ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ เน้นย้ำอยู่เสมอว่า เขาเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่
ถึงตรงนี้คุณอาจกำลังสงสัยว่าชายที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นใคร
ดร.ศรุต คือ Director of Sea (Thailand) บริษัทแม่ของดิจิทัลแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยอย่าง Garena, Shopee และ AirPay ระหว่างที่พูดคุยกัน ไม่เพียงแต่เราจะพบว่า Sea เป็นองค์กรรุ่นใหม่ที่น่าจับตา หาก Sea ยังมองเห็นถึงคุณค่า และให้ความสำคัญกับพลังของคนรุ่นใหม่อย่างน่าชื่นชม
แน่นอนว่า Sea คือประเด็นหนึ่งของบทสนทนา แต่มากไปกว่านั้นคือเราชวนดร.ศรุต ทบทวนถึงประสบการณ์ชีวิต และการทำงานที่ผ่านๆ มา ว่าสำหรับเขาแล้ว อะไรคือคุณค่า หรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากขวบปีเหล่านั้น
“ผมเคยทำงานบริษัทใหญ่มาก่อน เป็นองค์กรข้ามชาติ มีธุรกิจในหลายประเทศ ทำในด้านของโทรศัพท์มือถือ” ดร.ศรุต เริ่มต้นเล่าถึงช่วงเวลาก่อนหน้าที่เขาจะมารับตำแหน่งเป็น Director of Sea (Thailand)
ด้วยบริษัทเก่าคร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ดร.ศรุต จึงได้สังเกตเห็นว่า พฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือของผู้คนในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากครั้งหนึ่งที่ใช้เพื่อโทรสื่อสาร ก็เปลี่ยนผ่านไปสู่การส่งข้อความ การเล่นโซเชียลมีเดีย การเล่มเกมออนไลน์ ไปจนถึงการใช้จ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น
“พอเราได้มาเห็นธุรกิจของ Sea ที่มีทั้ง Garena ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ AirPay ที่เป็น financial services และ Shopee ที่เป็น e-commerce เราพบว่า นี่แหละธุรกิจของอนาคตจริงๆ ก็เลยสนใจ และอยากเข้ามาเรียนรู้ อีกจุดหนึ่งคือ พอเราเห็นว่ามีผู้คนที่ใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ของ Sea แล้วชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไป เช่น เกมที่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ และอาชีพใหม่ๆ อย่างในวงการ eSports หรือ Shopee ที่ช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาค้าขาย และชีวิตเขาดีขึ้น ยอดขายเติบโตมากขึ้น ก็เลยทำให้อยากเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อจะพัฒนาให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น”
ความมุ่งมั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่การจะโยกย้ายจากหน้าที่การงานที่คุ้นเคย มาเริ่มเรียนรู้ใหม่ในอีกสายย่อมจะไม่ใช่การตัดสินใจง่ายๆ เราถามไปตรงๆ ว่ายากไหมกับการเปลี่ยนแปลงนี้
“ผมมองว่าการเปลี่ยนงานก็เหมือนการแต่งงาน เราอาจศึกษากันมาแล้ว ดูมาแล้วว่าธุรกิจเป็นยังไง แต่พอได้มาอยู่ด้วยกันจริงๆ มันไม่ใช่อย่างที่เราคิด ยังต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมไปอีก แต่คำถามคือ เราจะทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้เราเติบโตได้ยังไง”
“ผมคิดว่ามีหลายๆ ปัจจัยนะ แต่สิ่งสำคัญเลยคือเราต้องเปิดใจ เพื่อจะได้เปิดรับ รับฟัง และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พอเปิดใจแล้ว เราก็ต้อง Positive กับการเปลี่ยนแปลง ไม่อย่างนั้นเราจะรับมันเพื่อพัฒนาตัวเองไม่ได้ จากนั้นสิ่งสุดท้ายคือเราต้องเรียนรู้ สำหรับผมการเรียนรู้มีสองมุม คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ กับบางครั้งเราก็ต้อง Relearn คือทิ้งสิ่งที่รู้มาอยู่แล้วในธุรกิจเก่า เพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ที่อาจพบกับวิธีใหม่ๆ ที่เข้ามา ผมคิดว่าทักษะตรงนี้คือการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ที่จะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองและเติบโตไปได้กับธุรกิจใหม่” ดร.ศรุตอธิบายด้วยรอยยิ้ม
ดร.ศรุตเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ Sea นั้น เขามองว่า Sea เป็นองค์กรที่ใหม่ ที่ธุรกิจในองค์กรเองก็ถือเป็นธุรกิจใหม่ทั้งหมด แต่พอได้ก้าวเข้ามาข้างในจริงๆ เขาพบว่า พนักงานในองค์กรเองก็ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นเด็กที่ยังมีไฟ เป็นวัยรุ่นที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง
“Sea เพิ่งตั้งมาประมาณสิบปี เป็นองค์กรที่ยังเด็กอยู่ แล้วคนที่ทำงานในองค์กรก็ยังเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนอายุ 20 – 30 ปี แต่คำว่าเด็กนี่ไม่ได้แปลว่าเด็กแบบไม่ทำงานนะ แต่เป็นเด็กที่มีไฟ เป็นเด็กที่มีพลัง ร่วมมือกันทำงานจนประสบความสำเร็จ เป็นกำลังหลักขององค์กร ผมคิดว่า Sea มี Start-up Spirit ที่สูงนะ ถึงแม้ตอนนี้องค์กรเราจะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ใหญ่แล้ว แต่ในการทำงาน เราพยายามจะสร้าง Start-up Spirit ให้กับน้องๆ แต่ละทีมอยู่เสมอ คอย Empower ให้พวกเขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหาผลลัพธ์ด้วยตัวเอง ให้น้องๆ ได้เรียนรู้มากขึ้น มีการเติบโต และสร้าง Innovation ใหม่ๆ ให้กับองค์กร”
ดร.ศรุตชี้ว่า ด้วยความที่เด็กรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนมีไฟ ประเด็นสำคัญจึงคือ จะทำอย่างไรให้น้องๆ เหล่านี้อยากจะทำงานกับกลุ่มคนอีกรุ่นหนึ่ง และช่วยพัฒนาองค์กรไปด้วยกัน ในแง่นี้ ดร.ศรุตมองว่า จำเป็นที่จะต้องทำให้คนรุ่นใหม่รับรู้ว่า พวกเขาสามารถสร้าง Impact ให้กับทีม องค์กร และธุรกิจได้
“เราต้องให้เขามองเห็นว่างานที่ทำมีความสำคัญกับองค์กร ให้เป้าหมายในการทำงานอยู่ มี ให้ Resource ในการทำงาน และให้โอกาสน้องๆ มองหาวิธีไปถึงเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง พอเขาทำงานสำเร็จเราก็ต้อง Recognize เขาด้วย ยิ่งถ้าเขาเป็นคนที่เก่ง มีความสามารถ เราก็ต้องจัดหาโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่ท้าทายให้ แม้ว่าเขาจะอยู่ในองค์กรเรา แต่เราจะทำยังไงให้เขาสามารถออกจาก Comfort Zone ไม่ได้ทำสิ่งเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา แต่มีการกระโดดออกไปพัฒนาอะไรใหม่ๆ ไปทำสิ่งใหม่ๆ เป็นการทำให้น้องๆ ได้ Engage กับองค์กร เพื่อที่เขาจะอยากทำงานกับเราไปนานๆ”
ทั้งนี้ หนึ่งในคำถามสำคัญต่อประเด็นคนรุ่นใหม่ที่องค์กรต้องคำนึงถึงคือ จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่กลายเป็นกำลังสำคัญ นั่นเพราะในอนาคตข้างหน้า คนกลุ่มนี้ย่อมจะกลายมาเป็นผู้นำองค์กร
อีกประเด็นหนึ่งที่ผูกโยงกับคนรุ่นใหม่คือ ‘แพสชั่น’ เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า ควรมองหาแพสชั่นให้เจอบ้างล่ะ หรือต้องมีแพสชั่นในการทำงานบ้างล่ะ “คุณมองว่าแพสชั่นยังเป็นหลักการสำคัญของการทำงานอยู่ไหม” เราถามไปตรงๆ
“หลายคนมักจะพูดว่า เราต้องมีแพสชั่นในการทำงาน แต่เราก็จะเห็นว่า หลายๆ คนทำงานมานานแต่ก็ยังไม่เห็นว่า งานที่ตัวเองทำเป็นแพสชั่นหลักของตัวเองหรือเปล่า ผมอยากให้คิดว่า การทำอะไรบางอย่างอาจไม่ต้องเป็นแพสชั่นแห่งชีวิตของเราก็ได้ แต่ผมอยากให้หันกลับมามองว่า เราสามารถมองหาแพสชั่นของตัวเองได้ไหมในการทำงาน อาจเป็นแพสชั่นเล็กๆ ที่เกิดจากการทำงานนั้นๆ
“อย่างแพสชั่นของผมคือ การช่วยให้ SME ของคนไทยสามารถมาขายบนตลาดออนไลน์ได้ เพื่อให้เขามีโอกาสมากขึ้น ได้พัฒนาทักษะมากขึ้น แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว น้องๆ รุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานใน Sea เขามักจะมีความคิดเป็นของตัวเอง มีแพสชั่นบางอย่างของตัวเองที่อยากทำให้สำเร็จ เพราะฉะนั้นเราต้องให้โอกาส
“กับน้องๆ ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ อีกเรื่องคือ เราจะต้องโค้ชเขา เพราะว่าประสบการณ์เขาอาจยังไม่มาก แต่ถ้าเราเทรนด์เขา เขาจะพัฒนาและเติบโตได้อีกมาก ให้เขาได้ออกจาก Comfort Zone พอเราทำตรงนี้ได้ทั้งหมด ในแต่ละองค์กรก็จะมีลีดเดอร์รุ่นใหม่ขององค์กรที่เกิดจากคนรุ่นนี้ และเป็นกำลังสำคัญในยุคดิจิทัลที่จะทำให้องค์กรเติบโตต่อไปในอนาคต”
หลังจากบทสนทนาในวันนั้น เราไม่สงสัยอีกแล้วว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ส่งให้ Sea กลายเป็นองค์กรที่ครองตลาดดิจิทัลในทุกวันนี้ นั่นเพราะ Sea และดร.ศรุต เชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ และพร้อมที่จะผลักดันให้พวกเขาได้เปล่งประกายอย่างเต็มที่ และอย่างที่ดร.ศรุตได้เน้นย้ำไว้ว่าแม้ในวันนี้คนรุ่นใหม่อาจเพิ่งจะตั้งไข่ แต่หากมีผู้ใหญ่คอยช่วยให้แต่ละย่างก้าวของพวกเขาย่ำเดินไปอย่างมั่นใจ คนรุ่นใหม่ย่อมจะกลายเป็นผู้นำที่มีคุณภาพขององค์กรแน่ๆ ในสักวัน