หลังจากที่สู้ชีวิต (แต่ชีวิตสู้กลับ) กับงานมาทั้งสัปดาห์ วันศุกร์สุดหรรษาก็เดินทางมาถึงเสียที หลายๆ คนคงมีแผนการไปทานของอร่อยๆ หลังก้าวเท้าออกจากออฟฟิศแล้วแน่นอน
บางคนเลือกปิ้งย่างร้านคู่ใจ เสียงฉู่ฉ่าของเนื้อบนเตาร้อนๆ ที่ได้ยินก็ทำให้มีความสุข หรือบางคนเลือกสุกี้ ชาบูร้านโปรด แค่ได้ซดน้ำซุปรสชาติกลมกล่อม ความเหน็ดเหนื่อยที่มีก็พลันหายเป็นปลิดทิ้ง
และถ้าพูดถึงหนึ่งในร้านสุกี้เก่าแก่ที่เป็นตำนานมาอย่างยาวนาน คงหนีไม่พ้น ‘COCA Restaurant’ หรือที่ทุกคนเรียกกันติดปากว่า ‘โคคา สุกี้’ นั่นเอง
โคคา เป็นเหมือนสถานที่ฝังแคปซูลแห่งความทรงจำของใครหลายๆ คน เพราะความผูกพันระหว่างคนกับอาหารเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ขาด และมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่ร้านอาหารแห่งนี้
“โคคา คือสถานที่แห่งการปลูกต้นรัก พัฒนาความสัมพันธ์ให้หวานชื่น”
“โคคา คือสถานที่แห่งการสังสรรค์ กระชับมิตรกับเพื่อนฝูง”
“โคคา คือสถานที่แห่งการใช้เวลากับครอบครัวอย่างมีความหมาย”
แล้ว ‘โคคา’ ทำให้ร้านของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่งดงามในชีวิตของใครหลายๆ คนได้อย่างไร? Future Trends จะมาชวนทุกคนพูดคุยในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กัน
ความสำเร็จของ ‘โคคา’ และสาขาสยามสแควร์ในความทรงจำ
เมื่อพูดถึงโคคา สิ่งแรกที่หลายๆ คนนึกถึงคงเป็น ‘สยามสแควร์’ เพราะสาขาสยามสแควร์ ถือเป็นสาขาเด่นของร้าน ไม่ว่าจะด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในทำเลทอง หรือการตกแต่งร้านที่สวยงาม ก็ล้วนแต่เป็นเหตุผลที่ทำให้สาขาสยามสแควร์ได้รับความนิยม
แต่มีพบก็ต้องมีจาก และเวลาแห่งการจากลาก็มาถึง…
เมื่อกลางปี 2021 ที่ผ่านมา ถือเป็นการปิดตำนานสาขาแห่งความทรงจำอย่าง ‘สยามสแควร์’ เพื่อก้าวสู่การเริ่มต้นเรื่องราวบทใหม่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
โคคาดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 60 ปี ยิ่งในยามที่ธุรกิจอาหารแข่งขันกันอย่างดุเดือดในน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) เช่นนี้ การรักษาความยั่งยืนของแบรนด์มาจนถึงปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้โคคาต้องปรับตัวเร็วขึ้น
จากภัตตาคารเก่าแก่ที่โด่งดังเรื่อง ‘สุกี้’ เลือกเครื่องแบบตามสั่ง (A La Carte) เน้นบริการแบบนั่งทานในร้าน และไม่เคยมีบริการเดลิเวอรี ต้องปรับตัวสู่แนวทางใหม่อย่างเร่งด่วน เพราะมาตรการควบคุมโรคจากภาครัฐ ส่งผลกระทบต่อโมเดลธุรกิจของโคคาโดยตรง
ภายใต้การบริหารงานของ ‘นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ’ ทายาทรุ่นที่สามมีการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบเดลิเวอรี หรือการพลิกโฉมและถอดแบบความเป็นโคคามาสู่ ‘COCA Pop Up’ ร้านอาหารสไตล์ home-cooking ที่ยังคงกลิ่นอายของโคคาไว้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้ ก็ทำให้โคคาสามารถรอดพ้นวิกฤตจากโควิด-19 มาได้
บทเรียนการพลิกโฉม ‘โคคา’ ในวันที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป
วิกฤตที่เข้ามาอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการปรับตัวของโคคามีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง
เราได้รวบรวมข้อมูลแนวทางการปรับตัวของโคคา และสรุปเป็น Key Takeaway ที่มีประโยชน์ทั้งในด้านของการทำธุรกิจและการพัฒนาตัวเองมาฝากทุกคน 2 ข้อ ดังนี้
1. การก้าวออกจาก ‘คอมฟอร์ตโซน’ (Comfort Zone) ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
โดยปกติแล้ว แบรนด์ที่อยู่ในโลกของการทำธุรกิจมานานจะมี ‘คอมฟอร์ตโซน’ ของตัวเอง ซึ่งก็คือวิธีการปฏิบัติหรือการบริหารที่ทำมาจนเคยชิน สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งไม่ดี แต่แค่ไม่ตอบโจทย์กับยุคสมัยอีกต่อไป เพราะบริบทสังคมเมื่อ 60 ปีที่แล้วกับบริบทสังคมในปัจจุบันต่างกันโดยสิ้นเชิง
การที่ผู้บริหารรุ่นสามพยายามผลักดันร้าน COCA Pop Up และพัฒนาระบบเดลิเวอรี ถือเป็นการพาธุรกิจครอบครัวออกจากคอมฟอร์ตโซน เพื่อไปเจอแนวทางใหม่ที่เหมาะสมกว่า หากธุรกิจยังคงยึดติดวิธีการบริหารแบบเดิม นอกจากจะต้องรับความเสี่ยงจากวิกฤตมากขึ้นแล้ว การขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ก็คงยังไม่เกิดขึ้นด้วย
2. แนวทางที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเกิดจากวิธีการที่ซับซ้อน
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือการใช้วิธีการทำงานแบบ ‘Agile Organizaton’ ทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เริ่มจากการลดความซับซ้อนและขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ไปจนถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกคน
นัฐธารีเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Cloud เกี่ยวกับการลดขั้นตอนการทำงานของโคคา จากที่แต่เดิมใช้การสื่อสารผ่านอีเมลก็เปลี่ยนมาใช้ไลน์ (Line) อัปเดตทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแบบวันต่อวัน ต้องลดความซับซ้อนในการทำงาน เพื่อให้เกิดการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
และวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ซับซ้อน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โคคาพบเจอแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมมาจนถึงทุกวันนี้
ความสำเร็จในการพลิกโฉมของ ‘โคคา’ สามารถสะท้อนแนวคิดของการก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะมีความเสี่ยง เพราะไม่มีใครคาดเดาอนาคตได้ แต่ถ้าไม่ก้าวออกมาก็คงไม่มีโอกาสได้เจอสิ่งใหม่ๆ อย่างแน่นอน
Sources: https://bit.ly/3ffI6th