พนักงานคือหัวใจ เคล็ดลับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นรักสุดท้ายของพนักงาน

Share

ปัจจุบันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Talent war’ เป็นการต่อสู้แย่งชิงคนเก่ง หรือมีความสามารถสูงเข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ มากมาย ซึ่งคนเหล่านี้มีจำนวนน้อยกว่าความต้องการของตลาด จึงทำให้องค์กรมากมายต่างต้องการตัว เมื่อได้คนเหล่านั้นมาทำงานด้วยแล้ว ต้องหาวิธีการรักษาพวกเขาให้อยู่กับองค์กรให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย

บริษัทควรทำอย่างไรให้พนักงานรักองค์กรและอยู่ทำงานไปนานๆ ต่อไปนี้คือกรณีตัวอย่างที่ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) ทำเพื่อดูแลให้พนักงานมีความสุขและสามารถทำงานกับองค์กรไปนานๆ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลพวกเขาให้เหมือนดูแลลูกค้า ผ่านการสื่อสารให้เข้าใจถึงความคิดและความรู้สึกของพนักงาน โดยมี 5 เรื่องสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. New Joiner Happiness Check

สำรวจพนักงานที่เข้ามาใหม่ โดยพูดคุยกับพวกเขาครั้งแรกคือ หลังจากทำงาน 2 สัปดาห์ และครั้งต่อไป 2 เดือน และ 6 เดือนหลังทำงาน คนกลุ่มนี้มักพูดความจริง เพราะยังไม่ถูกครอบด้วยความคิดบางอย่าง จะได้รู้ว่า ปัจจุบันวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร และนำมาพัฒนาต่อไป ที่พบคือ หลังจากพูดคุยกับพนักงานใหม่มากขึ้น อัตราการลาออกจากงานก็น้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ประสบการณ์ของพนักงานใหม่เป็นสิ่งที่ต้องดูแล

2. Focus Group / Empathy Listening

การสื่อสารเป็นกลุ่มและพูดคุยกับพนักงานเป็นสิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญ คำถามสำคัญคือ ปัจจุบันอะไรคือความสุข และจะตอกย้ำความสุขดังกล่าวนั้นมาเป็นจุดแข็งขององค์กรและสื่อสารออกไป อีกคำถามต่อมาคือ อะไรคือสิ่งที่ต้องปรับปรุง เพื่อนำมาหาทางแก้ไข โดยการพูดคุยเป็นกลุ่มจะเกิดขึ้นทุกสัปดาห์เปลี่ยนกลุ่มไปอย่างหลากหลาย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แตกต่างกัน

3. Employee Satisfaction Survey

แบบสำรวจความพึงพอใจของพนักงานที่หลายองค์กรก็มักทำอยู่แล้ว โดย KBTG จะทำในภาพใหญ่ทุกๆ 2 ปี และครั้งย่อยทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้เห็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะและนำสิ่งที่ได้ไปปรับปรุงต่อไป

4. Health Check / Pulse Survey

สำรวจสุขภาวะของพนักงาน เช่น ช่วงการระบาดของโควิด-19 พนักงานเกิดความกังวลอย่างมาก และนโยบายให้ทำงานที่บ้านในช่วงแรกทำให้เกิดภาวะความสับสน องค์กรจึงจำเป็นต้องเข้าไปสำรวจสอบถามสิ่งที่เกิดขึ้นว่า รู้สึกอย่างไร เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งองค์กรจัดให้มีการประชุมสั้นๆ เพื่อสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ ดูแลเพื่อให้เกิดความกังวลน้อยลง เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของพนักงานอยู่เสมอ

5. Employee Voice

องค์กรรับฟังเสียงของพนักงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร บางเรื่องอาจเป็นความลับ องค์กรก็จะเก็บเป็นความลับจะมีเพียงผู้เกี่ยวข้องเท่านั้นที่ได้รู้ เพื่อหาทางพูดคุยแก้ไขปัญหาต่อไป

จะเห็นว่า การสื่อสารกับพนักงานหรือคนในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทราบถึงความคิด ความรู้สึก ความต้องการต่างๆ และเปิดโอกาสทางความคิดและข้อเสนอแนะที่มีต่อองค์กรหรือการทำงานได้ รวมถึงสำรวจสถานการณ์หรือสภาวะที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือและหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงานได้

เมื่อองค์กรสามารถสื่อสารได้ดีมากพอ และเปิดโอกาสให้พนักงานได้สื่อสารกลับ จะเกิดเป็นการพูดคุยที่สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน องค์กรที่เข้าใจคนในองค์กรก็จะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งต้องดูแลพนักงานตั้งแต่เริ่มเข้ามา ทำงาน เติบโต จนกระทั่งจากลากัน

ทั้งหมดนี้ เป็นการทำงานและดูแลพนักงาน สรุปจากการบรรยายโดย อภิฤดี สิงหเสนี ในงาน Future Trends Awards 2022

สามารถชม Session: เพราะลูกค้าคือพระเจ้า แต่พนักงานคือทุกสิ่ง Treat Employee Like Customer. เปลี่ยงองค์กรให้เป็น ‘รักสุดท้าย’ โดย อภิฤดี สิงหเสนี Head of People Experience & Integration บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในงาน Future Trends Awards 2022 ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3WqQvdk

สามารถชมไลฟ์สดบรรยากาศงาน Future Trends Awards 2022 รวมทั้งผลรางวัลและสปีกเกอร์ทุก Session ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3PVrS6Z

ประมวลผลรางวัลและกิจกรรมภายในงาน ‘Future Trends Awards 2022’ สามารถชมได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3VpCNXN