5 แนวคิดการเป็น ‘Visionary Leader’ ของ ‘Bernard Arnault’ มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ผู้นำแห่งอาณาจักร ‘LVMH’

Share

คำที่สื่อถึงการเป็น ‘มหาเศรษฐี’ ได้ดีที่สุดในความคิดของคุณคืออะไร?

รวย!!!

วิสัยทัศน์กว้างไกล

ทำงานตลอดเวลา

และไม่ว่าคุณกำลังนึกถึงคำใดอยู่ จะมีผู้ชายคนหนึ่งที่ตรงกับทุกคำในความคิดของคุณ นั่นคือ ‘เบอร์นาร์ด อาโนลต์’ (Bernard Arnault) ผู้นำของ ‘LVMH’ (LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton) อาณาจักรแบรนด์หรูระดับโลกที่ไม่มีใครไม่รู้จัก

ปัจจุบัน เบอร์นาร์ดขึ้นแท่นเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกด้วยทรัพย์สินมูลค่ากว่า 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าพ่อดราม่าและคนสร้างข่าวประจำปี 2022 ไปอย่างขาดลอย

ความน่าสนใจของทำเนียบมหาเศรษฐีระดับโลกในปี 2023 คือการที่มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งอย่างเบอร์นาร์ดเป็นนักธุรกิจในวงการแฟชั่นและสินค้าแบรนด์หรู แต่อยู่บนทำเนียบเคียงข้างนักธุรกิจในวงการเทคฯ และการลงทุนที่ครองตำแหน่ง ‘top rank’ มาอย่างยาวนาน

ดังนั้น หลายฝ่ายจึงพยายามหาคำตอบผ่านวิธีการบริหารงานของเบอร์นาร์ดว่า เขาสามารถสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลจากสินค้าแบรนด์หรูที่มีลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และทำให้แบรนด์ในเครือ LVMH เอาชนะความถดถอยทางเศรษฐกิจได้อย่างไร?

แต่ Future Trends คงไม่ได้พาไปย้อนรอยเส้นทางการทำธุรกิจของเบอร์นาร์ด หรือสำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับมหากาพย์การถือหุ้นในเครือ LVMH เพราะเราจะพาทุกคนไปสำรวจการเป็น ‘Visionary Leader’ หรือผู้นำเชิงวิสัยทัศน์ของเบอร์นาร์ดที่ทำให้ LVMH เติบโตจากธุรกิจครอบครัว และกลายเป็นอาณาจักรแบรนด์หรูในปัจจุบัน

แล้วแนวคิดการเป็น ‘Visionary Leader’ ของชายที่ชื่อว่า ‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ มีอะไรบ้าง? Future Trends จะพาไปสำรวจ 5 แนวคิดน่าสนใจพร้อมๆ กัน

Image on CNN

1. ทะเยอทะยาน รักในการแข่งขัน

“I am very competitive. I always want to win.”

(“ผมมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการแข่งขัน และต้องการเป็นผู้ชนะเสมอ”)

ประโยคจากปากของเบอร์นาร์ดที่ให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘The Brave Ones’ ของสำนักข่าว CNBC

ถึงจะเป็นประโยชน์สั้นๆ แต่ทรงพลังและสะท้อนแนวคิดการทำธุรกิจของเขาได้อย่างดี เพราะกว่าที่เขาจะกลายเป็นผู้นำแห่งอาณาจักร LVMH ต้องผ่านการแข่งขันภายใน จนกลายเป็นมหากาพย์การถือหุ้นครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการแบรนด์หรู รวมถึงยังต้องแข่งขันกับ ‘Kering’ อาณาจักรแบรนด์หรูอีกแห่งที่มีแบรนด์แม่เหล็กอย่าง Gucci, Saint Laurent และอื่นๆ อีกมากมาย

ถ้าจิตวิญญาณของการแข่งขันไม่แรงกล้า และความทะเยอทะยานไม่มากพอ เบอร์นาร์ดคงไม่สามารถพาตัวเองและอาณาจักร LVMH มาสู่จุดสูงสุดได้เลย ซึ่งการมีความทะเยอทะยานไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะเป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้คนทำธุรกิจไม่ถอดใจกลางทาง และทำตามเป้าหมายของตัวเองได้สำเร็จ

2. กล้าทำอะไรใหม่ๆ ท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง

ก่อนที่เบอร์นาร์ดจะขึ้นแท่นเป็นผู้นำแห่งอาณาจักร LVMH เขาเป็นนักธุรกิจที่ดูแลบริษัทรับเหมาก่อสร้างของครอบครัวตามธรรมเนียมการปั้น ’successor’ หรือผู้สืบทอดกิจการคนต่อไป ทำให้ชีวิตของเขาวนเวียนอยู่กับสิ่งก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่เด็กจนโต

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่น คือการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์คนสำคัญอย่าง ‘แอนโทนี่ เบิร์นไฮม์’ (Antoine Bernheim) ในการเทกโอเวอร์บริษัทแม่ของ ‘คริสเตียน ดิออร์’ ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน ถือเป็นการเปิดหน้าท้าชนกับความท้าทายครั้งใหญ่ที่ตัวเขาเองก็ยอมรับว่า เป็นความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ เมื่อคิดจะขยายธุรกิจให้เติบโตกว่าที่เป็นอยู่

3. มีเป้าหมายในการทำธุรกิจอย่างชัดเจน

หลังจากเขาตัดสินใจท้าทายตัวเอง และขยายธุรกิจไปในวงการแฟชั่นที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน เขาปักธงเป็นหมุดหมายในใจแล้วว่า เขาจะไม่เป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นเพียงแบรนด์เดียว แต่เป็นเจ้าของ ‘อาณาจักร’ ที่มีแบรนด์แฟชั่นมากที่สุดในโลก

เขาค่อยๆ ทำให้เครือ LVMH เติบโตอย่างช้าๆ แต่มั่นคง และรอเวลาที่เหมาะสมในการเข้าซื้อกิจการของบริษัทอื่นเข้าสู่พอร์ตฟอลิโอของ LVMH ตัวอย่างเช่น การเข้าซื้อ ‘Sephora’ ตั้งแต่ยังเป็นสตาร์ตอัปเล็กๆ จนกลายเป็นร้านเครื่องสำอางแบบ multistore ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก

4. คิดแบบ ‘youngblood’ เริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสนุก

ถึงแม้เบอร์นาร์ดจะมีอายุมากกว่า 70 ปีแล้ว แต่เขายังคงมี ‘youngblood’ หรือความเยาว์วัยไหลเวียนอยู่ในตัว ด้วยความที่สินค้าของแบรนด์ในเครือ LVMH เน้นเจาะกลุ่มไปที่วัยรุ่นหรือวัยทำงาน ทำให้แบรนด์ต้องจับกระแสในหมู่คนรุ่นใหม่ และเรียนรู้ความต้องการของคนกลุ่มนี้เสมอ

นี่จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของ LVMH ยังทันสมัย แม้แบรนด์มาสคอตอย่างหลุยส์ วิตตอนจะมีอายุมากกว่า 160 ปีแล้ว อีกทั้งเบอร์นาร์ดยังส่งต่อแนวคิดแบบ youngblood ไปที่ลูกๆ ของตัวเอง ส่งผลให้ความทันสมัยของแบรนด์ยังคงอยู่ แม้จะถึงเวลาที่ส่งไม้ต่อการบริหารงานไปที่ successor คนใหม่แล้วก็ตาม

5. นำทีมด้วย ‘ผลงาน’ มากกว่า ‘ตัวเลข’

แอนโทนี่ อาร์โนลต์ (Antoine Arnault) ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Braves One ว่า พ่อของเขาให้ความสำคัญกับ ‘ความสร้างสรรค์’ มาก แม้ภาพลักษณ์จะเป็นนักธุรกิจแบบสุดขั้ว แต่เบอร์นาร์ดชอบคุยกับนักออกแบบ เพื่อผลักดันพวกเขาให้สร้างผลงานดีๆ ผ่านความสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัว และไม่กดดันคนทำงานด้วยตัวเลขรายได้อย่างที่นักธุรกิจหลายคนทำกัน เพราะเบอร์นาร์ดเชื่อว่า ผลงานที่สร้างสรรค์จะสร้างรายได้ด้วยมูลค่าที่มีอยู่ในตัวของมันเอง

การเป็นผู้นำแบบ Visionary Leader ของเบอร์นาร์ด เป็นภาพสะท้อนของขั้วตรงข้ามความเชื่อในการทำธุรกิจได้อย่างดีว่า คนทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องเติบโตอย่างรวดเร็วแบบกราฟที่พุ่งสูงตลอดเวลา แต่สามารถเติบโตอย่างช้าๆ และแผ่ขยายกิ่งก้านปกคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ได้

Sources: http://bit.ly/3wDpTeD

https://bit.ly/3jdcdEj