“To create a better everyday life for the many people. ทำชีวิตผู้คนทั่วโลกให้ดีขึ้นทุกวัน”
คือสโลแกนที่บ่งบอกความเป็นอีเกีย (IKEA) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนที่มีอายุกว่า 79 ปี และครองใจผู้คนนับล้านทั่วโลกได้เป็นอย่างดี
เชื่อว่า หลายๆ คนในที่นี้น่าจะเคยได้ยิน ได้ฟัง หรือได้อ่านกันว่า ความสำเร็จในทุกวันนี้ของอีเกียมีเบื้องลึกเบื้องหลังมาจากจิตวิทยาการขาย ไม่ว่าจะเป็น Scarcity Effect, Gruen Effect หรือแม้กระทั่ง IKEA Effect ก็ด้วย
แต่คุณรู้ไหมว่า จริงๆ แล้ว บางจิตวิทยาก็สามารถใช้กับการทำงานได้เช่นกัน แล้วกลไกของจิตวิทยาทำงานอย่างไร เราจะเอาไปปรับใช้กับการบริหารทีมยังไงได้บ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาดูผ่าน IKEA Effect กัน
IKEA Effect คืออะไร?
IKEA Effect คือจิตวิทยาที่แฝงอยู่ในการขายสินค้าของอีเกีย ทำให้ผู้คนยอมจ่ายให้กับสินค้ามากขึ้น โดยตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ‘Value what we build’ หากได้ลงมือทำด้วยตัวเอง คนเรามักจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากกว่าเดิมเสมอ
อย่างเช่น ถ้ามีเฟอร์นิเจอร์ 2 แบบ แบบแรกให้ประกอบเอง ส่วนแบบที่สองมีการประกอบสำเร็จรูปมาให้แล้ว แน่นอนว่า ยังไงแบบที่สองก็สะดวกต่อการใช้งานกว่าอยู่แล้ว แต่หากเราลองมองให้ลึกลงไป ก็จะเห็นว่า คุณค่าของแบบแรกนั้นมากกว่า หรือต่อให้จะมีร้านที่ทำเค้กอร่อยอีกกี่สิบกี่ร้อยกี่พันเจ้า แต่ในสายตาของบางคน เค้กที่อร่อยที่สุดบนโลกใบนี้ ก็คือเค้กที่มาจากฝีมือตัวเอง ผ่านการอบ การบรรจงแต่งหน้าเค้กด้วยความพิถีพิถันอยู่ดี
IKEA Effect ใช้ได้จริงรึเปล่า?
งานวิจัยเรื่อง ‘The IKEA effect: When labor leads to love’ ของไมเคิล นอร์ตัน (Michael Norton), แดเนียล โมโชน (Daniel Mochon) และแดน อารีลีย์ (Dan Ariely) ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าของสินค้ากับน้ำพักน้ำแรงของผู้บริโภค จากการทดลองกลุ่มตัวอย่างกับกล่องกระดาษแข็ง, นกกระเรียนหรือกบโอริกามิ และชุดเลโก
โดยมีการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือ ผู้สร้าง (Builder) และกลุ่มที่สองคือ ผู้ไม่ได้สร้าง (Non-Builder) จากนั้น จึงมอบสินค้ากับคู่มือให้กลุ่มแรกนำไปประกอบ ส่วนกลุ่มที่สองมอบสินค้าที่ประกอบมาเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้งานทันที
ผลปรากฏว่า เมื่อให้ทั้งสองกลุ่มตั้งราคา และความชอบของสินค้า กลุ่มแรกมีแนวโน้มจะตั้งราคาที่สูงกว่ากลุ่มที่สองอย่างเห็นได้ชัด หรือสรุปง่ายๆ ว่า อะไรก็ตามที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของเรา ย่อมนำไปสู่ความรัก ความผูกพันทางอารมณ์ และความรู้สึกเชิงบวกที่มากกว่านั่นเอง
เราจะปรับใช้กับการบริหารทีมยังไงได้บ้าง?
หากเปรียบเปรย อันที่จริง ลูกน้องเองก็ไม่ต่างจากลูกค้าเท่าไรนัก ถ้าเรารู้จักนำแก่นแกนของ IKEA Effect มาปรับใช้ก็จะส่งผลให้พวกเขาทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วเราจะปรับใช้ยังไงได้บ้าง ไปดูกัน!
1. ให้อิสระทางความคิดในการกำหนดองค์ประกอบ ทิศทางของงาน
แม้ความละเอียดจะเป็นเรื่องที่ดี แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้ทีมบางคนรู้สึกอึดอัด แถมบางทีก็ยังเป็นการลดทอนความคิดสร้างสรรค์ด้วย เพราะฉะนั้น หัวหน้าควรเปิดโอกาสให้ทุกคนในทีมได้มีส่วนร่วม มีโอกาสในการกำหนดบทบาทหน้าที่ของตัวเอง องค์ประกอบ และทิศทางงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกของความเป็นเจ้าของให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการประกอบสินค้าขึ้นเองของสินค้าอีเกีย
2. เปิดโอกาสให้สร้างเป้าหมาย และกลยุทธ์ร่วมกัน
เป้าหมาย และกลยุทธ์ไม่ควรมาจากคนเบื้องบนเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริง ควรมาจากการระดมความคิดร่วมกันกับทีมงานเบื้องล่างด้วย เพราะยิ่งเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันมากเท่าไร ก็มีแนวโน้มว่า องค์กรจะยิ่งก้าวไปข้างหน้าได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น
3. ระวังงานที่เอาออกไว้ให้ดี!
บางครั้งเราอาจจะหวังดีกับลูกน้องด้วยลบบางงานหรือบางกิจกรรมออกไป เพื่อให้เครียดน้อยลง ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งในอีกแง่มุมหนึ่ง การทำแบบนี้กลับส่งผลเสียกับพวกเขามากกว่าด้วยซ้ำ เพราะถ้าเกิดงานนั้นเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขามีไฟ มีแรงจูงใจเข้า ก็จะส่งผลให้ระดับความพึงพอใจต่องานชิ้นอื่นลดลงตามไปด้วย
IKEA Effect นับเป็นหนึ่งในจิตวิทยาที่ใช้ได้จริง ทั้งในโลกธุรกิจ และโลกแห่งการทำงาน แม้จะต้องออกแรง ยุ่งยาก ท้าทายขึ้นสักหน่อย แต่เชื่อเถอะว่า มันจะสร้าง Impact ได้มหาศาล และช่วยเปลี่ยนจาก ‘งานครับ’ ให้กลายเป็น ‘งานคราฟท์’ ที่ดีได้อย่างแน่นอน
Sources: https://bit.ly/3VjDmTr