‘EV Car’ ความท้าทายของอุตสาหกรรมรถยนต์ ไทยจะอยู่จุดไหนและรับมืออย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

Share

สะเทือนวงการรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Car ในไทยไม่น้อย เมื่อบริษัท Tesla ยักษ์ใหญ่แห่งวงการผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าจดทะเบียนตั้งบริษัทลูกในไทยในชื่อ บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

กระทั่งเมื่อข่าวเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารระดับสูง กลุ่ม ปตท. พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

รวมถึงการหารือด้านความร่วมมือระหว่าง กลุ่ม ปตท. และ ฟ็อกซ์คอนน์ ในการสร้างระบบนิเวศ EV ครบวงจร และผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียน โดยมีแผนสร้างโรงงานสำหรับการรับผลิต EV Car ให้กับค่ายรถยนต์ที่สนใจทำตลาดในประเทศไทยและอาเซียน

ถือเป็นข่าวใหญ่ ซึ่งมีทั้งด้านดีและข้อควรระวังสำหรับผู้ประกอบการพอสมควร ที่ต้องปรับตัวให้ทันกับกระแสดังกล่าวนี้

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20-30 ปีก่อน ออสเตรเลียเคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับต้น ๆ ของโลก ผลิตได้ประมาณ 5 แสนคันต่อปี แต่ปัจจุบันออสเตรเลียผลิตส่งออก เหลือแค่ประมาณ 5 พันคันต่อปีเท่านั้น เนื่องจากประมาณ 20 ปีที่แล้ว มีการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ครั้งใหญ่ มายังประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการผลิตรถยนต์ ส่งผลให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เมื่อหันกลับมามองปัจจุบัน เหตุการณ์ที่เกิดกับออสเตรเลียกำลังจะเกิดซ้ำรอยในไทยหรือไม่ ? ประเทศไทยกำลังจะศูนย์เสียอำนาจด้านการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไหม ? เพราะปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้าน EV Car หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นว่า ฐานการผลิต EV Car จะย้ายไปประเทศจีน จนจีนกลายเป็นเจ้าตลาดในที่สุด

ระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ในหนึ่งปี จะมีรถยนต์ผลิตออกมาสู่ตลาดโลกประมาณ 80-100 ล้านคัน เป็น EV Car เกือบ 10 ล้านคัน และในอนาคตจะมีจำนวนมากขึ้นกว่านี้แน่นอน คำถามคือ ไทยจะได้ส่วนแบ่งการตลาด ในการเป็นผู้ผลิตด้วยไหม ?

ตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของจีน 3-4 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 0.7% เป็น 1.5% ของรถยนต์ทั้งหมดในโลก ขณะที่ประเทศไทยกลับลดลงจาก 1.5% เหลือ 1.3% หมายความว่า จีนกำลังแซงหน้าประเทศไทย แล้วไทยจะปรับตัวทันกันอย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องคิดตั้งแต่วันนี้

จีนได้ก้าวข้ามเครื่องยนต์สันดาปไปแล้ว เพราะคงรู้ว่าไม่สามารถผลิตรถยนต์สันดาปไปสู้กับเจ้าตลาดในปัจจุบันอย่างญี่ปุ่นและยุโรปได้ จึงหันมาจับทาง EV Car แทน สังเกตได้จากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนมีมากมาย ซึ่งปัจจุบัน ทั้งโลกมี EV Car ประมาณ 16 ล้านคัน จำนวน 53% หรือเกินครึ่งเป็นของจีน เป็นของยุโรปหนึ่งในสาม และของอเมริกาประมาณ 10-11% เท่านั้น

ปี 2021 ที่ผ่านมา มี EV Car ประมาณ 6 ล้านกว่าคัน ซึ่งโตขึ้นสองเท่าจากปี 2020 หมายความว่า ในปี 2021 ปีเดียว มี EV Car เป็นจำนวน 30% ของ EV Car ทั้งหมดทั่วโลก และมากขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนปี 2022 ยังไม่มีตัวเลขคาดการณ์ที่แน่นอน แต่มีการวิเคราะห์กันว่า จะมีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคัน กลายเป็นว่า สัดส่วน แตะเกือบ 10% ของรถยนต์ทั้งหมดในโลก เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่มีไม่ถึง 1% เท่านั้น หมายความว่า โตขึ้น 10 เท่า ในระยะเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้น สะท้อนว่า ทั้งโลกกำลังเดินไปตามกระแสนี้

อีกแง่หนึ่งคือ หากมองว่า ธุรกิจรถยนต์เป็น Platform เราจะเริ่มเห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ใส่เข้ามาในรถยนต์ นั่นหมายความว่า Tech Company หรือบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย กำลังจะกระโดดเข้ามาในธุรกิจยานยนต์นี้

ลองนึกดูว่า หากเจ้าใหญ่อย่าง Google หรือ Apple ออกระบบปฏิบัติการสำหรับ EV Car ซึ่งไม่แปลกที่ยักษ์ใหญ่เหล่านี้ จะกระโดดเข้ามาเล่นในตลาด เพราะมีฐานลูกค้าจำนวนมากอยู่แล้ว ดังนั้น EV Car อาจไม่ใช่เรื่องของธุรกิจรถยนต์อีกต่อไป แต่ถูกมองเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งหรือถูกมองเป็น Device เช่นเดียวกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแล็บท็อป ต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงในช่วง 3-5 ปีนี้ให้ดี เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่เพียงแค่นั้น เราได้เห็นแล้วว่า หลายประเทศออกมาประกาศว่า ภายในปี 2030-2035 รถยนต์ที่ขายใหม่ทั้งหมดในตลาดจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้า 100% ดังนั้น ผู้ประกอบการทั้งหลายต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ให้ดี อย่างไรก็ต้านทานกระแสนี้ไม่อยู่อย่างแน่นอน

ส่วนไทยนั้น หากต้องการเป็นฐานการผลิต EV Car รัฐบาลต้องสนับสนุน โดยต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ซึ่งจากการที่ ปตท. จับมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ดี แต่ถ้าถามว่า นั่นเพียงพอหรือยัง ก็ต้องดูกันต่อไป

ไทยอยู่จุดไหนและจะรับมืออย่างไรกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ ?

ย้อนกลับไปดู Ecosystem หรือระบบนิเวศของธุรกิจ EV Car แบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ 1. แบตเตอรี่2. มอเตอร์ หรือค่ายรถยนต์ 3. Infrastructure Charging 4. law and regulation กฎหรือข้อบังคับต่าง ๆ และ 5. ผู้ใช้งาน

ต้องพิจารณาว่า เราอยู่ใน Ecosystem ไหน ถ้าเราเป็นผู้ผลิต เราสามารถผลิตแบตเตอรี่ได้ไหม หรือถ้าเราเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ เราจะสามารถผลิตเองได้หรือไม่ หรือหากเราเป็นผู้ประกอบการ ก็ต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ เช่น หากเราเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า อาจจะหันมาพัฒนาทำระบบชาร์จ EV Car สำหรับติดตั้งภายในบ้าน เพื่อรองรับตลาดที่จะมีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นมหาศาล เป็นต้น

อีกแง่หนึ่ง ผมเชื่อว่า คงมีงานหลายส่วนที่โดน Disrupt ไปเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเหมือนกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ประมาณ 7-8 แสนคน ถ้า EV Car เข้ามา คำถามคือ 7-8 แสนคนนี้ จะไปไหนต่อ เป็นโจทย์ที่ใหญ่และสำคัญมาก หาก ปตท. กับ ฟ็อกซ์คอนน์ สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจ หรือภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวได้ คนเหล่านี้จะยังมีงานรองรับอยู่

ประเทศไทยน่าจะยังอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ เช่น การทำตัวถังรถ ล้อ ยาง เป็นต้น ส่วนแบตเตอรี่นั้น เป็นไปได้ ถ้าฟ็อกคอนน์มาทำในไทย แต่ก็คงต้องปรับตัวและหลายตำแหน่งงานคงหายไปค่อนข้างเยอะ

อำนาจการแข่งขันนั้น มีเรื่องของภูมิประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น อินโดนีเซีย มีประชากรประมาณ 220 ล้านคน ฟิลิปปินส์ มีประชากรประมาณ 100 ล้านคน รวมประมาณ 320 ล้านคน ซึ่งการที่ผู้ผลิตจะไปตั้งฐานการผลิตในประเทศเหล่านี้ แทนที่จะมาประเทศไทยก็ไม่แปลก เพราะอินโดนีเซียมีแร่นิกเกิลที่จำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่ เป็นต้น

คำถามคือ หากจีนต้องการขยายการผลิตไปนอกประเทศ เพื่อขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนจะไปที่ไหน ? ฉะนั้น ไทยจำเป็นต้องดึงดูดให้ผู้ผลิตต่าง ๆ ให้อยากเข้ามาในไทย ซึ่งต้องหาด้านอื่น ๆ เข้าสู้

อีกกรณีคือ หาก EV Car สามารถทำราคาขายเริ่มต้นได้ที่คันละ 4-5 แสนบาท อาจส่งผลให้ค่ายรถจากญี่ปุ่นจะต้องเลิกผลิตรถยนต์สันดาปในช่วงราคานี้ไปเลยก็ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อผู้รับจ้างผลิตด้วยเช่นกัน

“ผมเชื่อว่า ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า EV Car หรือรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ผู้คนจะเลือกซื้อแทนรถยนต์สันดาปแบบเดิมอย่างแน่นอน”

ฉะนั้น จะไม่มีใครต้านทานและเลี่ยงกระแสการมาของรถยนต์ไฟฟ้าได้อีกต่อไป ทั่วโลกกำลังขานรับและปรับตัวขนานใหญ่เพื่ออยู่รอดในความเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงนี้ ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องเตรียมรับมือตั้งแต่วันนี้ โดยเฉพาะที่ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีและอื่น ๆ ที่จะกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ด้วย

ดังนั้น รัฐบาลต้องมองสถานการณ์ให้ขาด วางแผนให้ดี พร้อมมีมาตรการ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ใกล้เข้ามาด้วยอัตราเร่งที่รวดเร็ว จนไม่อาจตั้งตัวได้ทัน