“หลายคนเขาไม่อยากฝืนเรียนในสิ่งที่ไม่อยากเรียนแล้ว เพราะเรียนแล้วมันไม่ได้นำไปสู่ความฝันในการเป็น expert หรือ billionaire ถ้าเราอยากจะได้คนแบบซิลิคอน วัลเลย์ หรืออยากมีคนทำ deep tech เจ๋งๆ อะไรคือ incentive ที่จะทำให้เด็กมีแรงจูงใจเรียนเพราะเรียนแล้วอุตสาหกรรมที่นี่ก็ไม่มีมารองรับเขา”
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ หรือ ‘ผอ.ณัฐ’ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ให้คำตอบกับเราว่า การเกิดขึ้นของ ‘tech startup hub’ ในไทยนั้นเป็นปัญหางูกินหาง ที่แม้จะมีการเสนอแผนพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนโลยี แต่เรื่องนี้ไม่สามารถทำโดยแยกส่วนกันได้ หากไม่มีการปฏิรูปตั้งแต่หลักสูตรในห้องเรียน วิธีคิดของภาครัฐ งบประมาณที่จะนำมาสนับสนุนเด็กๆ การจ้างงานของภาคเอกชน รวมถึงมายด์เซ็ตที่มีต่อความชอบ ความถนัดของเด็กรุ่นใหม่ ฝันไกลที่จะไปถึงการเป็นซิลิคอน วัลเลย์ เมืองไทยก็คงจะเป็นไปได้ยาก
ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยและทั่วโลกเข้าใกล้สภาวะ ‘Endemic’ การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เครื่องยนต์ตัวสำคัญของประเทศทั้งท่องเที่ยวและส่งออกที่แม้จะค่อยๆ ขยับเป็นบวก แต่ก็ยังไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจให้แข็งแรงได้เหมือนก่อนวิกฤตโควิด-19 ข้อถกเถียงที่ว่า ไทยพึ่งพาส่งออกและต่างชาติมากเกินไปจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยต้องปั้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่เน้นการพึ่งพิงจากภายนอกน้อยลง
ไอเดีย ‘tech startup hub’ เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยถกเถียงมาระยะหนึ่งแล้ว Future Trends เลยถือโอกาสนี้ไปคุยกับ ‘ผอ.ณัฐ’ จาก depa องค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ผอ.ณัฐมองสถานการณ์หลังจบโควิด-19 ไว้อย่างไร อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้ไทยไปไม่ถึงระดับโลกแม้เราจะมีคนเก่งๆ มากขนาดนี้ ปัญหาสำคัญอยู่ตรงไหน ทรัพยากร เงินลงทุน ภาครัฐ หรือผู้มีอำนาจ?
ก่อนอื่นอยากให้ผอ.เล่าสั้นๆ หน่อยว่า depa เป็นใคร แล้วตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่บ้าง
ตอนนี้มีอยู่ 4 เรื่องที่ depa กำลังทำต่อเนื่อง เรื่องแรกคือการพัฒนา สิ่งที่เราพยายามทำ คือใช้เครื่องมือกลไกของทักษะที่เกิดขึ้นจากฝั่งเอกชนไปช่วยฝั่งการศึกษา ทำตั้งแต่ระดับประชาชน ระดับเด็กๆ ที่พยายามสร้างทักษะใหม่ๆ ให้กับเขา ซึ่งเรียกกันติดปากว่า โค้ดดิ้ง (Coding) มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องของ mechatronic เรื่องของ IoT (Internet of Things) หรือแม้แต่ A.I. ระดับเบสิคก็ได้
เรื่องที่สองคือพยายามส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างเกม บางครั้งเกมจะถูกมองในมิติของเนกาทีฟแต่เรามองว่ามันเป็นอุตสาหกรรม เมืองไทยจำเป็นต้องสร้างอุตสาหกรรมคอนเทนต์เหล่านี้ และก็จะมีอุตสาหกรรมดิจิทัลพวก digital service ไม่ว่าจะเป็น agri-tech, health-tech, travel-tech อาจจะล้มหายตายจากไปบ้างในช่วงโควิด-19 แต่ก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจ แล้วก็เรื่องของ Fintech
สามคือ ทำอย่างไรให้คนไทยที่เป็น real sector ทั้งในภาคเกษตร การค้า อุตสาหกรรม สามารถประยุกต์ใช้บริการจากกลุ่มสตาร์ตอัปเหล่านั้นได้ ส่วนเรื่องสุดท้าย คือพยายามสร้างให้ประเทศไทยมีจุดยืนของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เราจะพยายามแก้ไขปัญหากฎระเบียบข้อบังคับเพื่อสร้างปัจจัยเอื้อการดำเนินงานทางธุรกิจ ทั้งการใช้แพลตฟอร์มของรัฐ เปิดโอกาสทางการการตลาด แล้วก็เรื่องการสร้าง physical infastructure ที่เราเรียกว่า ‘Thailand Digital Valley’ เป็นแผนงานที่เราทำมา
โปรเจกต์ ‘Thailand Digital Valley’ คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร
เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน เราบอกว่าประเทศไทยต้องมีจุดที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับ leading firm ระดับโลกเข้ามาทำธุรกิจ แต่นอกจากนั้นเราก็อยากให้เขามีการสร้าง innovation unit เพื่อแสวงหาโอกาสหรือการทำธุรกิจ มีช่องทางให้เขาทำธุรกิจร่วมกับเหล่าบรรดาดิจิทัล สตาร์ตอัป ในเมืองไทย
เราจึงต้องเสนอให้มีพื้นที่เพราะว่าตัว innovation unit เหล่านี้จะมาพร้อมกับสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้ มันอาจจะกลายเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ที่จะทำให้เหล่าบรรดาสตาร์ตอัปที่เป็นทั้งกลุ่มฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ สามารถทำธุรกิจได้โดยสะดวกมากขึ้น
อะไรหลายอย่างที่อยู่นอกพื้นที่อาจจะติดขัดเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับในการทำงาน แต่ถ้าอยู่ที่นั่นจะสามารถแตะกฎระเบียบข้อบังคับเหล่านั้นได้ เราเลยทำให้ Thailand Digital Valley เป็นศูนย์กลางของการทำงานระหว่างสตาร์ตอัปที่เป็นสัญชาติไทย และต่างชาติที่เขาอาจจะถือ SMART Visa หรือถือตัวธุรกิจเข้ามาแล้วก็ประกอบอยู่ที่นี่โดยใช้พื้นฐานที่นี่เป็นโอกาสของการทำ strategic alliance
ถ้ามีบรรยากาศเหล่านี้เกิดขึ้น การขยายธุรกิจที่เป็นตัว sell unit ก็จะกลายเป็น sell plus product and service development ถ้าพูดเป็นภาษาของธุรกิจทั่วไป แต่ถ้าพูดภาษาของสตาร์ตอัปก็คือ การดึงทุกๆ วิธีการให้ต่างชาติเข้ามา เพื่อให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมใหม่ นี่คือ Thailand Digital Valley
จากแนวโน้มที่ผ่านมามองว่า มีโอกาสมากแค่ไหนที่ไทยจะต่อยอดเทคโนโลยีไปเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ได้
ช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีมีความตื่นตัวค่อนข้างเยอะ แล้วความตื่นตัวอาจจะเกิดเพราะว่า dynamic ของโคโรนาไวรัสด้วยก็ได้ ประชาชนต้องเข้าถึงอึปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังขาดการประยุกต์ใช้อย่างถูกต้อง จะเห็นหลายครั้งที่เราพูดถึงเรื่อง Big Data แต่มันไม่ใช่ Big Data มีหลายครั้งที่เราพูดถึงเรื่อง Cloud Innovation แต่ยังไม่ใช่มันเป็นแค่การใช้ service เอาของไปเก็บบนคลาวนด์ สิ่งเหล่านี้คือการจัดระเบียบทัพภายในประเทศเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดิสรัปต์เราในภาษาเดิม
ถามว่าโอกาสมันจะสร้างให้เกิดการต่อยอดได้ไหม มันต้องพยายามสร้าง innovation ที่เกิดขึ้นจากภายในประเทศ แล้วทำให้เกิดการต่อยอดกับ government procurement คือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาความใช้ไม่เป็นกับความไม่เข้าใจกับการพัฒนาที่เรียกว่า internal development แล้วก็สเกลให้ใหญ๋ขึ้นเพื่อไปถึงในระดับของพื้นที่
ตัวอย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซียเปิดโอกาสให้กับ local startup มาทำงานด้วย ต้องยอมรับว่าอาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง อาจจะมีข้อที่ไม่ใช่เป็น professional แต่เขาเปิดโอกาสทางธุรกิจของเหล่า startup ให้สามารถเข้าถึงตลาดภาครัฐ รัฐก็จะได้ของที่ serve needed ในการทำงาน และโอกาสทำอุตสาหกรรมใหม่ก็จะเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้คือการปรับเปลี่ยนของภาครัฐ
ไทยมีความสามารถมากพอที่จะปั้นแพลตฟอร์มขึ้นมา และทำให้เกิดการใช้งานเป็นสากลแบบ facebook, twitter, instagram ได้ไหม เราจะลดการพึ่งพาส่งออกและท่องเที่ยวแล้วดันเทคฯ ขึ้นมาแทนได้หรือเปล่า
เมืองไทยคงหนีไม่พ้นจากการเป็นประเทศการผลิตแล้วก็ส่งออก มันเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จำเป็นจะต้องเป็นตัวขับเคลื่อนเครื่องจักรหนึ่งของประเทศ แต่ว่าการผลิตและส่งออกก็ประกอบด้วยหลายโปรดักต์ ตั้งแต่ตัวที่เป็นอาหารแปรรูปจนถึงสินค้าที่ใช้อุปโภคบริโภค หรือแม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมหนัก การช่วยให้เขา transform สามารถอยู่รอดได้ด้วยวิธีการที่เป็นเกี่ยวกับเรื่องการแข่งขันรูปแบบใหม่ นั่นคือสิ่งสำคัญของประเทศเพื่อให้การส่งออกเกิดขึ้น
ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวที่มี contribution กับ GDP มากถึง 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกือบ 30 ล้านคน คือเรื่องหนึ่งที่เราต้องยอมรับว่า มันเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ พอการท่องเที่ยวหายก็เลยทำให้รายได้ที่จะถูกกระจายไปสู่ท้องถิ่นถึงประชาชนหายไปด้วย ต้องยอมรับว่า ท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่เราทิ้งไม่ได้ แต่การเติมเต็มให้การท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
จากการหวาดกลัวของโควิด-19 ก็ต้องมีแนวความคิดอื่นในการขายรูปแบบการท่องเที่ยวของไทยในโลกเสมือน ไม่ใช่การขายท่องเที่ยวในโลก physical อย่างเดียว อันนี้จะมีโอกาส
ส่วนธุรกิจที่เรียกว่าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเกิดใหม่ หลายอันที่เข้ามาในเมืองไทยในรูปแบบของการทำ e-commerce การแข่งขันแบบนี้ที่จะไปแข่งกับการเล่น ‘Money of Game’ คงเป็นเรื่องยาก แต่การเป็นคู่ค้า เป็นเพื่อนที่ดีในการทำงานร่วมกันเมืองไทยมีโอกาส คือต้องเข้าใจก่อนว่า แพลตฟอร์มพวกนี้ถูก logged in เข้าไปในตลาดเรียบร้อยแล้ว การเข้าไปสู้กับยักษ์ใหญ่แล้วเราเข้าไปทีหลังทำให้แข่งขันยาก แล้ว perchasing power มันยากในการที่เราจะเป็นต่อรอง
ยกตัวอย่างเช่น นโยบายภาครัฐที่ออกมาเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่าง ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ที่รัฐจะให้วงเงินผ่านระบบ e-wallet ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง คำถามคือ แล้วเวลาไปเที่ยว กดจองที่พักประชาชนเขาไปจองผ่านแพลตฟอร์มไหนต่อ จองผ่านแพลตฟอร์มท่องเที่ยวของต่างชาติไหม ถ้าจะซื้อของก็ต้องไปซื้อผ่านแอปพลิเคชันที่ logged in เข้าสู่ตลาดเรียบร้อยแล้ว หรือจะสั่งของสุดท้ายก็ต้องถูกบีบให้ไปสั่งผ่านแอปพลิเคชันยักษ์ใหญ่ในตลาดอยู่ดี
แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนรูปแบบ ขอให้ใช้แพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นในเมืองไทยมันจะทำให้เกิดการ inject ไปโดยตรงกับภาพชุมชน หรือแม้แต่ผ่านแพลตฟอร์มไทยที่แข่งขันไม่ได้ หรือ logged in เข้าสู่ตลาดไม่ได้มันก็พอจะมีสายป่านมาช่วย เพราะการที่จะไปสู้ตลาดที่จะไปแข่งขันระดับโลกที่เป็น ‘Money of Game’ มันไม่ใช่อยู่ดีๆ มีเงินร้อยล้านไปลงแล้วทำได้ มันต้องมีค่าการตลาด ค่าการขยายโอกาสซึ่งประเทศไทยต้องให้โอกาสกับธุรกิจไทยในการ scale แพลตฟอร์มที่เราพูดกันว่า ทำไมเมืองไทยไม่มี
อุปสรรคที่ทำให้ไทยไปไม่ถึงการเป็น ‘tech company hub’ คืออะไร เป็นเพราะเราขาดแรงงานทักษะด้านนี้ด้วยไหม
การที่จะเป็น tech startup hub ได้มันอยู่ในแผนงาน Thailand Digital Valley ความจริงมันเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเทคฯ แต่ว่าเทคฯ เหล่านั้นมันเป็น ‘deep tech’ ถ้าเราอยากจะมีสตาร์ตอัปที่เกิดขึ้นในระดับตั้งแต่ความเป็น entrepreneur ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม นั่นคือการปรับระบบการศึกษาเหมือนที่ประเทศฟินแลนด์ทำ
เด็กจำเป็นต้องรู้ว่า จริงๆ แล้วสกิลต้องเปลี่ยนใหม่ จะไม่ใช่การเรียนด้วยแผนการเรียนเดิมอย่างสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ อาจจะมีห้องหนึ่งที่เป็นห้อง entrepreneur เด็กชอบอะไรจะต้องถูกฟูมฟักสิ่งเหล่านั้น อาจจะมีห้องเรียนดิจิทัล คือมันเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อการศึกษาถูกเปลี่ยนแล้วระบบการศึกษาเราปรับได้ทันกับมันหรือไม่
ผมเคยเสนอว่า เราสร้างห้องเรียนดิจิทัลขึ้นมาไหม คือเด็กคนไหนอยากจะเป็นมนุษย์เกมก็มีห้องเกมไปเลยตั้งแต่เด็ก เด็กจะถูก groom ขึ้นมาให้กลายเป็นเกมโปรแกรมเมอร์แล้วเขาจะมีความชำนาญ นี่คือการสร้างคนระดับ professional คือการสร้างคนกลุ่มหนึ่งที่เป็น expert กับอีกอันหนึ่งคือคนกลุ่มทั่วๆ ไปเราก็ใส่ทักษะความรู้ใหม่เพื่อให้คนไทยมีกำลังคนเพียงพอต่อการที่จะรองรับการเป็น ‘startup deep tech’ ตอนนี้เรามีกำลังพลคนเรียนด้านนี้ในประเทศไทยเพียง 20,000 คนต่อปี เพราะฉะนั้น คำพูดที่หลายคนถามว่า ถ้าจะให้มันมีการเรียนด้านสัก 1 แสนคนต่อปีพอเป็นไปได้ไหม และอะไรคือ incentive ที่จะไปทำให้เด็กนั้นมีแรงจูงใจเรียน
ถ้าเด็กบอกว่า อยากเป็นมนุษย์เกมเราไปบอกลูกว่า เรียนแบบนี้ไม่มีอนาคตหรอก ทรัพยากร 20,000 คนก็ยังอยู่ 20,000 คนเหมือนเดิม อย่างเวียดนามหรือเกาหลีใต้ถ้าเด็กสนใจเกม อยากเป็นเกมโปรแกรมเมอร์หรือ game reviewer รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน career path นี้ให้เกิดขึ้น และอุตสาหกรรมของเขามัน very friendly สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเป็น hub ของ deep tech ตามมาได้อนาคต ซึ่งทั้งหมดคือการกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศ บวกกับการเปิดใจกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษา
ถ้าเราปรับได้ทันเด็กก็คงจะมีโอกาสในการเข้าสู่เรื่องพวกนี้มากขึ้น แล้วข้อจำกัดของกำลังคน 20,000 คนก็อาจจะถูกทำให้เกิด career path ใหม่ๆ เด็กๆ หลายคนเขาไม่อยากฝืนเรียนในสิ่งที่เขาไม่อยากเรียนแล้ว แต่ถ้าให้เขาเรียนในสิ่งที่ชอบ เขาจะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะนำพาไปสู่ความฝันในการเป็น expert เป็น millionaire ได้ เขาจะทุ่มสุดตัว สิ่งนี้คือความฝันของเด็กที่จะต้องมีห้องเรียนแบบนี้ขึ้นมาหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่หลายๆ ประเทศทำไมทำได้แต่เมืองไทยลืมมอง positioning แล้วก็ถามแต่ปัญหาว่า เราจะเป็นอย่างนั้นทำไมทำไม่ได้ แต่เราไม่เคยคิด HOW เพื่อให้สิ่งที่ทำไม่ได้มันทำได้
เพราะแบบนี้เลยทำให้เกิดภาวะสมองไหลมากขึ้นด้วยหรือเปล่า ทำให้ความสามารถทางเทคโนโลยีขยับช้าด้วยไหม
มีผลแน่นอน เมืองไทยเราปรับตัวไม่ทัน รักและหวงในสิ่งที่เป็นเจ้าเข้าเจ้าของ แต่ไม่เปิดโอกาสให้คนมีความสามารถเข้ามาทำบนพื้นฐานที่ถูกต้อง ถ้าเราจะดึงเด็กเหล่านั้นมาซึ่งเขาเคยได้รับโอกาสในการทำงานที่เขาชอบ แต่ถ้ากลับมาอยู่เมืองไทยมันอาจจะไม่ได้โอกาสนั้นแล้ว ถามว่าทำไมเราไม่สร้างบรรยากาศนั้นเพื่อดึงพวกเขากลับมาทำงานที่นี่
ผมเคยถามเด็กไทยที่ซิลิคอน วัลเลย์ว่า กลับมาเมืองไทยไหม มาเป็น Data Scientist เขาบอกว่า กลับมาก็ต้องมาทำงานในสิ่งที่ไม่ได้ทำเขาไม่กลับหรอก เขาเป็นนักเรียนทุนที่ถูกซื้อไป เพราะฉะนั้น โอกาสสมองไหลมีอยู่แล้ว ถ้าเมืองไทยจะทำอย่างนั้นได้ต้องสร้างโอกาสใหม่ เพื่อที่จะดึงคนเหล่านี้ที่เขารักชาติ รักประเทศไทยแล้วมีความสามารถกลับมาเมืองไทย มาทำธุรกิจในสิ่งนั้นได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะทำเรื่อง Big data แล้วตั้ง national company ดูแลดาต้าของประเทศเลยไหมโดยให้เด็กกลุ่มนี้ที่เป็น data science บินกลับมาแล้วคุยกันว่า ให้เขาทำธุรกิจนี้ให้มันโตระดับโลกนะ เพราะเขาก็ทำงานอยู่ในเฟซบุ๊ก (facebook) อยู่ในระดับโลกกันอยู่แล้ว แต่ถ้ากลับมาแล้วต้องมาอยู่ในหน่วยงานราชการงานของรัฐ นั่งกินเงินเดือน 30,000-40,000 มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ารัฐปรับตัวไม่ทันยังไงโอกาสสมองไหลของเด็กเก่งก็เป็นไปอย่างนั้นแหละ
ส่วนที่สอง คือการเอื้อประโยชน์ให้เกิดธุรกิจโดยง่ายเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เขาไม่มีโอกาสกลับมา เพราะไม่มีธุรกิจอื่นที่เกิดขึ้นในไทย เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็ต้องไปหาที่ที่ทำธุรกิจนั้นด้านนั้นในต่างประเทศ กับส่วนที่สาม คือการสงวนความเป็นเจ้าของของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ ที่พยายามทำเองเพื่อแข่งขันกับคนอื่นต้องลดลง ต้อง downsizing รัฐลงให้เกิด productivity
รัฐในที่นี้หมายถึงหน่วยงานราชการที่พร้อมที่จะ downsizing และรับเทคโนโลยีเข้าไปเพื่อให้เกิด productivity ในการให้บริการที่ทั่วถึง แล้วเปิดโอกาสให้กับโอกาสธุรกิจใหม่เข้าถึงกระบวนการของการพัฒนาประเทศ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ มีโอกาสในการทำธุรกิจ ได้ joint กับบริษัทระดับโลกที่ทำธุรกิจที่นี่ และมีตลาดมากขึ้นในการทำงาน มันเป็นองค์ประกอบที่หลายๆ ประเทศเขาคิดแบบนี้
เคยมีการพูดคุยกับภาครัฐในเรื่องนี้ยังไงบ้าง
เราเคยเสนอไปว่า ต้องเป็น national big data company ดึงเด็กพวกนี้กลับเข้ามาเป็น CEO ให้อำนาจเขาในการที่จะเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ของการตกลงว่า ข้อมูลระดับไหนที่สามารถเปิดเผยได้ แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่ได้หรอก ข้อมูลของรัฐมันมีความมั่นคง ความปลอดภัยห้ามทำ สุดท้ายก็เลยกลายเป็นข้อมูลของใครของมัน เกษตรก็ทำเกษตร สาธารณสุขก็ทำสาธารณสุข DE ก็ทำ DE ต่างคนต่างทำคนละไม้คนละมือ มันดูเหมือนจะมี productivity แต่มันไม่มีไง อันนี้คือตัวอย่างหนึ่ง
แล้วยิ่งมาทำงานแล้วไม่ได้เรื่องเด็กๆ รุ่นใหม่ก็จะรู้สึกว่า เป็นอาชีพที่ไม่น่าทำงาน ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าเคารพ ต้องให้เขาไปทำงานใน real sector ที่มีความจำเป็นแล้วขาดแคลนคน ไม่อย่างนั้นจะมากระจุกตัวกันอยู่ในหน่วยงานราชการหมด แล้วสุดท้ายก็ไม่มี productivity ของการพัฒนา ประเทศไทยเรากำลังขาดแคลนกำลังคนในทุกระดับในอนาคตกับการเพิ่มทักษะทักษะ
แล้วทักษะที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้ตอนนี้มีอะไรบ้าง
เด็กรุ่นใหม่เก่งและมีแพชชันค่อนข้างสูง แล้วก็การคิดถูกสอนเข้ามาจากการเรียนแบบใหม่ คนรุ่นเก่าจะคิดเล็ก แต่เด็กรุ่นใหม่เนี่ยคิดใหญ่ แต่การคิดใหญ่จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น แต่ละคนจะต้องมีความรู้ทักษะและความ เป็น entrepreneurship เยอะเลย การคิดแบบ systematic thinking คือคิดแล้วพยายามวาง roadmaps ให้เป้าที่ตัวเองกำหนดไว้ แต่อย่าคิดใหญ่แล้วก็ทำเป็น day to day คือทำไปเรื่อยๆ มันจะไม่สามารถไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขนาดนั้นได้
มีเทคนิคหรือคำแนะนำสำหรับการพัฒนาตัวเองที่อยากฝากทิ้งท้ายหน่อยไหม
การพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรหยุดยั้ง การเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตเรื่องของอายุไม่ใช่ข้อจำกัด โอกาสเกิดขึ้นจากการเรียนรู้เพราะทุกคนกำลังเริ่มจากการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด คนเก่าก็ต้องเรียนรู้ใหม่ เด็กใหม่ก็ต้องเรียนรู้ใหม่ ทุกคนสามารถติดตามได้ทันหมด เด็กเองก็มีโอกาสเทียบเท่าผู้ใหญ่ได้เช่นกัน การแข่งขันครั้งนี้เสมอภาค เพราะฉะนั้น มันเป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้เกี่ยวกับดิจิทัลเทคโนโลยี ถ้าคนไปทางสาย deep tech เลยมีโอกาสสดใสแน่นอน
แต่คนที่เรียนรู้ในเชิง application จะเจอกับการแข่งขันทางความคิดค่อนข้างสูงเพราะว่าทุกคนเสมอภาคกันหมด ใครที่เข้าถึงข้อมูลแล้วคิดได้ ‘large’และ ‘implement’ ได้เร็ว จะ ‘enter into market first’ จะเป็นผู้ชนะ ในตลาด แต่ถ้าคนที่คิดล่าช้าแล้ว ตามไม่ทันจะเป็นผู้ตามมีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยก็จะการแข่งขันได้ยากหน่อย เพราะวันนี้ เราอยู่ในจุดสตาร์ตร่วมกัน