เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 เมษายน 2565) สภาพอากาศในไทยก็เกิดหนาวขึ้นผิดหูผิดตา โดยในกรุงเทพฯ มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 22 องศาเซลเซียส แต่ในบางจังหวัดมีอุณหภูมิเฉลี่ยแค่ 17-18 องศาเซลเซียส เรียกได้ว่า หนาวจนต้องหยิบเสื้อกันหนาวมาใส่กันเลยทีเดียว
ซึ่งแน่นอนว่า สภาพอากาศแบบนี้ ต้องสร้างความมึนงงให้คนไทยเป็นธรรมดา เพราะนี่คือเดือนเมษายนที่ขึ้นชื่อว่าร้อนมากถึงร้อนที่สุด ทำให้หลายๆ คนคิดว่า การที่สภาพอากาศแปรปรวนขนาดนี้ ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือนอะไรหรือเปล่า?
จะว่านี่คือการส่งสัญญาณเตือนจากธรรมชาติก็ไม่ใช่ซะทีเดียว เพราะจริงๆ แล้ว ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สภาพอากาศนั้น มีความแปรปรวนมาโดยตลอด ซึ่งมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ’ หรือ ‘Climate Change’ ที่ทุกคนต่างก็เคยได้ยินกันมา
ถึงแม้ว่า ลมหนาวในไทยที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ จะเป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกําลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวกับ Climate Change สักเท่าไร แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Climate Change ยังเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวลมากอยู่ดี
ทั้งนี้ Climate Change ไม่เพียงแต่ทำให้สภาพอากาศเกิดความแปรปรวนเท่านั้น แต่สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ต่างก็ได้รับผลกระทบตามมามากมาย เช่น น้ำท่วมจากการที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูง สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรลดต่ำลง เป็นต้น
‘เมื่อปัญหาจาก Climate Change ยังแก้ไขไม่ได้ อย่างน้อยขอให้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ก็ยังดี’
ด้วยความที่สิ่งมีชีวิตต่างได้รับผลกระทบจาก Climate Change กันอย่างมากมาย สหภาพยุโรป (European Union : EU) จึงทุ่มงบกว่า 140 ล้านปอนด์ ใช้ในการพัฒนาโปรเจกต์ ‘Digital Twins’ เพื่อหวังสร้างโลกเสมือนจริงที่มีชื่อว่า ‘Destination Earth’ หรือ ‘โลกแห่งจุดหมายปลายทาง’ ซึ่ง EU คงมุ่งหวังให้โลกเสมือนจริงใบนี้ สามารถช่วยโลกที่เราอาศัยอยู่ ให้เป็นดั่งจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่สวยงามของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลได้อย่างแท้จริง
Destination Earth ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commision) ใช้ความพยายามมาเป็นแรมปี ในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ สภาพแวดล้อมทางทะเล พื้นที่ขั้วโลก และเหตุการณ์สำคัญด้านสภาพอากาศที่ทั้งละเอียดและแม่นยำขึ้น
ทั้งนี้ Destination Earth ยังมีเป้าหมายในการช่วยเหลือรัฐบาลแต่ละประเทศ ให้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติจากสภาพอากาศแปรปรวนที่ไม่อาจจะประเมินค่าความเสียหายได้ อย่างเช่น เหตุการณ์น้ำท่วมจากฝนตกหนักในประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ส่งผลให้มีผู้คนล้มตาย และอาคารบ้านเรือนต่างก็เสียหายเป็นจำนวนมาก
ปีเตอร์ บาวเออร์ (Peter Bauer) หนึ่งในทีมนักพัฒนาของโปรเจกต์นี้ ได้กล่าวว่า จริงๆ แล้ว Destination Earth มีลักษณะเหมือนกับเมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่เต็มไปด้วยข้อมูลของสภาพอากาศที่แปรปรวน ไม่มีอวทาร์ (Avatar) อาศัยอยู่ เป็นเพียงโลกเสมือนจริงที่ทำให้เราเข้าใกล้สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ AI และการประมวลผลประสิทธิภาพสูง (HPC)
หลังจากที่ EU ได้มีการเปิดเผยโปรเจกต์ Digital Twins ออกมา ประสิทธิภาพของ Destination Earth จึงถูกจับตามองเป็นอย่างมากว่า จะสามารถเข้ามาทดแทน หรือเหนือกว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในการพยากรณ์สภาพอากาศอยู่เดิมอย่างไร?
ทิม พาล์มเมอร์ (Tim Palmer) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (University of Oxford) ได้แสดงความเห็นเชิงสนับสนุนว่า “เทคโนโลยีเดิมที่ใช้รับมือกับ Climate Change อยู่นั้น มันล้าสมัยเกินไปแล้ว ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเชื่อมั่นว่า Destination Earth จะเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทรงพลังมาก”
นอกจากนี้ เอริช ฟิสเชอร์ (Erich Fischer) นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์ ซือริช (ETH Zurich) ก็ได้แสดงความเห็นด้วยว่า “ถึงแม้ว่า Destination Earth จะไม่สามารถพยากรณ์ช่วงเวลาการเกิดภัยพิบัติที่แม่นยำได้ขนาดนั้น แต่ก็ยังสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เลวร้ายได้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการวางแผนรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแน่นอน”
และในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การพัฒนา Destination Earth ก็ดูจะรุดหน้าไปมากทีเดียว เพราะหลังจากที่ทางทีมวิจัยได้ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจจับสภาพอากาศแปรปรวน และการเกิดภัยพิบัติลงไป ก็พบว่า การตอบสนองของโปรแกรมภายในสามารถทำงานได้อย่างดี และมีแนวโน้มที่ให้ผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำ โดยปีเตอร์ยังได้วางแผนที่จะพัฒนาระบบผ่านการใช้ Machine Learning กับการเก็บข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับพลังงานและแสงอาทิตย์เพิ่มด้วย
แต่กว่าการพัฒนา Destination Earth จะแล้วเสร็จ และสามารถใช้งานได้จริงตามแผนที่วางไว้ คงเป็นช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2024 แล้ว คำถามคือ กว่าจะถึงเวลานั้น Destination Earth ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ หรือหาก EU ทุ่มงบไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้อยู่เดิม จะคุ้มค่ากว่าหรือเปล่า และนี่จะเป็นการที่ EU ต้องเสียงบก้อนใหญ่ไปฟรีๆ หรือไม่ เราคงต้องติดตามเส้นทางการพัฒนาโลกเสมือนใบนี้กันต่อไป
จริงๆ แล้ว การสร้าง Destination Earth ก็ถือว่ามีข้อดีอยู่ เพราะการลงทุนสร้างโลกเสมือนจริงย่อมคุ้มค่ากว่าการใช้เงินเพื่อฟื้นฟูความเสียหายหลังจากเกิดภัยพิบัติแล้วแน่นอน แต่ก็ดูจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไปหน่อย ที่ Destination Earth สามารถทำได้แค่คาดการณ์ว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งคงจะดีกว่านี้ ถ้า Destination Earth สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาจาก Climate Change ที่เป็นต้นเหตุของภัยพิบัติเหล่านั้นได้ด้วย
Sources: https://bit.ly/3xKm8WQ