เมื่อวานนี้ (10 พฤษภาคม) ถือเป็นเหมือนสงครามขนาดย่อมของโลกคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เพราะมีทั้งประเด็นของราคา ’บิตคอยน์’ (Bitcoin) เหรียญใหญ่เจ้าตลาดที่ร่วงลงจากราคาสูงสุดที่เคยทำไว้ได้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในรอบ 10 เดือน และกลุ่มเหรียญ ’Stable Coin’ หรือเหรียญที่มีความเสถียรจากการตรึงมูลค่าตามสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ดูเหมือนว่า จะไม่เสถียรตามชื่ออีกต่อไป
เหตุการณ์ในครั้งนี้ สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้เชี่ยวชาญในวงการคริปโทฯ อยู่ไม่น้อย และยังเป็นเหมือนฝันร้ายของนักลงทุน ‘ตัวจิ๋ว’ หลายๆ คนในตลาดคริปโทฯ ที่ต้องตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ฉันไม่ได้ ‘ติดดอย’ แล้ว แต่เหมือนถูกผลัก ‘ลงเหว’ ไปเลยมากกว่า
ข้อมูลล่าสุดจากกลาสโนด (Glassnode) หนึ่งในผู้ให้บริการข้อมูลบล็อกเชน (Blockchain) ได้ระบุว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ลงทุนในบิตคอยน์กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก จากการที่ราคาของเหรียญร่วงลงมาอยู่ที่ราวๆ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังไม่รวมกับอีเธอร์เรียม (Ethereum) และเหรียญอื่นอีกมากมายที่ราคาก็ร่วงลงมาไม่แพ้กัน
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมการที่ราคาของเหรียญคริปโทฯ พากันร่วงจนหมดกระดานในครั้งนี้ ถึงได้เป็นข่าวใหญ่นัก ทั้งที่ปกติแล้ว ตัวเหรียญคริปโทฯ เองก็เป็นสินทรัพย์ที่ผันผวนง่าย และเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ออกจะบ่อยไป?
วันนี้ เราจึงรวบรวมข้อมูลจากสื่อต่างๆ และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ มาวิเคราะห์เป็นความรู้ฉบับพกพาสำหรับทุกคน และยังเป็นการถอดบทเรียน เพื่อศึกษาสาเหตุที่ทำให้ราคาของเหรียญคริปโทฯ ในช่วงนี้ ร่วงลงเหวอย่างหนัก
ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ‘Fed’
ช่วงนี้ เราคงได้ยินชื่อของ ‘เฟด’ (Fed) หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ กันอยู่บ่อยครั้ง เพราะเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟดได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นแรงสุดในรอบ 20 ปี เพื่อต้านภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
โดยปกติแล้ว การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลลบกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเหรียญคริปโทฯ และตลาดหุ้นอยู่เสมอ กล่าวคือนักลงทุนจะมองว่า การลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ มีต้นทุนสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนตัดสินใจชะลอการลงทุน หรือเทขายเพื่อไปซื้อสินทรัพย์ที่มั่นคงกว่า
หากใครนึกภาพตามไม่ออก ให้ลองนึกถึงความสัมพันธ์ที่สวนทางกันของราคาทองกับราคาหุ้นไว้ เพราะว่ามันมีความคล้ายกันอยู่ ในยามที่เศรษฐกิจอยู่ในสภาวะปกติ โดยที่เฟดไม่จำเป็นต้องปรับนโยบายทางการเงินใดๆ คนจะมีสภาพคล่อง และนิยมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนรายชั่วโมง เพื่อหวังผลกำไรสูงๆ ตามคอนเซ็ปต์ ‘High Risk High Return’ อยู่แล้ว แต่ในยามที่เศรษฐกิจถดถอย คนจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงอย่างทองคำมากกว่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำ ส่วนราคาทองคำพุ่งขึ้นสูงนั่นเอง
อาชญากรรมไซเบอร์ที่มาพร้อมกับการตักตวงผลประโยชน์
‘ในโลกอินเทอร์เน็ต ไม่มีอะไรที่ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์’ คำกล่าวสุดคลาสสิกที่เราได้ยินกันมานานแสนนาน แน่นอนว่า ในโลกของคริปโทฯ ที่มีการดำเนินงานทุกอย่างโดยใช้อินเทอร์เน็ตก็เช่นกัน
จากการที่มูลค่าของเหรียญ UST 1 เหรียญ ตกต่ำจนมีค่าน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่เป็นไปตามที่มีการตรึงราคากันไว้ ทำให้หน่วยงานที่ดูแลเหรียญชนิดนี้ ตัดสินใจเทขายเหรียญอื่นๆ ที่เป็นหลักประกันของ UST เพื่อรักษาสภาพคล่อง โดยเหรียญที่เป็นหลักประกัน ก็มีบิตคอยน์เป็นหนึ่งในนั้น และการเทขายอย่างหนัก จะส่งผลให้ราคาของเหรียญตกต่ำลงนั่นเอง
ซึ่งกลไกการตรึงราคาของเหรียญ UST ทำให้นึกถึงการพิมพ์ธนบัตรที่ต้องมีสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงอย่างทองคำมาค้ำประกันมูลค่าเอาไว้ และนี่อาจจะเป็นช่องโหว่ที่ผู้หวังกอบโกยผลประโยชน์ใช้ในการโจมตี เพื่อช้อนซื้อเหรียญอื่นๆ ที่เป็นหลักประกันของเหรียญ UST ในราคาที่ต่ำลงหรือเปล่า?
โดยในตอนนี้ ราคาของบิตคอยน์และเหรียญอื่นๆ เริ่มฟื้นตัว และค่อยๆ ไต่กราฟกลับขึ้นไปได้แล้ว เป็นนิมิตหมายอันดีทั้งกับนักลงทุนรายเล็กและรายใหญ่ แต่ในอนาคตก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า เหตุการณ์เช่นนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า กลไกของตลาดคริปโทฯ มีลักษณะเป็นลูกคลื่นที่ขึ้นและลงกลับไปกลับมาเป็นปกติ ซึ่งมันอาจจะขึ้นสุดลงสุดตามแต่ช่วงเวลานั้นๆ
ในสถานการณ์ที่มีความผันผวนของตลาดรุนแรงเช่นนี้ ต้องมีทั้งคนที่ได้เปรียบและเสียเปรียบอยู่แล้ว หากคุณอยากเป็นคนที่ได้เปรียบในสนามนี้ การติดตามข่าวสาร และการศึกษาบทเรียนเกี่ยวกับการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันจะทำให้เส้นทางการลงทุนของคุณมีแต่กลีบกุหลาบโปรยปรายอยู่อย่างแน่นอน