“งานมีแต่ปัญหา ปัญหา ปัญหา”
สำหรับมนุษย์ออฟฟิศ ทั้งลูกน้อง และหัวหน้าอย่างเราๆ ที่ถูกจ้างมาเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ตั้งแต่ล้มตัวนั่งลงบนเก้าอี้ และบางทีก็อาจจะยังไม่ได้พักหายใจด้วยซ้ำ ปัญหาก็ต่อคิวเป็นขบวนเข้ามาให้แก้ไม่หยุดเลยทีเดียว
เมื่อหลายปีก่อน ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ประธานบริหารของกูเกิล (Google) กล่าวในสุนทรพจน์ว่า ตนเคยนำสัตว์ที่หลายๆ คนรู้สึกขยะแขยง และเป็นศูนย์รวมเชื้อโรค ความสกปรกอย่างเจ้าปีเตอร์หรือ ‘แมลงสาบ’ มาใช้เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ด้วย
ซันดาร์เอาแมลงสาบมาใช้ยังไง จัดการปัญหาด้วยวิธีไหน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูผ่าน ‘ทฤษฎีแมลงสาบตัวนั้นหรือ Cockroach Theory’ กัน
Cockroach Theory คืออะไร?
ทฤษฎีแมลงสาบตัวนั้นหรือ Cockroach Theory คือทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหาจากเรื่องเล่าของซันดาร์ โดยการนำแมลงสาบไปเปรียบเทียบกับปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในชีวิตว่า ทำให้เกิดความวุ่นวาย
เขาเล่าว่า ให้เราลองจินตนาการว่ากำลังทานข้าวอยู่ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง แต่พอนั่งไปสักพัก จู่ๆ ก็มีแมลงสาบจากไหนก็ไม่รู้บินมาเกาะที่ตัวหญิงสาวโต๊ะข้างๆ พอหญิงสาวคนนั้นเห็นปุ๊บ เธอก็กรีดร้องไปทั่วร้าน และพยายามสะบัดออกตามสไตล์คนที่รังเกียจแมลงสาบ
ซึ่งมันก็ไม่ได้หลุดออกไป แต่แท้จริงแล้ว สีหน้า ท่าทางดังกล่าวก็ยังพลอยทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก เพราะลูกค้าคนอื่นรู้สึกตกใจกลัวตามไปด้วย และถึงที่สุดแล้ว แม้เธอจะสะบัดจนมันหลุดออกไปจากตัวได้สำเร็จ แต่มันก็ดันบินไปเกาะที่ตัวเพื่อนร่วมโต๊ะแทน
เมื่อเพื่อนร่วมโต๊ะเห็นแบบนั้น จึงเลือกจะแสดงออกด้วยการกรีดร้องแบบเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ เลยทำให้สถานการณ์ต่างๆ ภายในร้านยิ่งวุ่นวายมากขึ้น เด็กเสิร์ฟคนหนึ่งของร้านวิ่งออกมาดู จากนั้น เขาเลยเดินเข้าไปช่วยหญิงสาวทั้งสองใกล้ๆ ทันใดนั้น ก็พอดีกับจังหวะที่แมลงสาบตัวบินเข้ามาเกาะที่ตัวเขาแทน
พอเห็นแบบนี้เด็กเสิร์ฟก็ไม่ได้แสดงท่าทีโวยวายเลยสักนิด แต่เขากลับเลือกที่จะยืนนิ่งๆ แล้วจับสังเกตพฤติกรรมของเจ้าแมลงสาบ เพื่อรอดูจังหวะในการจับมันโยนออกไปนอกร้านอีกทีหนึ่ง ซันดาร์ทิ้งท้ายคำถามกับคนฟังเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “จริงๆ แล้ว แมลงสาบเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายในร้านหรือไม่?”
ถ้าใช่! ซันดาร์เสริมว่า แล้วทำไมเวลาที่แมลงสาบบินไปเกาะที่ตัวเด็กเสิร์ฟ เขาถึงยืนนิ่งใส่ และจัดการกับมันได้อย่างง่ายดาย?
ลึกๆ แล้ว ต้นเหตุความวุ่นวายทั้งหมดอาจจะไม่ใช่เพราะแมลงสาบ และไม่ใช่ว่าเด็กเสิร์ฟไม่กลัวแมลงสาบก็ได้ แต่ในความเป็นจริง อาจจะอยู่ที่ ความสามารถในการรับมือกับปัญหา และสิ่งที่เข้ามากวนใจของแต่ละคนอย่างแมลงสาบต่างหาก
พูดให้ง่ายหน่อย ก็คือเราไม่ควรจะ React กับปัญหาโดยทันที แต่ควรจะคิดก่อนแล้วค่อย Respond ออกไปอย่างถูกวิธี เพราะการกระทำเหล่านี้จะส่งผลต่อสิ่งอื่นที่ตามมาในอนาคต หรือที่หลายๆ คนมักจะมีคำพูดติดปากกันว่า “The future is depends on what you do in the present.” นั่นเอง
Cockroach Theory เอาไปใช้กับชีวิตการทำงานยังไงได้บ้าง?
อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่า แมลงสาบนั้นเปรียบเทียบกับปัญหา เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าพูดจาไม่ดี เจ้านายว่า ลูกน้องนินทา หรือแม่บ่น หากเราใช้แต่ ‘ความคิดแว็บแรก’ จากอารมณ์ โวยวายเหมือนหญิงสาวในร้านอาหารก็มีแต่จะเสียกับเสีย ซ้ำเติมให้อะไรๆ แย่ลงกว่าเดิม
เพราะฉะนั้น ก่อนจะหัวเสีย หงุดหงิด หรือวู่วามทำอะไรไป ควรตั้งสติ คิดให้รอบคอบแบบเด็กเสิร์ฟ หากเราถอยออกมามองภาพกว้าง หรือจากมุมมองของบุคคลที่ 3 ปัญหาเหล่านี้อาจจะไม่ได้ใหญ่โตอะไรเลยก็ได้ แต่เป็นเรานี่แหละที่ตีโพยตีพายจนปัญหาบานปลาย แทนที่จะจบลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง
Cockroach Theory ในแง่ของการลงทุนเป็นอย่างไร?
ในมุมของการลงทุน Cockroach Theory ถูกพูดถึงว่า แมลงสาบก็ไม่ต่างอะไรจากปัญหาหรือการทุจริตที่ซ่อนอยู่ในบริษัทบางแห่ง แม้ตอนแรกจะเจอเพียง 1 ตัว แต่ควรคิดมุมกลับ สันนิษฐานต่อไว้เลยว่า อาจจะมีตัวอื่นอีก เช่นเดียวกับแมลงสาบที่อยู่ในบ้านของเรา ตอนนี้อาจจะเจอแค่ตัวเดียว แต่วันอื่นหรือหลายชั่วโมงต่อมา เราอาจจะเจอกองทัพแมลงสาบ อีกหลายสิบชีวิตก็เป็นได้
ไม่มีออฟฟิศไหนไม่มีปัญหา ไม่มีงานไหนในโลกไม่มีปัญหาหรอก หากเรารู้จักตอบสนองให้เป็น ไม่ปล่อยให้สติเตลิดไปไกล ย่อมมีทางออกในทุกเรื่อง ทุกปัญหาเสมอ!