สำหรับ ‘Drink With The Boss’ ในตอนนี้ ทาง Future Trends ได้รับเกียรติจาก “คุณธีรพล อำไพ หรือ คุณซัน” Head of Search Experience โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พร้อมบทบาทอาจารย์พิเศษด้าน Technology, Management และ Marketing มหาวิทยาลัยกรุงเทพและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน MarTech อีกทั้งยังเป็นผู้ได้รับรางวัล ‘Future Trends Awards 2024’ ในสาขา Leader of Technology มาพูดคุยกันอย่างลงลึกและเต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้ MarTech
[ คุณซันใช้งาน SEO ในการผลักดันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้อย่างไรบ้าง? ]
คุณซันเริ่มต้นด้วยการอธิบายวิธีการทำงานที่แท้จริงของ SEO ว่า “การทำ SEO ไม่ใช่การเอาใจ Algorithm แต่เป็นการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค การค้นหาของพวกเขาเป็นอย่างไร หากเข้าใจถึงพฤติกรรมในจุดนี้ เราจะสามารถทำ SEO ได้ดีและส่งมอบความรู้ให้กับผู้คนได้ชัดเจน” ซึ่งการเข้าถึงที่ดีขึ้นจาก SEO เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาชีวิตผู้คนให้ดียิ่งขึ้นตามฉบับของคุณซัน
สำหรับการเก็บข้อมูลของทีมคุณซันใช้วิธีการเก็บและนำเข้าสู่ระบบ ก่อนที่จะนำไปประมวลผลตลอดเวลา โดยคำนึงถึงการใช้งานเสมอ “ใช้อย่างไรได้บ้าง ใช้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ทำไปแล้วต้องมีการวัดผล” เปรียบเหมือนการแข่งขันฟุตบอลเราไม่สามารถมีแต่กองหน้าได้ เราต้องมีผู้รักษาประตู กองกลาง กองหลัง เพื่อร่วมมือกันทำให้ SEO เกิดผลสำเร็จได้
[ บทบาทหัวหน้าทีมในมุมมองของคุณซันเป็นอย่างไร? ]
สำหรับทีมที่ทำงานร่วมกับคุณซันมีอยู่ด้วยกัน 5 คน โดยเป็นการร่วมงานกันมากกว่า 7 ปีแล้ว ซึ่งคุณซันจะไม่เรียกบุคคลเหล่านี้ว่าลูกน้อง เพราะพวกเขาคือทีม “ทีม 5 คนของเรา เป็นทีมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทาง Generation อายุมากสุดในทีมคือ Gen X อายุน้อยสุดคือ Gen Y” คุณซันเปรียบเทียบตัวเองว่าเป็นคนกลาง ‘Sandwich Generation’ การบริหารและการสื่อสาร ต้องแตกต่างกันตามธรรมชาติของแต่ละคน
“การบริหารทีมของผม เมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จผมยกเครดิตให้พวกเขา แต่เมื่อล้มเหลวผมพร้อมจะรับความผิดพลาดไว้เอง ตรงไหนสามารถปรับปรุงได้ค่อยมาพูดคุยกัน” เป็นวิธีการบริหารทีมในรูปแบบของ Servant Leader ที่คุณซันยึดถือ มันส่งผลให้เกิดความสามัคคีและอยู่ร่วมกันมาได้เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว
“Fail Fast, Learn Faster, Do Fastest ล้มให้เร็ว เรียนรู้ให้ไว เมื่อได้คำตอบลงมือทำทันที”
[ วิธีการจัดการทีมเพื่อไม่ให้หมดไฟ ]
คุณซันยกตัวอย่างคำพูดของตัวเองที่เผยแพร่ในแพลตฟอร์ม Linkedin “จากคนเก่ง อ่อนแรง กลายเป็นคนอ่อนล้า ไปๆ มาๆ กลายเป็น Burnout แผลเริ่มเน่ากลายเป็น Quiet Quitting และ Sad Ending ด้วยการลาออก” พร้อมกล่าวว่า “ในบริบทของการเป็นหัวหน้า เรามีหน้าที่ต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด ไม่ว่าวันนี้เขาจะยังทำงานอยู่กับเรา หรือในวันหน้าเขาจะย้ายไปทำงานที่อื่น เราก็ไม่ควรจะเป็นต้นเหตุของภาวะหมดไฟให้แก่พวกเขา”
[ แต่หากเกิดความล้มเหลวขึ้น แนวทางในการจัดการความรู้สึกเป็นอย่างไร ]
“นำสิ่งที่ล้มเหลว มาเรียนรู้ร่วมกัน” คือวิธีการจัดการความรู้สึกของตนเองและทีมเพื่อเผชิญหน้ากับความล้มเหลว เพื่อที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อสร้างพัฒนาการให้กับทีม เรียนรู้จากความผิดพลาดและเติบโตจากจุดเดิม ซึ่งบทเรียนนี้คุณซันได้รับมาตั้งแต่การศึกษาในชั้นปริญญาตรี
คุณซันแบ่งปันประสบการณ์การก้าวข้ามผ่านความล้มเหลวให้เราได้ฟังกัน “มุมมองของความล้มเหลว สำหรับตัวผมนั้นฝังลึกมาตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี ICT ผมมองว่าการเข้าเรียนนั้นง่าย แต่ระหว่างการเรียนเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายที่ฝึกฝนให้เราเรียนรู้ รู้จักความล้มเหลว และก้าวข้ามมันได้” จากบทเรียนสมัยเรียนสร้างข้อคิดให้กับคุณซันว่า
“เมื่อเจออุปสรรค เราจะก้าวไปข้างหน้า
เมื่อเจออะไรที่เรายังไม่เก่ง เราจะทำงานให้มากกว่าเดิม”
[ “MarTech คืออะไร?” เป็นคำถามยอดนิยมที่ผู้คนทั่วไปต้องการคำตอบ คุณซันคิดว่านิยามในการสื่อสารให้คนทั่วไปรับรู้ได้ง่ายดายควรจะเป็นอย่างไร? ]
คุณซันกล่าวถึงความเป็นมาของคำศัพท์สองคำในบริบทของ MarTech “จริงๆ แล้ว MarTech เป็นการรวมกันของคำศัพท์สองคำนั่นคือ ‘Marketing’ และ ‘Technology’ โดย Marketing ในมุมมองของผมคือการแก้ไขปัญหาที่น่าเบื่อด้วยความสร้างสรรค์ และ Technology ในมุมมองของผมคือการแก้ไขปัญหาเดิมๆ ด้วยแนวทางใหม่”
ดังนั้น เมื่อทั้งสองคำเข้ามารวมกันเป็นหนึ่งจึงเกิดเป็น ‘MarTech’ ที่นิยามว่า “การแก้ไขปัญหาเดิมๆ และน่าเบื่อ ด้วยวิธีการใหม่ๆ และสร้างสรรค์” เป็นการอธิบายคำว่า MarTech ที่กระชับ เข้าใจง่าย สามารถนำไปสื่อสารให้กับคนทั่วไปได้ทันที
นอกจากนี้คุณซันยังได้แบ่งปันประสบการณ์การเข้าร่วม MarTech Day 2024 “สำหรับการเป็นส่วนหนึ่งกับ MarTech Day เป็นความประทับใจมากและภูมิใจมาก เพราะว่าภายในงานจะมีการประกวดที่เรียกว่า ‘Stackie Awards 2024’ ไม่ว่าใครจะส่งผลงานเข้าไปจะได้รับการรวบรวมเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับการนำเสนอ ซึ่งเราได้นำผลงานจากผู้พัฒนาประเทศไทยกว่า 13 ชิ้น ไปนำเสนอให้คนทั่วโลกเห็น” คุณซันกล่าวเสริมว่าปัจจุบัน MarTech ไทยมีมากถึง 94 ชิ้น โดยหวังว่าในปีนี้จะเกิดเครื่องมือใหม่ๆ ที่นำไปสู่จำนวน 100 ชิ้นได้
[ ทำไมคุณซันถึงสนใจใน MarTech? ]
คุณซันกล่าวว่าเป็นผลที่เชื่อมโยงมาจากการเรียนในระดับอุดมศึกษา “ปริญญาตรีผมจบ ICT ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และศึกษาปริญญาโทต่อทันที ในวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และทิ้งช่วงมากว่า 10 ปี ก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ในด้านของนิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” หากดูการเส้นทางการศึกษาจะเห็นได้ถึงจุดเชื่อมโยงระหว่างคุณซันและ MarTech
“เมื่อมองภาพรวมจะเห็น Technology + Management + Marketing เกิดเป็น MarTech Management” จึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมคุณซันถึงสนใจใน MarTech มากกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในรูปแบบของสหวิทยาการ ที่เป็นการผสานความรู้ศาสตร์ต่างๆ เพื่อการทำงานที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องราวจุดเริ่มต้นของคุณซันและ MarTech
นอกจากนี้คุณซันยังได้กล่าวถึงโอกาสที่ได้เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ “หากเราได้ทำงานที่ชอบ ก็คือคำตอบของชีวิตที่ใช่”
[ คุณซันมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเทรนด์ของ MarTech สำหรับปี 2024 และอนาคต อย่างไรบ้าง? ]
คุณซันให้ความคิดเห็นกับเทรนด์ที่มาแรงของ MarTech คือการเข้าใจเชิงลึก ด้วยการใช้งาน Data-Personalization ที่ไม่หยุดแค่การวินัจฉัย “Data-Personalization ทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นก็จริง แต่มันก็เป็นเพียงแค่ขั้นตอนของการวินิจฉัยเท่านั้น เราจำเป็นจะต้องไปไกลมากกว่านั้นเพื่อการเข้าถึงลูกค้า ผมเรียกมันว่า Hyper-Personalization การรู้ความต้องการของลูกค้าก่อนที่พวกเขาจะรู้ตัวเสียอีก”
คุณซันอธิบายเพิ่มเติมว่า Hyper-Personalization สามารถต่อยอดไปกับ Predictive Analytics การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงคาดการณ์ และ Prescriptive Analytics การวิเคราะห์แบบให้คำแนะนำ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นวิธีการใช้งาน Data อย่างถูกต้องเพื่อประสิทธิภาพที่สูงสุดของ MarTech
[ ในบริบทที่โซเชียลมีเดียเปรียบเหมือนช่องทางการเผยแพร่และเข้าถึงผู้คน คุณซันมีวิธีการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไรบ้าง? ]
“มันเหมือนเป็นสื่อในการเข้าถึงทุกคน” คือมุมมองของคุณซันกับโซเชียลมีเดีย และกล่าวเพิ่มเติมในวิธีการจัดการโซเชียลมีเดีย “สิ่งที่สำคัญเลยในการจัดการช่องทางการสื่อสารเหล่านี้ คือ การวัดผล” กล่าวคือวิธีการสื่อสาร ในแต่ละแพลตฟอร์มของสื่ออาจจะแตกต่างกันสิ่งที่สำคัญจริงๆ คือการวัดผล ถ้าเราต้องเสียต้นทุนในการโฆษณาแต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่สมเหตุสมผล โซเชียลมีเดียอาจจะไม่จำเป็นสำหรับคุณก็ได้
สำหรับการตั้งเป้าหมายเพื่อการวัดผล คุณซันแนะนำว่า “ลองตั้งเป้าหมายไปให้ถึงดวงจันทร์ ถึงแม้จะไม่ถึง อย่างน้อยก็อยู่ท่ามกลางหมู่ดาว” เราไม่ต้องสำเร็จตั้งแต่ก้าวแรก เพียงแต่เรียนรู้ และพัฒนาไปจากมันเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะประสบความสำเร็จ
[ Branding สำคัญอย่างไรในมุมมองคุณซัน? ]
ในมุมมองของคุณซัน Branding คือการสร้างความตระหนักรู้แบบระยะยาว พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่า “หากเราสามารถกำหนดสิ่งที่เราต้องการจะเป็น ประกอบกับเหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร ถ้าไม่มีแบรนด์เราจะอยู่ได้ไหม ผู้คนจะรู้สึกอย่างไร รวมไปถึงวิสัยทัศน์ในอนาคตว่าเราต้องการไปอยู่ถึงจุดไหน คุณค่าของเราคืออะไร ทั้งหมดคือสิ่งที่ Branding ตอบได้ และหากมี Branding ที่ดี จะสามารถทำให้ Marketing สำเร็จได้ง่าย”
คุณซันได้แนะนำเทคนิคสำหรับการสร้าง Branding ที่ดีเพื่อปูทางให้ Marketing สำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น “เริ่มต้นง่ายๆ คุณรู้จักตัวเองและลูกค้าดีแค่ไหน เมื่อเรารู้จักเขาดีเราจะสามารถมอบความต้องการที่ตรงจุดได้ หลายๆ คนมักจะมองว่าตัวเองมี Content ที่น้อยเกินไป แต่หากมองดีๆ จะเห็นว่าตัวตนของเรามี Content ที่พร้อมตั้งแต่การสร้างความตระหนักรู้ไปจนถึงขั้นตอนการปิดการขายเลย” เป็นเทคนิคและข้อคิดเล็กน้อยจากคุณซันสำหรับการสร้าง Branding ที่ดี
[ คุณซันมีวิธีการนำเสนอ หรือ สื่อสารสิ่งที่ทำอยู่ ให้เข้าถึงผู้คนได้อย่างไรบ้าง? ]
“เข้าใจก่อนว่าเขาคือใคร ชอบอะไร จะสามารถนำสิ่งที่อยู่ในมือไปเชื่อมโยงกับความต้องการของเขาได้อย่างไรบ้าง? เพราะในความเป็นจริงการตลาดเป็นเพียงแค่มุมมองเดียวเท่านั้น ภาพรวมต่างหากคือมุมมองของ Branding ถ้าเราทำได้ดีมันจะเดินทางไปควบคู่กัน และตอบคำถามได้เองว่าแบรนด์เราคือตัวเลือกที่ยังยืนสำหรับพวกเขา” คือวิธีการนำเสนอของคุณซันที่ใช้อยู่เป็นประจำ เพื่อแสดงคุณค่าได้อย่างเด่นชัด และชัดเจน
[ “วิธีคิดพลิกชีวิตแบบปลาฉลาม” ในมุมมองของคุณซันเป็นอย่างไร? ]
คุณซันกล่าวว่าแนวคิดพลิกชีวิตแบบปลาฉลามค่อนข้างใหญ่มากต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ จึงได้ย่อยมาให้เราเข้าใจอย่างง่ายดาย ดังนี้
1. ปลาฉลามเป็นสัตว์ที่ปิดทองหลังพระ
คอยรักษาสมดุลแห่งท้องทะเล ในมุมมองของเรามองว่าเขาเป็นสัตว์ดุร้าย แต่แท้จริงแล้วเขามีความดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยที่ไม่ต้องตะโกนบอกใคร
2. ปลาฉลามเป็นสัตว์ที่อยู่คนเดียวก็ได้ อยู่เป็นกลุ่มก็โดดเด่น
หมายถึงปลาฉลามกล้าลงมือทำถึงแม้จะมีตัวเดียว หรือ อยู่เป็นฝูงก็ตาม ดั่งภาษาละตินที่ว่า “Fortes Fortuna Adiuvat โชคมักเข้าข้างคนที่กล้าลงมือทำ”
3. ปลาฉลามรู้จุดยืนของตัวเอง
รู้ตัวว่าจุดไหนคือความสุข จุดไหนคือความสำเร็จ ที่เหมาะสมกับตัวเอง
4. เปิดใจหากเราเป็นเขาจะรู้สึกอย่างไร รับฟังด้วยหัวใจ และไม่ตัดสินเพราะเราไม่ได้ดีพอที่จะตัดสินคนอื่น
5. ปลาฉลามเป็นโค้ช
ตามธรรมชาติของฉลามจะต้องมีเหาฉลามตามตัว ความต้องการที่แท้จริงไม่ได้ต้องการให้เหาฉลามอยู่กับตัวเองตลอดไป แต่ต้องการสอนให้ใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร
6. ปลาฉลามเป็นสัตว์ที่มีความ Agile
ฟันของฉลามมีมากกว่า 30,000 ซี่ เมื่อไหร่ก็ตามที่หักหรือบิ่น เขาจะนำฟันที่เหลืออยู่มาแทนที่ เป็นทักษะที่ว่าด้วยความยืดหยุ่น อีกทั้งฟันที่ขึ้นมาใหม่จะแหลมคมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหลักคิดแบบ Agile ที่ไม่ต้องทำทุกอย่างครบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เรียนรู้และพัฒนาตามคอนเซ็ปต์ของ “ล้มให้เร็ว เรียนรู้ให้ไว และลงมือทำให้เร็ซที่สุด”
7. ปลาฉลามไปข้างหน้าตลอดเวลา
จงเป็นอย่างฉลามที่คอยพัฒนาตนเองไม่ก้าวถอยหลัง ดั่งคำพูดที่ว่า “หากเราพัฒนาตนเอง 1 เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ วัน ใน 1 ปีเราจะเก่งขึ้น 37 เท่า (Atomic Habits)”
[ Key Takeaways จากคุณซัน ]
คุณซันได้เตรียม Key Takeaways สั้นๆ มาฝากเพื่อเป็นแนวคิดให้กับผู้อ่านได้นำกลับไปทบทวนและประยุกต์ใช้ด้วย 5 ทักษะ A & I ที่เราควรจะมี
5 ทักษะ A
1. Adaptable พร้อมปรับเปลี่ยนยืนหยุ่นตลอดเวลา อะไรมาใหม่ก็เรียนรู้
2. Analytics การวิเคราะห์ รู้จักใช้ข้อมูล
3. Attention to Detail ไม่ว่าปัญญาประดิษฐ์จะเก่งขนาดไหน เราก็ยังต้องเป็นคนตรวจทานอยู่ดี
4. Active กระตือรือร้น ใฝ่รู้ใฝ่เรียนไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว
5. Agile ความคล่องตัว พร้อมเรียนรู้ปรับตัวทีละน้อยเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
5 ทักษะ I
1. Initiative ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
2. Imagination สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยจินตนาการของเรา
3. Innovation สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกของการใช้ชีวิต
4. Interdisciplinary Knowledge ความรู้แบบสหวิทยาการ ปัจจุบันความรู้ด้านเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป
5. Ingenuity ความเฉลียว อย่าลืมว่าความรอบคอบและจริยธรรมสำคัญพอๆ กับความสำเร็จ
[ ความสำเร็จของคุณซันในจุดนี้อยากจะส่งมอบให้ใครบ้าง? ]
ด้วยความสามารถของคุณซันที่มากมายสามารถนำไปสู่การได้รับรางวัลจากทั้งเวทีของ Future Trends เอง และในส่วนของเวทีระดับนานาชาติด้วยเช่นกัน สำหรับความสำเร็จนี้คุณซันก็มีความรู้สึกยินดีและขอบคุณกับผู้อื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จอีกด้วย
“ก่อนอื่นขอขอบคุณทางทีม Future Trends ที่ได้ให้การพิจารณา มองเห็นถึงคุณค่าและมอบรางวัล Leader of Technology รางวัลผู้นำเทรนด์อนาคตด้านเทคโนโลยีให้ ที่ต้องกล่าวถึงเพราะรางวัลจาก Future Trends เหมือนเป็นการเปิดทางไปสู่รางวัลระดับนานาชาติอื่นๆ ที่ผมได้รับเลย”
สำหรับคุณค่าที่คุณซัน ธีรพล อำไพ มอบให้กับอุตสาหกรรมและแวดวงเทคโนโลยีมากมาย ยิ่งกว่ารางวัลที่ได้รับทั้งหมดอีก ขอขอบคุณที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันศักยภาพ องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการตลาดของประเทศไทย
#FutureTrends #FutureTrendsetter #DrinkWithTheBoss
สำหรับผู้อ่านที่อยากจะรับชมรายการ ‘Drink With The Boss’ สามารถรับชมเวอร์ชันเต็มได้ที่นี่เลย