2022 ปีแห่ง ‘พระโคกินบัตรคอนเสิร์ต’ ทำไม ‘คอนเสิร์ต’ ใช้เป็นเครื่องชี้วัดสภาพเศรษฐกิจได้?

Share

หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมโรคจากภาครัฐ ทำให้ชีวิตของเราห่างหายจากเสียงเพลงและดนตรีในบรรยากาศของ ‘คอนเสิร์ต’ (Concert) มากว่า 2 ปี หลายๆ คนก็เริ่มโหยหาการไปคอนเสิร์ต เพื่อซึมซับบรรยากาศความสนุกสนาน และการพบปะศิลปินผู้เป็นที่รักอีกครั้ง…

ถึงแม้ว่า ในช่วงเวลา 2 ปีที่เว้นว่างไป จะเป็นเหมือนสูญญากาศที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดนตรีอย่างหนัก แต่กลุ่มผู้ประกอบการก็ไม่ได้นิ่งดูดาย และพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อยู่ตลอด ไม่ว่าเป็นคอนเสิร์ตออนไลน์ หรือการพูดคุยกับศิลปินผ่านวิดีโอคอลก็ตาม

แต่การจำกัดทุกอย่างไว้ในโลกออนไลน์ ทำให้ขาดสีสันและอรรถรสการรับชมอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผู้ชมเป็นเพียงทีมหน้าจอที่โบกแท่งไฟและส่งเสียงเชียร์ภายในห้องของตัวเอง หากใครเคยไปคอนเสิร์ตแบบออนไซต์และรับชมคอนเสิร์ตแบบออนไลน์คงทราบดีว่า ความรู้สึกในการรับชมต่างกันมากขนาดไหน

เมื่อสถานการณ์ของโรคระบาดเริ่มคลี่คลาย การจัดคอนเสิร์ตแบบออนไซต์ก็กลับมาอีกครั้งในปี 2022 แต่เป็นการกลับมาที่ไม่ธรรมดา เพราะไลน์อัปคอนเสิร์ตของศิลปินในไทยและต่างประเทศต่างจ่อคิวให้ผู้ชมเลือกสรรซื้อบัตรเข้าชมไม่เว้นแต่ละวัน จนผู้คนบนโลกออนไลน์พูดกันติดตลกว่า “ปีนี้พระโคกินบัตรคอนเสิร์ตเข้าไปหรืออย่างไร ทำไมถึงมีคอนเสิร์ตในไทยเยอะขนาดนี้?”

จริงๆ แล้ว การที่มีคอนเสิร์ตเกิดขึ้นมากมายก็ดูจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับหลายๆ ภาคส่วน อย่างฝั่งผู้ประกอบการก็สามารถพลิกฟื้นธุรกิจที่เคยซบเซาให้กลับมาสร้างรายได้มากขึ้น ส่วนฝั่งผู้ชมก็มีความสุขที่ได้รับชมคอนเสิร์ตแบบออนไซต์ที่โหยหามานาน

แต่ในยามที่เศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ กลับมีมิติบางอย่างที่ทำให้ ‘คอนเสิร์ต’ ไม่ใช่แค่ธุรกิจเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังกลายเป็นตัวชี้วัดสภาพเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงความอยู่รอดของภาคธุรกิจและลักษณะการใช้จ่ายของผู้คนได้เป็นอย่างดี

แล้ว ‘คอนเสิร์ต’ สามารถชี้วัดสภาพเศรษฐกิจได้อย่างไร? เราจะพาไปไล่เรียงพร้อมๆ กัน

‘คอนเสิร์ต’ = โมเดลธุรกิจชดเชยความซบเซาของอุตสาหกรรมดนตรี

ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดเกี่ยวกับแนวคิดริเริ่มการทำคอนเสิร์ต แต่ต้องยอมรับว่า คอนเสิร์ตเป็นโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมดนตรีมากจริงๆ ในยามที่สินค้าของวงการเพลงอย่างเทปแคสเซ็ตหรือแผ่นซีดีถูกดิสรัปต์จนซบเซา ก็ได้คอนเสิร์ตเข้ามาเป็นพื้นที่ในการสร้างชื่อเสียงเอาไว้

หรือต่อให้แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดจะเติบโตมากแค่ไหน ผู้คนก็ยังต้องการฟังดนตรีแบบสดๆ และซึมซับบรรยากาศที่มีเพียงในคอนเสิร์ต ทำให้คอนเสิร์ตเป็นสิ่งที่ฆ่าไม่ตายอยู่วันยันค่ำ (แต่ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามกาลเวลา)

ซึ่งผู้ประกอบการก็เข้าใจประเด็นนี้เป็นอย่างดี และพยายามผลักดันให้มีการจัดคอนเสิร์ตอยู่เสมอ โดยในมุมของผู้ประกอบการ ถึงแม้จะต้องลงทุนกับคอนเสิร์ตด้วยเม็ดเงินมหาศาล แต่ก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ถือเป็น High Risk, High Return อย่างหนึ่ง เพราะผู้ชมก็ยอมจ่ายเงินจำนวนมากในคราวเดียว เพื่อแลกกับประสบการณ์สุดพิเศษที่ไม่ได้มีโอกาสเข้ามาบ่อยๆ

‘คอนเสิร์ต’ = ศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของผู้คน

หากถามว่า สถานที่ใดทำให้เราเสียเงินได้มากที่สุด?

คำตอบของหลายๆ คนต้องหนีไม่พ้น ‘ห้างสรรพสินค้า’ อย่างแน่นอน

แต่เมื่อพิจารณาการไป ‘คอนเสิร์ต’ หนึ่งครั้ง เรากลับเสียเงินมากกว่าที่คิด เดิมทีก็ต้องเสียเงินค่าบัตรเข้าชมที่ราคามาตรฐานตั้งแต่ 2,000-6,000 บาท ตามระยะที่นั่งและความใกล้ชิดศิลปิน ยังไม่รวมค่ารถโดยสารไป-กลับ ค่าที่พักสำหรับคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ค่าอาหารแต่ละมื้อ ค่าของที่ระลึก และค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกมากมาย

ข้อมูลจาก Oxford Economics และ Munich Personal RePEc Archive (MPRA) ชี้ตรงกันว่า คอนเสิร์ตมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2019 ธุรกิจคอนเสิร์ตสามารถสร้างรายได้ในสหรัฐฯ มากถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะเติบโตไปพร้อมๆ กันแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 9 แสนตำแหน่งอีกด้วย

ดังนั้น เราก็พออุปมาความสัมพันธ์ระหว่างคอนเสิร์ตและเศรษฐกิจได้ว่า ‘ยามใดที่มีคอนเสิร์ต ยามนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นไปโดยธรรมชาติ’

‘คอนเสิร์ต’ = เครื่องชี้วัดสภาพเศรษฐกิจ

หลังจากที่ทุกคนพอเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างคอนเสิร์ตกับเศรษฐกิจไปแล้ว เราต้องพาทุกคนมาทำความเข้าใจความเป็นไปของธุรกิจคอนเสิร์ตในปัจจุบันด้วย

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ปี 2022 มีไลน์อัปคอนเสิร์ตจากศิลปินมากมายไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งก็ดูจะเป็นผลดีในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่ในยามที่เศรษฐกิจซบเซา ผู้คนต้องต่อสู้กับรายจ่ายที่มากขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงทวีความรุนแรง การมีคอนเสิร์ตจำนวนมากถือเป็นคมดาบที่อันตรายต่อผู้คนในอุตสาหกรรมดนตรี

ต้องยอมรับว่า ต้นทุนที่อยู่เบื้องหลังการจัดคอนเสิร์ตมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋วเครื่องบินของศิลปินจากต่างประเทศ ค่าไฟและค่าใช้สถานที่ รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากในอดีต

และต้นทุนที่ผู้จัดคอนเสิร์ตต้องแบกรับมากขึ้น ได้สะท้อนผ่านราคาบัตรเข้าชมที่แพงขึ้นด้วย จากที่แต่ก่อนคอนเสิร์ตบางแห่งจะมีราคาบัตรเข้าชมต่ำสุดอยู่ที่ 1,500-2,000 บาท แต่ในปัจจุบันกลับมีราคาสูงถึง 2,900-3,500 บาท

ยิ่งคอนเสิร์ตแต่ละแห่งมีอัตราค่าบัตรเข้าชมเท่านี้ และยิ่งจัดใกล้กันมากขึ้นเท่าไร ผู้ชมก็ต้องตัดสินใจไปคอนเสิร์ตที่มีเพียงศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบจริงๆ เพราะนอกจากจะไม่มีระยะเวลาให้เก็บเงินเพียงพอแล้ว ทุกคนก็ต้องอยู่ในสภาวะรัดเข็มขัดใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นกันต่อไป

ดังนั้น หากผู้ประกอบการลงมาเป็นผู้เล่นในสนามธุรกิจคอนเสิร์ตโดยไม่มีแผนการรองรับอย่างดี อาจจะต้องแบกรับกับภาวะขาดทุนมหาศาล ได้ไม่คุ้มเสีย และสูญเสียเงินจำนวนมากก็เป็นได้

สุดท้ายแล้ว ‘คอนเสิร์ต’ ที่เคยเป็นธุรกิจเพื่อความบันเทิง ก็ได้กลายเป็น ‘ความฟุ่มเฟือย’ ในยามเศรษฐกิจที่ซบเซานั่นเอง

Sources: https://nyti.ms/3eoKbTg

https://bit.ly/3CZJ9rg

https://bit.ly/3eo4ctt

https://bit.ly/3q9H5VY