ประเทศที่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง คือประเทศที่มีระบบคมนาคมที่ดี ว่าด้วยเหตุผลที่ไทยต้องมี ‘รถเมล์ไฟฟ้า’

Share

เมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 ผมมีโอกาสไปเที่ยวที่สามพันโบก จ.อุบลราชธานี แหล่งโขดหินธรรมชาติริมแม่น้ำโขง ที่หินถูกกระแสน้ำกัดเซาะเป็นรูปร่างที่สวยงาม เป็นบ่อน้ำใสบ้าง เป็นหินรูปร่างประหลาดบ้าง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสร้างรายได้ เลี้ยงดูคนในพื้นที่ได้หลายครอบครัว

คนในพื้นที่มีรายได้จากการให้บริการรถรับส่ง บริการล่องเรือ บริการมัคคุเทศก์ ร้านขายน้ำขายอาหาร และของที่ระลึก ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

แม่ค้าในพื้นที่เล่าให้ผมฟังว่า ภูมิใจในความสวยงามของบ้านเกิด อีกทั้งต้องการให้ผู้คนได้มาเห็นและสัมผัสธรรมชาติริมโขงเยอะๆ คนที่นี่จะได้มีงานทำด้วย

ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ผมได้มีโอกาสไปที่ เขาพลายดำ อุทยานแห่งชาติขนอม จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีถนนเลียบทะเลฝั่งอ่าวไทยที่สวยที่สุด ชื่อถนนขนอม-สิชล โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวชมวิวภูเขาและทะเลอันงดงาม โดยระหว่างทางมีที่พักและร้านอาหารมากมาย อีกทั้ง สุดปลายทางสามารถต่อไปถึงท่าเรือเฟอร์รี่เพื่อข้ามไปยังเกาะสมุยและพะงัน ได้อีกด้วย

ผมกลับจาก อุบลราชธานีและนครศรีธรรมราช ด้วยความหวัง ผมเห็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงเมืองเข้าด้วยกัน สร้างงาน สร้างเทคโนโลยี ส่งเสริมการท่องเที่ยว มีส่วนลดโลกร้อน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน ทั้งสองพื้นที่มีศักยภาพรับนักท่องเที่ยวได้มากกว่านี้ มีโอกาสสร้างเศรษฐกิจและสร้างงานได้มากกว่านี้

ทำไมเราจึงดึงศักยภาพนั้นออกมาใช้ไม่ได้ ?

ปัญหาของสามพันโบกและเขาพลายดำ เหมือนกันคือ นักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว จะไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือถ้าเข้าถึงได้อย่างลำบาก อาจจะต้องเดินทางหลายต่อ และไม่มีข้อมูลเพียงพอให้นักท่องเที่ยว

สามพันโบก อยู่ไกลจากตัวเมืองอุบลราชธานี 120 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถทัวร์ รถตู้ หรือรถสองแถว นักท่องเที่ยวจะใช้เวลานาน และไม่มีข้อมูลสำหรับการเชื่อมต่อที่พียงพอ ขณะที่ถนนเส้นขนอม-สิชล ไม่มีรถเมล์สาธารณะวิ่ง (หรือถ้ามี ผมก็หาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตไม่เจอ)

ถ้าใครติดตามโครงสร้างเศรษฐกิจไทย จะเห็นได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักคืออุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสองเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งออกมากที่สุดสลับกันเป็นอันดับหนึ่งและสองมาตลอด 20 ปี

ปัญหาหลักคือ ทั้งสองอุตสาหกรรมไม่สามารถนำพาประเทศไทยไปไกลกว่านี้ได้ ด้วยปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การอิ่มตัวของตลาดภายในประเทศ การเข้ามาของหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น รวมถึงในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งสองอุตสาหกรรม ไม่มีแนวโน้มที่จะจ้างคนเพิ่ม ขยายการลงทุน หรือเพิ่มกำลังการผลิตครั้งใหญ่ในไทย

ขณะเดียวกัน ประสบการณ์จากการพัฒนาในต่างประเทศ ได้บอกเราว่า

“การจะนำพาประเทศที่มีรายได้ปานกลางเช่นไทย ไปสู่ประเทศที่ร่ำรวยได้ มีอยู่ทางเดียวคือ ‘การพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองให้สามารถแข่งขันกับชาวโลกได้’ ซึ่งเราละเลยการพัฒนาเทคโนโลยีของเราเองมาตลอดการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา”

นโยบายสร้างอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ตั้งอยู่บนการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ (มาบตาพุต) และการขายแรงงานราคาถูก เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (แหลมฉบัง) โดยไม่มีความทะเยอทะยานที่จะสร้างตราสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของคนไทยที่จะแข่งขันกับชาวโลก เพื่อดึงมูลค่าเพิ่มจากโลก มาสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับคนในประเทศ

ง่ายๆ คือ อุตสาหกรรมที่มีอยู่ ไม่พอที่จะพาประเทศไปข้างหน้า ทั้งในด้านการสร้างงานและการสร้างเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่ โดยไม่หวังพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ

ขนส่งสาธารณะไทย

หันกลับมามองปัญหาการคมนาคมขนส่งสาธารณะในประเทศไทย เราไม่เคยลงทุนที่จะสร้างขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมโยงประชาชนและโอกาสเข้าด้วยกันอย่างจริงจัง

“การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของรถไฟ รถทัวร์ รถตู้ สองแถว หรือจักรยานยนต์รับจ้าง ล้วนเป็นไปเองตามยถากรรม ไม่มีการวางแผนขนส่งสาธารณะของเมือง เราผลักภาระการเดินทางให้ประชาชน บังคับให้คนต้องมีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว”

ในประเทศที่คนมากกว่าครึ่งมีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน การผ่อนรถ จ่ายค่าน้ำมัน รวมถึงค่าบำรุงรักษารถ คือการส่งเสริมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

อย่าลืมว่า การเดินทางคือการเห็นโลก การแลกเปลี่ยนความรู้ การพบผู้คนใหม่ๆ การเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ไม่มีการเดินทาง เข้าไม่ถึงความรู้ เข้าไม่ถึงโอกาส

“ประเทศที่เจริญแล้ว ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี น่าอยู่ ล้วนมีการคมนาคมขนส่งสาธารณะที่ดีทั้งสิ้น”

ลองจินตานาการดูว่า ถ้าทุกจังหวัดลงทุนในรถเมล์ไฟฟ้าที่สะอาด สะดวก ราคาสมเหตุสมผล ตรงเวลา เชื่อมโยงทุกตำบลอำเภอเข้าหากัน เชื่อมโยงชุมชน ตลาด งาน พื้นที่เศรษฐกิจ โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ราชการ สถานที่ท่องเที่ยวเข้าหากัน ประเทศไทยจะไปได้อีกไกลเท่าไร และภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนจะลดลงอีกเท่าไร ?

ระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ยังสามารถช่วยลดเรื่องรถติด ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดภาวะโลกร้อน ลดความแออัดและอุบัติเหตุบนถนนได้อีกด้วย

ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างอุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง เป็นการพัฒนาแบบก้าวข้ามรถเมล์ที่ใช้เครื่องยนต์ ไปเป็นรถเมล์ไฟฟ้า ประสบการณ์จากการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรามีวิศวกรและช่างเทคนิคมากพอ ที่จะต่อยอดสร้างอุตสาหกรรมนี้ และมีบริษัทเอกชนของคนไทยเริ่มทำรถเมล์ไฟฟ้าด้วยตัวเองแล้ว เช่น บริษัท SakunC ที่สร้างรถเมล์ไฟฟ้าจากโครงสร้างอะลูมิเนียม เป็นต้น

ห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ยาว มีทั้งใช้การใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่มีอยู่ (เช่น โครงสร้างรถ, ตกแต่งภายใน หรือระบบไฟฟ้า) และสร้างเทคโนโลยีใหม่ (เช่น แบตเตอรี่ หรือระบบขับเคลื่อน) ซึ่งจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยเองได้

นอกจากนี้ การสร้างระบบรถเมล์ไฟฟ้า จะส่งเสริมเศรษฐกิจสองข้างทาง ที่เอื้อให้กับพ่อค้าแม่ค้าและร้านค้าขนาดเล็กริมทาง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ และเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ในฮังการีมีการพัฒนาป้ายรถเมล์อัจฉริยะ โดยที่ป้ายรถเมล์มีทั้งเครื่องปั๊มหัวใจ, บริการส่งของ, ส่งไปรษณีย์, บริการเรียกแท็กซี่, บริการจ่ายเงิน, บริการ wifi, ตู้รีไซเคิลขวดพลาสติก, บริการเช่าจักรยาน และถึงแผนป้ายแสดงจุดท่องเที่ยวและข้อมูลการเชื่อมต่ออย่างครบครัน

ลองคิดง่ายๆ ถ้าเราลงทุนรถเมล์ไฟฟ้า 10,000 คัน เพื่อทดแทนของเดิมในกรุงเทพฯ และอีก 10,000 คัน สำหรับต่างจังหวัด รถเมล์ไฟฟ้าราคาประมาณคันละ 3 ล้านบาท เรากำลังพูดถึงการลงทุน 60,000 ล้านบาท คือ 6 หมื่นล้าน ที่จะสร้างงานใหม่และสร้างเทคโนโลยีของคนไทย ในขณะเดียวกัน ก็แก้ปัญหาสังคม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกัน

“ผมเชื่อว่า คนไทยมีศักยภาพทำได้ เราสามารถสร้างประเทศที่น่าอยู่กว่าที่เป็น ให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานที่มั่นคงทำ และมีเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเองได้”