ประสบการณ์ ประสบกัน และปณิธานใหม่สำหรับผู้สูงวัย

Share

คอลัมน์ : OF-FIT สู่ชีวิตลงตัว
เขียน : ดร. เดชรัต สุขกำเนิด

ปี พ.ศ. 2536 ผมเพิ่งเป็นอาจารย์ใหม่ๆ และขึ้นเวทีอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับ โครงการคลองประปาที่จะผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งผมเป็นห่วงว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้ลุ่มน้ำแม่กลองมีศักยภาพในการพัฒนาชลประทานลดลง เพราะต้องแบ่งน้ำมาให้กรุงเทพมหานคร

พอลงจากเวที ผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานที่ร่วมดำเนินโครงการ (ซึ่งแน่นอนว่าเห็นต่างจากผม) ได้เข้ามาคุยกับผม แล้วบอกกับผมว่า

“เขาทำงานเรื่องนี้มาตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่เลย”

หรือกล่าวง่ายๆ ตามสำนวนระดับผู้บริหารประเทศในวันนี้ คือ เขาอาบน้ำร้อนมาก่อนผม นั่นเอง

ตั้งแต่วันนั้น ผมตั้งใจว่า ผมจะพยายามไม่พูดคำ/สำนวนประเภทนี้แน่นอน ไม่ว่าผมจะเห็นต่าง/เห็นแย้งกับผู้อ่อนวัยกว่า (รวมถึงลูกของผมด้วย) ผมจะพูดคุยตรงไปตรงมา ด้วยเหตุและผลของผม โดยจะไม่ยกประสบการณ์ของผมขึ้นข่มผู้อ่อนวัยกว่าเด็ดขาด

มาถึง พ.ศ. 2562 ผมกลายเป็นผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนน้องๆ หลายๆ คน ที่ทำงานร่วมกัน และใช้ชีวิตร่วมกัน (หมายถึงลูกๆ) และในความจริงแห่งสังคมที่เน้นอาวุโส ผมคงพลั้งพลาดเอาประสบการณ์ไปข่มผู้อ่อนวัยกว่าผมไปบ้าง แม้ว่าจะไม่ได้ใช้คำ/สำนวนแบบนั้นตรงๆ ก็ตาม แน่นอนว่าด้วยวัย 50 กว่าๆ ผมย่อมมีประสบการณ์มากมาย แต่หลายครั้งที่ผมมองย้อนกลับไป (และคุยกันกับลูกๆ และน้องๆ) ผมว่า ประสบการณ์หลายอย่างเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ และน่าฟัง แต่ไม่สามารถประยุกต์ใช้ (แบบตรงๆ) เช่น ในสถานการณ์ปัจจุบันได้อีกต่อไป

ตัวอย่างหนึ่งคือ ประสบการณ์การทำกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งทุกครั้งที่ผมเล่า น้องๆ ลูกๆ ก็มักจะสนใจ เพราะมันแปลกหูดี แต่ถามว่าจะนำอะไรมาใช้ได้บ้าง ก็คงไม่มากนัก เพราะบริบทต่างๆ (เช่น เครื่องโรเนียว ซาเล้ง จักรยาน เสียงตามสาย ฯลฯ) ได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว ในอดีต สังคมเปลี่ยนแปลงช้าๆ ประสบการณ์ที่เราสะสมไว้จึงสามารถนำมาใช้/ถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยากนัก แต่ในสังคมปัจจุบัน (และอนาคต) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และ (บางครั้ง) ถอนรากถอนโคน ประสบการณ์ที่สะสมไว้จึงอาจเหมาะสำหรับการรำลึกมากกว่าการประยุกต์ใช้โดยตรง

แม้กระทั่ง คำหลายคำที่เราเคยพูดกัน เช่น “ความเหงา” “เกม” หรือ “งาน” ก็มิได้มีนัยยะความหมาย และบริบทแบบเดียวกับที่ผมเคยประสบพบเจอ แล้วประสบการณ์ที่ผมเคยมีจะใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างไร

การกล่าวเช่นนี้ มิได้แปลว่า “ประสบการณ์” ที่ผมมีอยู่จะไร้ค่า แต่ประสบการณ์เหล่านั้นจะมีค่าได้ก็ต่อเมื่อมัน “ประสบกัน” กับความลงตัวของบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาคุยกันกับลูกๆ และน้องๆ ผมจึงพยายามฟังลูกๆ/น้องๆ อย่างตั้งใจ เพื่อค้นหาบริบท หรือ สิ่งที่ต้องการจะให้เกิดการ “ประสบกัน” ก่อนที่จะคิดว่า “ประสบการณ์” ของผมเรื่องใดๆ ที่จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงาน/ร่วมชีวิตบ้าง แทนที่จะเอาประสบการณ์ของผมเป็นตัวตั้งอย่างเคย

นอกจากความคุ้นเคยเรื่องบริบทร่วมสมัยแล้ว น้องๆ ลูกๆ รุ่นใหม่ยังมีความเชี่ยวชาญเรื่องไอเดียที่น่าสนใจ แหวกแนว และกล้าที่จะลองทำ แม้ว่า จะไม่มีใครเคยทำมาก่อนก็ตาม ผมพบว่า ความพยายามทำความเข้าใจเรื่อง “ประสบกัน” ระหว่าง มุมมองเดิม มุมมองใหม่ และบริบทปัจจุบันและอนาคต ให้ดีพอ ผมก็จะเห็นแนวทาง/วิธีการใหม่ๆ ที่ผมสามารถนำประสบการณ์ของผมไปร่วมแจมหรือปรับใช้ร่วมกับมุมมองใหม่ๆ ของน้องๆ ในลักษณะที่ตัวผมเองไม่เคยคิดมาก่อนได้ ในชั้นเรียน ผมจึงรู้สึกสนุกมากเวลาที่นิสิตออกแบบผลิตภัณฑ์อาหาร เพราะในกิจกรรมดังกล่าว บริบทร่วมสมัยใหม่และไอเดียล้ำสมัยของนิสิต กับประสบการณ์ที่ผมมีโอกาสทานหลายประเทศและหลายแบบ (และบางแบบหาทานได้ยากแล้วในปัจจุบัน) ได้มีโอกาสมาแจมกัน จนออกมาเป็นกิจกรรมใหม่ๆ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สนุกมาก

ประสบการณ์และประสบกันจึงเป็นของคู่กัน ที่คนต่างรุ่น/ต่างวัยต้องนำมาแบ่งปันกัน โดยไม่คิดว่า ใครมีคุณค่า/อำนาจเหนือใคร ผมจึงขอตั้งปณิธานอีกสักครั้ง ก่อนที่จะเป็นผู้สูงวัยอย่างเป็นทางการว่า ผมจะใช้ประสบการณ์เพื่อให้เกิดการประสบกันเท่านั้น ผมจะไม่ใช้ประสบการณ์ที่ผมเคยมี เพื่อกีดกันตัวผมจากประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ผมไม่เคยคาดคิดโดยเด็ดขาด