แดงโค้ก – ชมพูจุฬาฯ – ส้มก้าวไกล ว่าด้วยบทบาทของ ‘สี’ ที่ทำให้คนนึกถึง ‘แบรนด์’ เสมอ

Share

แม้ในสนามการเลือกตั้ง 2566 จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย และทำให้เกิดเกมการจัดตั้งรัฐบาลอันร้อนระอุ แต่หนึ่งใน ‘อารยธรรม’ น่าสนใจที่การเลือกตั้งครั้งนี้ฝากไว้เป็นควันหลง คือบทบาทของ ‘สี’ ที่เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนการสื่อสารของพรรคการเมือง

หากมองในบริบทนอกสนามการเลือกตั้ง ‘สี’ เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้แสดงตัวตนและสัญลักษณ์ขององค์กรหรือแบรนด์อยู่เสมอ เพราะสามารถสร้างการรับรู้ได้ในพริบตา แต่ให้อานุภาพในความทรงจำตลอดไป อีกทั้งยังทำให้เกิด ‘เฉดสี’ เฉพาะตัวและ ‘ชื่อสี’ ที่มีชื่อแบรนด์พ่วงอยู่หลายคำ เช่น แดงโค้ก ม่วงการบินไทย เขียวกสิกร เป็นต้น

‘สี’ ทำงานกับการรับรู้ของเราอย่างไร?
ทำไม ‘สี’ ต้องทำให้เรานึกถึงแบรนด์ที่เกี่ยวข้องเสมอ? Future Trends จะพาทุกคนไปสำรวจมิติต่างๆ พร้อมๆ กัน

‘Color Association’ : ของชนิดเดียวกัน แต่ทำให้นึกถึง ‘สี’ ต่างกัน

นอกจากการใช้สีเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนองค์กร จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการสื่อสารและการใช้งานจริงแล้ว ยังต้องเชื่อมโยงสีเข้ากับความหมายหรือสิ่งที่ต้องการสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อสร้างเอกลักษณ์และการจดจำในความคิดของผู้คน

ความสัมพันธ์ระหว่างสีและการสื่อสารความหมาย สามารถอธิบายได้ด้วย ‘Color Association’ หรือ ‘การเชื่อมโยงสีของมนุษย์’ ซึ่งมนุษย์จะเชื่อมโยงสีเข้ากับการรับรู้ของตัวเองผ่านสิ่งของในธรรมชาติ วัฒนธรรม และประสบการณ์ส่วนบุคคล

ตัวอย่างเช่น เจ้าสาวเชื้อสายจีนสวมชุดแต่งงานสีแดงตามความเชื่อที่ว่าจะนำความโชคดีและความสุขมาให้คนในครอบครัว แต่เจ้าสาวในสหรัฐฯ นิยมสวมชุดแต่งงานสีขาว ถือเป็นปัจจัยจากความต่างทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อการเชื่อมโยงสี หรือแม้แต่วันคริสต์มาสที่ทำให้หลายคนนึกถึงสีแดงและสีเขียวเป็นอันดับแรก

ดังนั้น การเชื่อมโยงสีเข้ากับสิ่งต่างๆ จะต่างกันตามประสบการณ์และการเรียนรู้ของแต่ละคน เช่น ‘ดอกกุหลาบ’ ที่หลายคนเชื่อมโยงกับสีแดงด้วยความคุ้นเคย แต่บางคนกลับเชื่อมโยงกับสีขาว เพราะเติบโตมากับคุณแม่ที่ชอบปลูกดอกกุหลาบสีขาวมากกว่าสีแดง หรือถ้าพูดถึง ‘สีส้ม’ หลายคนจะนึกถึง ‘ส้ม’ ที่เป็นผลไม้รสเปรี้ยวอมหวาน แต่ในช่วงที่การเลือกตั้งกำลังร้อนแรง อาจจะนึกถึง ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ใช้สีส้มเป็นสัญลักษณ์ก่อนสิ่งอื่นก็ได้เช่นกัน

Image by Freepik

การใช้ ‘สี’ ในมิติทาง ‘ธุรกิจ’

บทบาทของ ‘สี’ ในโลกธุรกิจ คงหนีไม่พ้นการเป็นเครื่องมือในการสร้าง CI (Corporate Identity) ที่ต้องเกิดจากแนวคิดของแบรนด์ (Brand Concept) และการออกแบบแบรนด์ (Brand Design) ซึ่งหน้าที่ของสี คือการถ่ายทอด ‘แนวคิด’ ที่เป็นนามธรรมให้กลายเป็น ‘ภาพ’ ที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย

ปอ กราฟิกดีไซเนอร์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี กล่าวกับ Future Trends ว่า “สีคือหลักสำคัญอย่างหนึ่งในการออกแบบ เพราะสามารถบอกอารมณ์และความรู้สึกได้หมดว่า เราต้องการสื่อสารไปทางไหน”

การที่สีมีอิทธิพลต่อการแสดงอารมณ์และความรู้สึก เป็นเพราะว่า สีเป็นสิ่งที่มีพลังทางจิตวิญญาณสูง สามารถกระตุ้นระดับจิตใจ ความคิด และความรู้สึกให้เปลี่ยนไปตามกลไกของผลกระทบทางจิตวิทยา (Psychological Effects) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะนำสีมาใช้เพื่อการสื่อสารและแสดงออกในทิศทางที่ต้องการ เช่น สีขาวเป็นตัวแทนของความศักดิ์สิทธิ์ และแสดงถึงความบริสุทธิ์ ทำให้มีการใช้สีขาวเป็นสีเชิงสัญลักษณ์สําหรับการแสดงออกทางศาสนา

ดังนั้น การใช้สีเพื่อออกแบบ CI จะต้องคำนึงถึงการแสดงตัวตนของแบรนด์เป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าแบรนด์มีจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ ‘สีเขียว’ ที่แสดงถึงความสดชื่นและการมองโลกในแง่ดี ผสมกับ ‘สีน้ำตาล’ ที่ให้ความรู้สึกหนักแน่นและมั่นคง จะช่วยสื่อสารกับลูกค้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การใช้ ‘สี’ ในมิติทาง ‘การเมือง’

หากมองในบริบทการเมืองไทยและการเมืองโลก จะพบว่า สีกับการเมืองเป็นของคู่กันเสมอ โดยส่วนใหญ่ ‘สีน้ำเงิน’ เป็นตัวแทนของพรรคอนุรักษ์นิยม ‘สีแดง’ เป็นตัวแทนของพรรคแรงงาน และ ‘สีเหลือง’ เป็นตัวแทนของพรรคเสรีนิยม แต่ไม่ใช่ทุกประเทศจะมีแนวโน้มเช่นนี้ เพราะบริบททางสังคมและการรับรู้ของประชาชนต่างกัน เช่น พรรคเดโมแครตในสหรัฐฯ ที่ใช้สีประจำพรรคเป็นสีน้ำเงิน แต่มีจุดยืนเป็นแบบเสรีนิยม

นอกจากนี้ สียังมีบทบาทในการสร้าง ‘Branding’ และสิ่งที่แต่ละพรรคต้องการสื่อสารอีกด้วย ปอวิเคราะห์ให้เราฟังว่า แม้หลายพรรคจะใช้ ‘สี’ (Hues) เดียวกัน แต่ ‘ความสว่าง’ (Values) และ ‘ความเข้มสี’ (Saturation) ที่แตกต่างสามารถสะท้อนภาพลักษณ์ของแต่ละพรรคได้อย่างดี

ตัวอย่างเช่น สีน้ำเงินสดของพรรคไทยสร้างไทยที่ให้ความรู้สึก ‘สดใหม่’ พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง แต่สีน้ำเงินหม่นของพรรคพลังประชารัฐกลับให้ความรู้สึก ‘สุขุม’ ถือเป็นนัยหนึ่งที่ช่วยสะท้อนภาพลักษณ์การมีผู้นำพรรคเป็นอดีตทหารชั้นนายพล

แม้ว่าการใช้สีเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง จะไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นธรรมเนียมที่มีมานาน แต่ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วย ‘ดาต้า’ สีจึงเป็นมากกว่าเครื่องมือในการแสดงแนวคิดของพรรคการเมือง และกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำ ‘Data Visualization’ ที่ช่วยวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความนิยมของแต่ละพรรค และพื้นที่ ‘รักมั่น’ ที่เลือกตั้งกี่ครั้งก็ไม่เปลี่ยนใจ

ตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด น่าจะช่วยให้ทุกคนเห็นว่า ‘สี’ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ทรงพลังมากแค่ไหน ยิ่งออกแบบให้แตกต่างและใช้คู่กับองค์ประกอบอื่นๆ ได้อย่างลงตัว จะยิ่งสร้างการจดจำที่ชัดเจน และอย่ามองว่า สีเป็นประเด็นที่ไม่สำคัญ เพราะหลายแบรนด์ก็เคยเฉือนชนะกันด้วยเรื่องการใช้สีมาแล้ว

Sources: https://bit.ly/3MApxhX

https://bit.ly/3OkcjXJ

https://bit.ly/41LFh5X