‘กฎทางศีลธรรมห้ามไม่ให้มีการโกหก’ แต่หากอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก คุณเองจะเลือกโกหกไหม?

Share

“ในที่สุดแผนของคุณในการแนะนำเพื่อนสองคนให้มารู้จักกันก็เกิดขึ้น ฟิล์ม และ เซนต์ ทั้งสองคนเคยได้ยินเรื่องราวของกันและกัน พวกเขายินดีมากที่จะพบกันเพื่อทานอาหารเย็น คุณได้จองที่พักให้พวกเขาในคืนวันศุกร์ และกำลังจะส่งข้อความรายละเอียดให้เซนต์ แต่แล้วก็มีความคิดนึงเข้ามาในหัว เซนต์จะสายเสมอ!”

“ไม่ใช่แค่ 5 นาที สายที่พูดถึงนี้คือ 30 นาที ดูเหมือนว่าเซนต์จะมองว่าการตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากยุคเก่า คุณจะทำอย่างไรดีถ้าเซนต์มาสาย 30 นาที การเจอกันครั้งนี้คงไม่ใช่การเจอกันที่เต็มไปด้วยความประทับใจแน่ แต่! ถ้าคุณบอกเซนต์ว่ามื้อเย็นคือ 6 โมง แทนที่จะเป็น 6โมงครึ่งล่ะ? ด้วยวิธีนี้เธอจะมาตรงเวลาพอดีเลยนะ”

คำถามของเหตุการณ์นี้คือ “เราควรที่จะโกหกไหม?” ถ้าเป็นคุณจะทำอย่างไร? 

[ บางทีคุณควรโกหก! ]

คุณคิดว่าความสัมพันธ์ใหม่นี้อาจดีสำหรับทั้งคู่ และคุณคงไม่อยากให้พวกเขาทำลายมันก่อนที่ความสัมพันธ์จะเริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ แน่นอนว่าในที่สุดฟิล์มก็อาจได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาการสายเรื้อรังของเซนต์ในที่สุด แต่ถ้าเธอปรากฏตัวตรงเวลาเพียงครั้งแรกครั้งเดียว อย่างน้อยความสัมพันธ์ก็มีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปได้

ยินดีด้วย คำโกหกของเราปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ที่มีความสุข แต่การโกหกมันผิดศีลธรรมไม่ใช่หรือ? จุดยืนของนักปรัชญาชาวเยอรมัน อิมมานูเอล คานท์ ถือว่าการโกหกนั้นผิดศีลธรรมเสมอไป โดยข้ออ้างทางสถานการณ์ไม่สามารถรับฟังได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง กฎทางศีลธรรมห้ามให้มีการโกหก และกฎนั้นถือเป็นสิ้นสุด แต่คุณอาจคิดว่าการโกหกก็มีศีลธรรมเช่นกัน สมมุติว่าฆาตกรกำลังตามล่าเซนต์ หากฆาตกรถามคุณเกี่ยวกับที่อยู่ของเธอ ก็คงแปลกน่าดูถ้าคุณพูดความจริงออกไปโดยแลกกับชีวิตของเพื่อนของคุณ

จากมุมมองนี้ หลักการของอิมมานูเอล คานท์อาจจะดูเข้มงวดเกินไป ในทางตรงกันข้าม นักปรัชญาผู้เน้นประโยชน์ใช้สอย จอห์น สจ๊วต มิลล์ จะกล่าวว่าการโกหกเป็นสิ่งที่ผิดก็ต่อเมื่อมันทำให้ความสุขโดยรวมลดลงเท่านั้น! 

“พูดตามตรง การโกหกส่วนใหญ่ดูเหมือนจะสร้างความทุกข์ได้ คนที่ยอมรับคำโกหกจะเชื่อสิ่งที่เป็นเท็จ และการพยายามดำเนินชีวิตโดยอาศัยข้อมูลเท็จมักไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก”

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีรวมถึงสถานการณ์ที่เรายกมาด้วย การโกหกอาจสร้างความสุขโดยรวมได้มากกว่าความทุกข์ ในกรณีเหล่านี้ การโกหกไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม มันอาจเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมของคุณด้วยซ้ำที่ต้องทำเช่นนั้น 

โดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่จะรู้สึกเสียใจที่ต้องโกหก แม้ว่าพวกเขาจะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ตาม นี่แสดงให้เห็นว่ามีบางอย่างที่น่ารังเกียจจริงๆ เกี่ยวกับการโกหก แม้ว่ามันจะนำไปสู่ความสุขมากขึ้นก็ตาม 

ย้อนกลับมาที่กรณีของเรา ดูเหมือนว่าเราปกป้องเซนต์มากเกินไปหรือเปล่า การโกหกเรื่องเธอเป็นคนตรงต่อเวลาจะช่วยให้ความสัมพันธ์ของเธอกับฟิล์มยั่งยืนจริงหรือ? หากลองในมุมมองของฟิล์มมันก็เหมือนเป็นการที่เราโกหกเพื่อช่วยเซนต์โดยไม่เห็นหัวความรู้สึกของฟิล์มเลยนะ

ถ้าหากมันเป็นเช่นนี้คำตอบของคำถามที่ว่า “คุณจะโกหกไหม?” ในมุมมองที่การโกหกช่วยเหลือภาวะการกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของสถานการณ์ได้ ส่วนตัวเราเลือกที่จะโกหกช่วงเวลาของการนัดเพื่อให้เซนต์มาได้ตรงเวลา แต่เราก็จะซื่อสัตย์ต่อฟิล์มโดยการบอกข้อเสียนี้ของเซนต์ให้เขารับรู้ ไม่ใช่อ้างการโกหกเพื่อทำให้อีกคนต้องเสียความรู้สึก

หากเป็นคุณล่ะ คุณเลือกที่จะโกหกในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกอย่างนี้ไหม?

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์

หมายเหตุ! บทความนี้ดัดแปลงมาจาก ‘Ethical dilemma: Would you lie? – Sarah Stroud’ โดย TED-Ed แพลตฟอร์มที่เผยแพร่เรื่องราวโดยเฉพาะการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาตัวเองของเด็ก และคุณครู เรื่องราวส่วนมากจึงเป็นเรื่องพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งสามารถปรับใช้ได้กับผู้อ่านทุกวัย

Source: https://ed.ted.com/lessons/ethical-dilemma-would-you-lie-sarah-stroud