เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้วมีโพสต์ข้อความและรูปจากร้านสะดวกซักแห่งหนึ่งถูกแชร์ออกไปมากกว่า 4,000 ครั้ง โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจั่วหัวด้วยแฮชแท็ก #อุทาหรณ์ของธุรกิจแฟรนไชส์
เนื้อหามีใจความว่า ร้านสะดวกซักแฟรนไชส์ ‘วอชคอยน์’ (Washcoin) ที่มีมากกว่า 80 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต้องปิดตัวลงกระทันหันจากการแจ้งจดหมายผ่านกลุ่มไลน์เวลาเช้ามืดวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมาว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบาก รวมถึงบริษัทเองไม่มีเงินทุนมาหมุนเนื่องจากถูกธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ
การบอกเลิกกิจการและสัญญาแบบฟ้าผ่าครั้งนี้มีสัญญาณอันตรายล่วงหน้ามาบ้าง ทั้งการส่งช่างซ่อมบำรุงเครื่องช้า ไม่มีอะไหล่เปลี่ยน ระบบหลังบ้านหลายอย่างที่ดูติดขัด และการออกโปรโมชันที่ดูเหมือนว่าจะเป็นการระดมเงินเพื่อนำไปหมุนเวียนในระบบไปพลางก่อน
ซึ่งการบอกยกเลิกสัญญาตอนเช้ามืดได้สร้างความตกใจให้กับเจ้าของแฟรนไชส์รายนี้อย่างมาก เพราะไม่กี่ชั่วโมงหลังจากได้รับจดหมายเลิกกิจการ เมื่อเเดินทางไปถึงร้านของตนก็พบว่า อุปกรณ์ทุกอย่างถูกยกออกไปจากร้านหมดแล้ว เหลืองเพียงผนังรูปโลมาที่เป็นไอคอนของแบรนด์สะดวกซักรายนี้
แฟรนไชส์ร้านสะดวกซักเริ่มเป็นที่นิยมในบรรดากลุ่มคนที่สนใจลงทุนทำธุรกิจมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีหลัง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่คล้ายกับหอพักที่ใช้เงินลงทุนก้อนหนึ่ง มีเวลาคืนทุนไปสักระยะ จากนั้น เจ้าของก็จะอยู่ในสถานะ ‘เสือนอนกิน’ ไปโดยปริยาย อาจมีต้นทุนค่าซ่อมบำรุงนิดหน่อยตามวาระแต่ก็นับว่าเป็นไลน์ธุรกิจที่น่าสนใจมาก เพราะร้านสะดวกซักเหล่านี้โดดเด่นเรื่องความสะอาด สะดวกสบาย
นอกจากเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าที่ดูทันสมัย การใช้ความร้อนและน้ำร้อนในการชำระล้างยังเข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนี้ รวมถึงที่ผ่านมาร้านสะดวกซักมักจะตั้งอยู่ในทำเลที่ใกล้กับมหาวิทยาลัย หรือย่านคนทำงานเสียส่วนใหญ่ การขยายจำนวนของร้านจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแบรนด์แฟรนไชส์เจ้าใหญ่อีกมากที่ตั้งเป้าขยายสาขาอีกหลายร้อยแห่งในปี 2565
แล้วการล่มสลายของวอชคอยน์ให้อะไรกับเราบ้าง? อย่างแรกเลยคือ การทำธุรกิจแฟรนไชส์ที่หลายคนอาจจะเคยคิดกันว่า มีความปลอดภัยสูง เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการลงทุนมาก เรื่องนี้อาจไม่จริงเสมอไปเพราะการทำธุรกิจแม้ว่าจะเป็นการปั้นขึ้นมาจากศูนย์ด้วยตัวเอง หรืออาศัยการซื้อแฟรนไชส์จากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือก็มีความเสี่ยงในการลงทุนทั้งสิ้น ผู้ประกอบการต้องศึกษาค้นคว้าทั้งประวัติเจ้าของ รายได้บริษัท ทุนจดทะเบียน หาข้อมูลหลายๆ ด้านประกอบการตัดสินใจให้มากขึ้น ผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ผู้บริหารมีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจแบบไหน
ส่วนฝั่งแฟรนไชส์เอง กรณีศึกษานี้อาจจะไม่ได้ลดทอนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนหรือผู้บริโภคลงมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าของต้องมีวิธีการสื่อสารที่ชัดเจน สม่ำเสมอ จริงใจกับผู้ลงทุน ความล่าช้าจะทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเชื่อมั่นได้ และถ้าเกิดปัญหาภายในจริงๆ ต้องจริงใจที่จะแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับพวกเขา
อย่าลืมว่าผู้ที่นำเงินมาลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์อาจจะไม่ใช่นักธุรกิจผู้ช่ำชอง บางคนมีสถานะเป็นพนักงานบริษัท หรือวัยเกษียณที่เก็บเงินมาเพื่อลงทุนต่อยอดสร้าง ‘passive income’ ให้กับตัวเอง การกระทำแบบนี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์อยู่แล้วแน่ๆ และหากในอนาคตเจ้าของแฟรนไชส์ต้องการเปิดแบรนด์ใหม่ก็จะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุน ยากที่จะพลิกตัวฟื้นกลับมาได้ในเร็ววัน
Sources: https://bit.ly/3k4LjeD