สู่ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของ ‘Bitcoin’ ว่าด้วยวิกฤต ‘Crypto Winter’ ความน่าเชื่อถือลดลง ภัยความมั่นคง และการปลดคนงาน

Share

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (18 มิถุนายน) คงเป็นวันหยุดสุขสันต์ของใครหลายๆ คน แต่สำหรับนักลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คงเป็นวันหยุดสุดเศร้าโศก เพราะราคาของ ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) เหรียญใหญ่มาสคอตในโลกคริปโทฯ ร่วงทะลุ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นที่เรียบร้อย จากที่เดือนพฤศจิกายนปี 2021 มีราคาถึง 68,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้นักลงทุนที่เข้าซื้อในช่วงปลายปี หรือช่วงที่ราคาพุ่งสูง สามารถขาดทุนได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ ก็คือจากเงินหลักล้านเหลือเพียงเงินหลักแสนในเวลาไม่กี่เดือน

อีกทั้งราคาของเหรียญคริปโทฯ ในตลาด ยังพากันร่วง จนสูญเสียมูลค่ารวมกันกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติการณ์ จนทำให้หลายๆ คนเริ่มวิตกกังวลว่า เรากำลังกลับเข้าสู่วิกฤต ‘คริปโทฯ วินเทอร์’ (Crypto Winter) อันหนาวเหน็บอย่างที่เคยเกิดขึ้นในปี 2018 หรือเปล่า?

ธรรมชาติของคริปโทฯ นอกจากจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงอยู่แล้ว ยังเป็น ‘ลูกชัง’ ในสายตาของนักลงทุนสายอนุรักษ์นิยมอีกด้วย จะเห็นได้จากคำเตือนมากมาย (ที่หมายถึงคำด้อยค่าสุดเผ็ดร้อน) อย่าง “การลงทุนในคริปโทฯ นั้นไร้ประโยชน์” หรือ “คนที่ลงทุนในคริปโทฯ คือคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ยิ่งในช่วงที่ราคาร่วงแรงเช่นนี้ คำเตือนก็ยิ่งหนาหูขึ้นทุกวัน โดยล่าสุด ‘บิล เกตส์’ (Bill Gates) มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ (Microsoft) ถึงกับออกมาบอกว่า “บิตคอยน์ คือทฤษฎีของคนโง่ ที่เอาไปหลอกขายให้กับคนที่โง่กว่า”

ถึงแม้ว่า นักลงทุนสายอนุรักษ์นิยม จะพากันออกมาแสดงความเห็นว่า สิ่งที่ตัวเองเชื่อเกี่ยวกับคริปโทฯ มาตั้งแต่ต้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ฟากฝั่งของผู้เชี่ยวชาญในวงการคริปโทฯ ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่เป็นเพียงการเข้าสู่ ‘คริปโทฯ วินเทอร์’ หรือฤดูหนาวอันหนาวเหน็บที่สื่อถึงการเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) อย่างรุนแรงในโลกคริปโทฯ ซึ่งเป็นวัฏจักรที่มักจะเกิดขึ้นทุกๆ 3-4 ปี อยู่แล้ว

ในปัจจุบัน การเข้าสู่คริปโทฯ วินเทอร์ ยังไม่มีสาเหตุที่เฉพาะเจาะจงว่า เกิดจากอะไรกันแน่ แต่หลักๆ แล้ว ย่อมมีผลจากเศรษฐกิจภาพใหญ่ อย่าง ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ เจ้าปัญหา และการปรับนโยบายทางการเงินของธนาคารสหรัฐฯ หรือเฟด (Fed) เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน รวมถึงปัจจัยในโลกคริปโทฯ เองก็มีส่วนสำคัญ ทั้งจากภาวะฟองสบู่ที่เกิดจากการเก็งกำไรเกินควร หรือการปรับฐานราคาของตัวเหรียญเอง

ถึงแม้ว่า คริปโทฯ วินเทอร์ จะถือเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติของโลกคริปโทฯ แต่จากสถิติที่ผ่านมา การเข้าสู่ฤดูหนาวอันหนาวเหน็บหนึ่งครั้ง ต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่ลมหนาวจะพัดผ่านไป กล่าวคือการที่ฐานราคาของคริปโทฯ ปรับลงเกิน 70-80 เปอร์เซ็นต์ และจะทำให้ราคา ไต่กราฟกลับขึ้นไปยังจุดสูงสุดได้ ต้องใช้เวลาเป็นหลักปี

ดังนั้น หากนักลงทุนสามารถรอได้ และลงทุนด้วยกลยุทธ์ที่เข้าใจตลาดจริงๆ อาจจะทำให้นักลงทุนพบกับฤดูใบไม้ผลิรอบใหม่ในโลกคริปโทฯ ก็เป็นได้ แต่ในมิติของธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับคริปโทฯ คงรอให้ฤดูใบไม้ผลิมาถึงเองไม่ได้ เพราะขนาดเข้าฤดูหนาวอันหนาวเหน็บมาได้ไม่ทันไร ก็เริ่มส่อแววว่า ใกล้จะล้มระเนระนาดเหมือนพินโบว์ลิงที่ถูกกระแทกด้วยลูกโบว์ลิงขนาดใหญ่เต็มที

วันนี้ เราจึงรวบรวมเหตุการณ์ หรือผลกระทบที่เกิดจากการเข้าสู่ ‘คริปโทฯ วินเทอร์’ มาวิเคราะห์ให้ทุกคนเข้าใจไปพร้อมๆ กัน

ความน่าเชื่อถือในคริปโทฯ ลดลง

การที่ราคาของเหรียญคริปโทฯ เหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงไม่หยุด ทั้งจากปัจจัยของเศรษฐกิจภาพใหญ่ และข่าวเชิงลบในวงการที่มีไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้ความน่าเชื่อถือของคริปโทฯ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องสั่นคลอนเป็นธรรมดา จนนักลงทุนต่างพากัน ออกจากสนามคริปโทฯ เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหรือมั่นคงมากกว่า

และความน่าเชื่อถือที่ลดลง จะส่งผลให้เกิดปัจจัยอื่นๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสกุลเงินหลัก หากการตลาดคริปโทฯ ยังอยู่ในสภาวะเช่นนี้ ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ได้รับการยอมรับ หรือแม้แต่ธุรกิจและประเทศที่ผูกติดสินทรัพย์ไว้กับคริปโทฯ ก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเราจะกล่าวถึงในข้อต่อไป

ภัยต่อความมั่นคงของประเทศที่ผูกติดกับคริปโทฯ

ถึงแม้ว่า ในปัจจุบัน คริปโทฯ จะยังไม่ใช่สินทรัพย์ที่มีการยอมรับให้ใช้แทนเงินสดได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีอยู่หนึ่งประเทศที่เชื่อมั่นในศักยภาพของคริปโทฯ จนนำบิตคอยน์มาใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และผลักดันให้มีการใช้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินหลักในการจับจ่ายใช้สอย ประเทศนั้นก็คือ ‘เอล ซัลวาดอร์’ นั่นเอง

โดยรัฐบาลเอล ซัลวาดอร์ จะนำเงินเข้าไปช้อนซื้อบิตคอยน์ ในช่วงที่เหรียญมีราคาต่ำ ซึ่งต้นทุนของเหรียญที่รัฐบาลถืออยู่อาจจะมีต้นทุนราวๆ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ในยามที่ราคาบิตคอยน์ร่วงแรงเหลือเพียง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ เช่นนี้ เราคงไม่ต้องคิดเลยว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสภาพคล่องภายในประเทศจะเป็นอย่างไร?

ธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทฯ จ่อล้ม จนต้องปลดพนักงาน

ในช่วงนี้ เราคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการปลดพนักงานกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทฯ ด้วย

โดย ‘คอยน์เบส’ (Coinbase) แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ชื่อดัง คือหนึ่งในบริษัทที่มีการปลดพนักงานจำนวน 1,100 ตำแหน่ง คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ซึ่งสาเหตุในการปลดพนักงาน ก็มาจากรายได้ที่ลดลงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บริษัทไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่มีได้อีกต่อไป

เมื่อตลาดคริปโทฯ ซบเซา หรือกำลังเข้าสู่คริปโทฯ วินเทอร์ นักลงทุนหลายคน จะตัดสินใจออกจากการลงทุนในตลาดคริปโทฯ ไป เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มั่นคง หรือปลอดภัยแทน ทำให้ค่าธรรมเนียมที่แพลตฟอร์มเคยได้จากการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสกุลเงิน การรักษาเงินลงทุนในพอร์ต ก็จะหายตามไปด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบริษัทถึงมีรายได้ลดลง ตามความซบเซาของตลาด

ถึงจะเข้าใจแล้วว่า คริปโทฯ วินเทอร์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติในโลกคริปโทฯ แต่ข้อมูลทางสถิติในอดีต ไม่สามารถรับประกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เท่ากับว่า การลงทุนในคริปโทฯ ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ซึ่งหนทางเดียวที่นักลงทุน จะอุ่นใจกับการลงทุนได้ คือการติดตามข่าวสารอย่างมีสติ รวมถึงลงทุนอย่างมีกลยุทธ์ด้วยการตัดสินใจของตัวเอง และเข้าใจความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ลงทุนอย่างถ่องแท้ เพื่อไม่ให้การลงทุนที่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการสร้างความมั่งคั่งของชีวิต กลายเป็นทุกขลาภอันแสนเศร้า

แล้วทุกคนคิดว่า หลังจากที่คริปโทฯ วินเทอร์ในครั้งนี้ จบลง อนาคตของโลกคริปโทฯ จะเป็นอย่างไร?

Sources: https://bloom.bg/3QxVhUM

https://bit.ly/3mZd0XN

https://bloom.bg/3tMcbFx

https://bloom.bg/3OhI6W6

https://bit.ly/3tLpTrW

https://cnb.cx/3Huqx2X