‘ธุรกิจสอนกันได้’ ส่องเบื้องหลังความสำเร็จ อะไรทำให้ MIT ให้สร้างผู้ประกอบการได้มหาศาล

Share

การเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ สอนกันได้หรือไม่?

เราอาจนึกถึงผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จระดับโลกอย่าง ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) Virgin, สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) Apple หรือ บิล เกตส์ (Bill Gates) Microsoft และนึกไปว่า คนเหล่านี้เป็นมนุษย์สายพันธุ์พิเศษที่ไม่สามารถทำตามได้ แต่แท้จริงพวกเขาประสบความสำเร็จจากผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมของพวกเขา

นั่นทำให้เห็นว่า คนที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน และกระบวนการต่างๆ สามารถสอนหรือถ่ายทอดความรู้ให้กันได้

สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT เป็นหนึ่งในสถาบันที่สอนการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถผลิตผู้ประกอบการที่ได้สร้างธุรกิจมาไม่น้อยกว่า 25,000 แห่ง (จากการรวบรวมข้อมูลถึงปี 2006) โดยมีบริษัทใหม่ถือกำเนิดกว่า 900 แห่งในทุกๆ ปี มีการจ้างงานรวมกันกว่า 3 ล้านคน และสร้างรายได้รวมกันปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

เบื้องหลังความสำเร็จ

ความสำเร็จของ MIT คือ ส่วนผสมระหว่างจิตวิญญาณกับทักษะการเป็นผู้ประกอบการ กล่าวคือ สถาบันมีการสนับสนุนให้ผู้คนสร้างธุรกิจ โดยอาศัยบุคคลต้นแบบที่มีอยู่มากมาย ซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้สูงเกินจะเอื้อมถึง

รวมถึงมีการส่งเสริมให้มีบรรยากาศความเป็นไปได้และการร่วมมือกันในทุกอย่าง นักศึกษาจึงซึมซับความคิดว่า “ฉันก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้เหมือนกัน” และเชื่อมั่นในประโยชน์ของการสร้างธุรกิจ

บรรยากาศของความกระตือรรือร้นและร่วมมือกัน เพิ่มพูนจากห้องเรียนที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน พบปะปฏิสัมพันธ์ สร้างเครือข่าย กิจกรรมนอกหลักสูตรต่างๆ ซึ่งสอดคล้องเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่

อีกปัจจัยที่สำคัญคือ สังคมภายในสถาบัน นักศึกษาไม่ได้เรียนรู้และบ่มเพาะทักษะการเป็นผู้ประกอบการเพียงลำพัง แต่เป็นการร่วมมือกันกับเพื่อนนักศึกษา ซึ่งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนถึงโครงการที่กำลังทำอยู่เสมอ และผลักดันให้แข่งขันกัน รวมถึงเรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนและการอยู่ร่วมกันด้วย

วงจรสร้างผู้ประกอบการ

  1. ได้เห็นความสำเร็จของบุคคลต้นแบบที่เป็นผู้ประกอบการ ส่งผลให้เกิด จิตวิญญาณแห่งผู้ประกอบการตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยเชื่อว่า “อยากเป็นผู้ประกอบการและสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างบุคคลต้นแบบอื่นๆ”
  2. มีความปรารถนาที่จะเรียนรู้ เกี่ยวกับทักษะต่างๆ ของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อบรรลุศักยภาพของตนเอง
  3. ลงเรียนวิชาต่างๆ ที่จำเป็นและสนใจด้วยความกระตือรือร้น แน่วแน่เช่นเดียวกับนักศึกษาอีกหลายคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน
  4. เรียนรู้มากขึ้น ไม่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกอย่างที่จำเป็น ซึ่งเป็นการกระตุ้นผู้สอนด้วย
  5. ผู้สอนพัฒนาตัวเอง เมื่อพบว่านักศึกษามีความกระตือรือร้นและไฟในการเรียนรู้ ผู้สอนจ้องพัฒนาให้สอดรับกับความต้องการของนักศึกษา
  6. พัฒนาหลักสูตรให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
  7. นักศึกษาประสบความสำเร็จ ในการเป็นผู้ประกอบการ สามารถสร้างธุรกิจของจนเองได้อย่างภาคภูมิและได้รับการยอมรับ จนกลายเป็นหนึ่งในบุคคลต้นแบบที่นักศึกษาคนอื่นๆ หรือรุ่นหลังจะได้ศึกษาเป็นแบบอย่าง (วนกลับไปที่ข้อ 1 เป็นวงจรไม่รู้จบ)

วงจรเหล่านี้ ส่งเสริมให้นักศึกษากลายเป็นผู้ประกอบการได้ในที่สุด เป็นความสำเร็จที่ MIT สามารถผลักดันให้ผู้คนสร้างธุรกิจของตนเอง และตอกย้ำว่า การเป็นผู้ประกอบการนั้นสามารถสอนได้ โดยต้องมีความปรารถนาและทักษะที่จำเป็น

โอกาสต่อไป Future Trends จะนำเสนอขั้นตอนการเปลี่ยนไอเดียในหัวให้กลายเป็นธุรกิจจริง สำหรับมือใหม่หรือคนที่มีความฝันแต่ยังไม่รู้จะทำอย่างไร จากคำแนะนำของ บิล อูเล็ต (Bill Aulet) อาจารย์จาก MIT Sloan School of Management และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการของ MIT โปรดติดตามตอนต่อๆ ไป

เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล

Source: หนังสือ ‘วิชาสร้างธุรกิจฉบับ MIT’ (Disciplined Entrepreneurship) เขียนโดย Bill Aulet แปลโดย วิญญู กิ่งหิรัฐวัฒนา สำนักพิมพ์ We Learn