qatar) ที่ผ่านการคัดเลือกจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในปี 2010 เท่ากับว่า กาตาร์ใช้เวลาถึง 12 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมและรอคอยให้การแข่งขันในปี 2022 มาถึง

แต่ไม่ใช่แค่ต้นทุนทางเวลาเท่านั้นที่กาตาร์เสียไป เพราะต้นทุนทางการเงินก็เสียไปไม่น้อยเช่นกัน การปรับปรุงสาธารณูปโภค ภูมิทัศน์ และสนามแข่งใช้จำนวนเงินกว่า 2.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าจำนวนเงินที่รัสเซียเจ้าภาพในปี 2018 ใช้ไปถึง 16 เท่า ถือเป็นราคาในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์

ทำไม ‘กาตาร์’ ต้องยอมใช้เงินหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก? Future Trends จะพาทุกคนไปสำรวจเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของเกมการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกกัน

ผลประโยชน์แสนหวานในราคาแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

Image by Kerfin7 on Freepik

ถึงแม้การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกจะต้องใช้เงินจำนวนมาก เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นโอกาสทองที่ประเทศเจ้าภาพจะตักตวงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ เข้าสู่ประเทศให้ได้มากที่สุด

ผลประโยชน์ทาง ‘เศรษฐกิจ’

การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันช่วยเพิ่มโอกาสการสร้างอาชีพและการจ้างงานให้กับคนในประเทศ เมื่อผู้คนมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี การจับจ่ายใช้สอยจะคึกคักยิ่งขึ้น ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้ ประเทศเจ้าภาพยังได้รับอานิสงส์ด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะเวลาที่ผู้ชมหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ เพื่อรับชมการแข่งขันในสนามแบบเรียลไทม์ พวกเขายังมีจุดมุ่งหมายในการท่องเที่ยวและสัมผัสประสบการณ์ในต่างแดน ทำให้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากนักท่องเที่ยวไหลเข้าสู่ประเทศอย่างรวดเร็ว

ผลประโยชน์ทาง ‘ธุรกิจ’

เมื่อนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ ย่อมเกิดการจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าและบริการจากที่ต่างๆ ทำให้ผู้ค้ารายย่อยและกลุ่มธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่วงไฮซีซัน (High Season) หรือเวลาทองของการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน และตัวเลขรายได้จะแปรเปลี่ยนเป็น ‘ภาษี’ จำนวนมากที่รัฐบาลจะนำไปใช้บริหารประเทศในเวลาต่อมา

ผลประโยชน์ทาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเปรียบเสมือนการเพิ่มผลงานเข้าไปในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) นอกจากจะทำให้ประเทศเป็นที่จับตามองและถูกพูดถึงบนพื้นที่สื่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองบนเวทีโลก และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศด้วย

ดังนั้น การเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก จึงสำคัญต่อกาตาร์ที่เป็นประเทศขนาดเล็ก (กาตาร์เล็กกว่าซาอุดิอาระเบียประมาณ 200 เท่า) และถูกล้อมด้วยกลุ่มประเทศรอบอ่าวอาหรับอีกมากมาย

บทเรียนราคาแพงของ ‘กาตาร์’ และการตั้งคำถามว่าควรจัดการแข่งขันครั้งต่อไปหรือไม่?

Image by Freepik

ถึงแม้ราคาที่กาตาร์จ่ายไปเป็นตัวเงินจะมีมูลค่าหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นี่ยังไม่ใช่ราคาทั้งหมดที่กาตาร์จ่ายไป เพราะตั้งแต่กาตาร์ได้รับคัดเลือกก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความพร้อม’ มาตลอด ทำให้กาตาร์ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อสายตาชาวโลกอย่างหนัก

แต่การพิสูจน์ตัวเองของกาตาร์ กลับทำให้เกิดข้อถกเถียงและประเด็นอ่อนไหวมากมาย โดยเฉพาะสิทธิแรงงานที่มีสื่อหลายสำนักรายงานว่า คนงานต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญา และต้องทำงานในอากาศร้อนที่อันตราย รวมถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

สุดท้ายแล้ว ราคาที่ ‘กาตาร์’ จ่ายไปมากกว่ามูลค่าของตัวเงิน เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกคือ ‘ชื่อเสียง’ หรือเปล่า?

นอกจากนี้ สำนักข่าว The Economist ยังได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเงินที่แต่ละประเทศใช้ไปในการจัดการแข่งขัน โดยการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ผ่านมา 14 ครั้ง มีเพียงครั้งที่จัดในปี 2018 เท่านั้นที่สามารถทำกำไรได้ อีกทั้งหลายๆ ประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการจัดการแข่งขันอีกด้วย

ประเด็นนี้กลายเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ถ้าจัดการแข่งขันแล้วขาดทุนกับมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากมาย จะจัดการแข่งขันไปทำไม ควรนำเงินภาษีที่แบ่งสันปันส่วนเป็นงบประมาณในการจัดงาน มาใช้ในการบริหารงานที่มีประโยชน์กับคนในประเทศมากกว่าด้วยซ้ำ

ซึ่งการแข่งขันที่มีแต่จะขาดทุนและได้ไม่คุ้มเสีย ทำให้หลายๆ ประเทศเริ่มถอยทัพออกจากสนามการคัดเลือกมากขึ้น จนกลายเป็นโจทย์สุดหินของผู้จัดการแข่งขันว่าจะทำอย่างไรต่อไป?

Sources: http://bit.ly/3U1zchN

http://bit.ly/3i77pPS

http://bit.ly/3OCayU4

http://bit.ly/3VpJxFD

http://bit.ly/3i44APu