“เพิ่งทำงานออฟฟิศใหม่ได้แค่ไม่กี่เดือนก็ลาออกซะแล้ว”
“งานไม่เหมือนที่คิดไว้ ไม่น่าลาออกจากมาเลย อยากกลับไปจัง”
เคยไหมคะ หลายๆ ครั้ง เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ แม้จะรู้สึกว่า ชั่งน้ำหนักเหตุผลมาเป็นอย่างดี แต่พอตัดสินใจลงไปแล้ว กลับรู้สึกว่า ‘คิดผิด’ การลาออกจากออฟฟิศเดิม ที่พอเดินออกมาแล้วก็ดันคิดถึงวันเวลาดีๆ เก่าๆ ขึ้นมา
ผลสำรวจของจ็อบสลิสต์ (Joblist) แพลตฟอร์มหางานจากกลุ่มตัวอย่างในสหรัฐอเมริการะบุว่า จากกระแส The Great Resignation ในปีที่แล้วมีคนตัดสินใจลาออกจากงานมากถึง 48 ล้านคน โดยตัวเลขดังกล่าวก็มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันเมื่อ 10 ปีที่แล้วถึง 2 เท่าตัวด้วย
แต่ที่น่าสนใจก็คือ 1 ใน 4 บอกว่า รู้สึกตัดสินใจผิดที่ลาออก ซึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์เป็นการลาออกจากงานเก่าทั้งที่ยังไม่มีงานใหม่มารองรับ และพบว่างานใหม่นั้นหายากกว่าที่คิด 22 เปอร์เซ็นต์บอกว่า คิดถึงเพื่อนร่วมงานที่บริษัทเดิม และ 17 เปอร์เซ็นต์ยังบอกด้วยว่า งานใหม่ไม่เหมือนที่คาดหวังไว้
ในขณะเดียวกัน 16 เปอร์เซ็นต์ก็บอกว่า เมื่อลาออกมาแล้วพบว่า งานเก่าดีกว่าที่คิดไว้ 9 เปอร์เซ็นต์บอกว่า งานใหม่มีวัฒนธรรมการทำงานและการจัดการที่แย่ และ 3 เปอร์เซ็นต์บอกว่า รายได้ที่มากขึ้นจากบริษัทใหม่ไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องเจอ รวมไปถึง 23 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ออฟฟิศเดิมมีการจีบให้กลับไปทำงานด้วยอีกครั้ง หรือพูดง่ายๆ ก็คือชวนให้กลับไปเป็น ‘พนักงานแบบบูมเมอแรง (Boomerang Employee)’ นั่นเอง
ในอดีต การลาออกอาจจะดูคล้ายกับเป็นการทรยศ และหากจะย้อนกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเดิมก็ดูเป็นเรื่องยาก แถมบางคนก็อาจจะมี Concern เรื่องการไปไม่รอดในสายตาเพื่อนร่วมงานเข้ามาเกี่ยวด้วย อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า หลังจาก The Great Resignation จบลง อาจจะเกิด ‘The Great Boomerang’ ตามมา
เพราะทุกวันนี้ เทรนด์การกลับไปทำงานที่ออฟฟิศเดิมเริ่มเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นแล้ว ประกอบกับความเป็นจริงที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ไปแล้วจะเจอสิ่งที่ดีกว่า บางคนก็สำเร็จ แต่ขณะเดียวกัน บางคนก็ล้มเหลว อีกทั้ง อะไรแบบนี้ก็เป็น ‘Win-win situation’ ซึ่งกันและกันด้วย
อย่างบริษัทก็ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และได้ทักษะใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพความแกร่ง ส่วนตัว Candidates เองก็พอจะรู้ตื้นลึกหนาบางของบริษัทแล้ว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา และเสี่ยงน้อยลงที่จะเข้าไปเจอกับสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ ฉะนั้น หากวันหนึ่งอยากหันหลังกลับไปรันวงการที่ออฟฟิศเดิมอีกครั้ง และมองหา Comfort Zone เก่าก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
แอนโธนี่ คลอตซ์ (Anthony Klotz) ผู้บัญญัติคำว่า The Great Resignation เคยกล่าวว่า ต่อไป การกลับไปทำงานที่บริษัทเดิมจะกลายเป็นเทรนด์การจ้างงานทั่วโลก นอกจากนี้ ข้อมูลจากลิงก์อิน (LinkedIn) และเดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ก็ยังชี้ให้เห็นเช่นกันว่า ในปี 2021 จำนวนพนักงานแบบบูมเมอแรงเพิ่มขึ้นจากปี 2019 จากเดิมอยู่ที่ 3.9 เปอร์เซ็นต์ สู่ 4.6 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มว่า จะมากขึ้นเรื่อยๆ
คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเราควรจะอยู่ต่อที่ออฟฟิศใหม่
หรือพอแค่นี้แล้วกลับไปออฟฟิศเดิมดีล่ะ?
ก่อนหน้านี้ ชญาน์ทัต วงศ์มณี เจ้าของเพจท้อฟฟี่ แบรดชอว์ เคยกล่าวในงาน Creative Talk Conference 2022 เซสชัน ‘Should I quit my job? อยู่ต่อหรือพอแค่นี้’ ว่า “ให้เราลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า งานที่ทำอยู่ตอนนี้นำไปสู่การมีชีวิต 100 ปีที่มีคุณภาพได้หรือเปล่า?
“ลองย้อนกลับมาดูว่า งานปัจจุบันเราให้ทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโต (Skills) ไหม ให้ความมั่นคงทางการเงิน (Financial) ถ้าต้องเกษียณตอนอายุ 60 แล้วมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี เราจะมีเงินเก็บรึเปล่า มีสิ่งแวดล้อมที่ดี (Culture & People) ให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีถึง 100 ปีได้หรือไม่ หัวหน้าปัจจุบัน (Leader) กำลังเป็นตัวอย่างที่ดี สร้างให้เราเป็นหัวหน้าที่ดีคนต่อไปรึเปล่า?
“แล้วงานที่กำลังทำอยู่ ให้สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Well-Being) ที่เป็นต้นทุนสำคัญในการทำงานหรือไม่ ให้การเติบโต ความก้าวหน้าในชีวิต (Growth) ทำแล้วเดินไปข้างหน้าหรือย่ำอยู่ที่เดิมกันแน่ และอย่างสุดท้ายคือ เนื้องานทำให้ได้ทำสิ่งที่มีความหมาย (Purpose) ไม่ใช่งาน ‘คร้าบ’ ที่ทำให้เสร็จๆ ไป แต่คืองาน ‘Craft’ ที่จะ Craft ให้ดีที่สุด และเปลี่ยนให้เราเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีไหม?”
ชญาน์ทัตเสริมว่า “ให้เราพิจารณาผ่านเลนส์ของผลกระทบระยะยาว ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นเป็นที่ตั้งอย่างเดียว หมั่นสแกนกรรมตัวเองเสมอว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้อยู่ต่อ และอะไรคือเหตุผลที่ควรเลือกจะไป?
“ถ้าอยู่ต่อ ขอให้อยู่แบบมี ‘Staying Power’ อยู่แล้วมีความหมาย อยู่แล้วเรา และบริษัทเติบโต ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม แต่ถ้าเลือกที่จะจากไป ขอให้จากไปอย่างมี ‘Starting Power’ ความรู้สึกอยากเริ่มต้นใหม่ๆ อยากไปเปลี่ยนแปลง แก้ไข ทำอะไรที่เป็นบทใหม่ในชีวิต
“แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็ขอให้ ‘Leave the room better than you found it.’ ทำให้ที่ที่อยู่ดีขึ้นกว่าตอนที่เราเข้ามา มันดีเพราะเราอยู่ เพราะเราเพิ่มคุณค่าให้บริษัท ดีเพราะเราใส่ใจ เปลี่ยน ‘งานได้คร้าบ‘ ให้กลายเป็น ‘งาน Craft’ เป็นงานที่ทำให้ทุกอย่างเติบโต เป็นเรื่องดีหมด จากไปด้วยความรู้สึกว่า ที่นี่ เมื่อเราอยู่แล้วมันดี อย่าให้ที่นี่ เราจากไปแล้วมันถึงดี”
‘คิดมาก’ ได้บอกเล่าใจความหนึ่งในหนังสือ ‘เราเติบโตขึ้นในทุกๆ วัน’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า “อย่าลืมสองเรื่องสำคัญของชีวิตเป็นอันขาด หนึ่ง เราเกิดมาเพื่อมีชีวิตที่มีความสุข สอง เวลาชีวิตเราแต่ละคนมีจำกัด ดังนั้น อย่าใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราไม่มีทางจะมีความสุข”
การลาออกแล้วกลับไปที่เก่าไม่ได้แปลว่าเรายอมแพ้ ไม่ได้แปลว่าเราไปไม่รอดเสมอไป แต่คือการพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีความสุขต่างหาก เหมือนกับที่ชญาน์ทัตบอกว่า “จงดูแลบริษัทที่ชื่อว่า ‘ชีวิตของเรา จำกัด’ ให้ดี บริษัทที่เราเป็นเจ้าของ เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง เป็นทุกอย่าง บางวันก็ได้กำไร บางวันก็ขาดทุน แต่มันก็เป็นผลประกอบการทางประสบการณ์ ทุกครั้งที่เจอปัญหาในบริษัทนี้ ไม่มีทางเลยที่จะลาออกได้ เรามีคำถามว่า Should I quit my job? ได้ แต่เรามีคำถามว่า Should I quit my life? ไม่ได้ ในวันนี้ถ้าดูแลงานบริษัทให้ดีแล้ว อย่าลืมดูแลงานในบริษัท ชีวิตของเรา จำกัด ให้ดีด้วย”
Sources: https://bit.ly/3KbJysc
https://bit.ly/3pAbFb3
https://on.wsj.com/3pzf5uz
https://bit.ly/3cagNzD
งาน Creative Talk Conference 2022 เซสชัน Should I Quit My Job? อยู่ต่อหรือพอแค่นี้ โดย ชญาน์ทัต วงศ์มณี
หนังสือ เราเติบโตขึ้นในทุกๆ วัน เขียนโดย คิดมาก