‘ผึ้ง’ เป็นสัตว์อีกหนึ่งประเถทที่มีความโดดเด่นด้าน ‘ความขยัน’ และ ‘การทำงานเป็นทีม’ หากเราศึกษาวิธีการใช้ชีวิตแบบผึ้ง เราจะเห็นได้ถึงหลักการสำคัญที่พัฒนาไปเป็นกุญแจสู่การบริหารทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังคำกล่าวที่ว่า “Busy as a Bee”
วันนี้ Future Trends จะมานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ น้องผึ้ง ในมุมมองที่เราปรับการทำงานของพวกมันให้มาอยู่ในรูปแบบของความเป็นผู้นำ จะเป็นอย่างไรนั้น สามารถเลื่อนลงไปอ่านได้เลย
5 บทเรียนที่เราได้รับจาก ‘ผึ้ง’ เกี่ยวกับการเป็นผู้นำทีม
[ ผู้นำแบบผึ้งจะชัดเจนในบทบาทของคนในทีม ]
เปรียบเทียบกับฝูงผึ้ง มันเป็นอาณานิคมที่มีสภาพสังคมซับซ้อน เต็มไปด้วยกฎระเบียบ บทบาทหน้าที่ของแต่ละตัวจำเป็นที่จะต้องชัดเจน โดยสมาชิกในหนึ่งอาณานิคมของผึ้งจะประกอบไปด้วยผึ้ง 3 ชนิด ได้แก่ ผึ้งนางพญา(Queen Bees) ผึ้งงาน(Worker Bees) และผึ้งตัวผู้(Drones) ผึ้งทั้งหมดที่อยู่ในรังเดียวกันจะรู้จักหน้าที่ของกันและกันเป็นอย่างดี ‘ชัดเจนในบทบาทของตัวเอง’
บทเรียนนี้สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานของคนได้ ผู้นำจำเป็นที่จะต้องตามหาทีมที่ครอบคลุมในความสามารถตามความต้องการ โดยมอบหมายหน้าที่ที่ไม่ซ้อนทับกันเพื่อความรวดเร็วในการทำงาน
การแบ่งบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจน จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้นำได้เหมือนกัน เพราะด้วยวิธีนี้ทำให้คนในทีมตามหาคนที่รับผิดชอบงานในส่วนนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องพูดคุยผ่านผู้นำเสมอไป
นอกจากนี้ หากทุกคนรู้จุดประสงค์ของตัวเองกับการอยู่ในทีม พวกเขาจะรู้สึกมั่นใจและรับผิดชอบต่อบทบาทของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น
[ ผู้นำแบบผึ้งต้องสร้างการสื่อสาร และ การร่วมมือให้เกิดขึ้นภายในทีม ]
ผึ้งงานจะมีวิธีการสื่อสารพิเศษที่เรียกว่า ‘Waggle Dance’ มีลักษณะเป็นการบินวนในรูปแบบสัญลักษณ์เลข 8 วิธีการนี้ใช้ในการถ่ายทอดข้อมูลที่มีค่า เช่น แหล่งอาหาร หรือ แหล่งทำรัง ทำให้เห็นว่าความสำคัญของการเป็นทีมคือ ‘การสื่อสาร’ และ ‘การร่วมมือกัน’
ในฐานะผู้นำผึ้ง คุณต้องสร้างการสื่อสารอันเป็นที่ ‘เฉพาะ’ กับทีมของคุณ โดยคำนึงถึงประโยชน์ในการร่วมมือกันของคนในทีม มันไม่จำเป็นจะต้องซับซ้อนแบบผึ้ง เพียงแต่มันควรที่จะเป็นการสื่อสารที่ใช้งานแล้วรู้ได้ทันทีว่าต้องการอะไร?
นอกจากนี้ การสื่อสารที่ชัดเจนระหว่างคนในทีมยังสามารถส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของทีม กลายเป็นทีมที่ทำงานร่วมกันได้ง่ายกว่าทีมที่ไม่มีการสื่อสาร
แนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้นำ คุณสามารถสร้างช่องทางการสื่อสารแบบเปิดโดยกระตุ้นให้คนในทีมแสดงความคิด และเสนอแนวคิด แต่จะต้องไม่ซีเรียสจนเกินไปจนกลายเป็นความทุกข์ให้กับคนในทีมของคุณเอง
[ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เยี่ยงน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ]
ผึ้งงานจะแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้แน่ใจว่า ‘รังผึ้ง’ ทำงานได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัดอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผึ้งงานบางชนิดค้นหาน้ำหวาน และเกสรดอกไม้ ในขณะที่ผึ้งงานบางชนิดค้นหาสิ่งของจำเป็นอื่นๆ มันเป็นการทำงานที่รับประกันว่าทั้งรังจะอยู่รอด เพราะทุกคนถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
ดังนั้น ในฐานะที่คุณเป็นผู้นำแบบผึ้ง จำเป็นต้องกระจายงานตามทักษะ และความเชี่ยวชาญของทุกคน เช่น ในทีมการตลาด สมากชิกทีมคนหนึ่งดูแลสื่อออนไลน์ คนหนึ่งดูแลเรื่องกิจกรรมการขาย และคนหนึ่งดูแลด้านลูกค้า การทำงานแบบนี้คือการพึ่งพาอาศัยกัน เพราะเราคือทีม ผู้นำจะสร้างภาพจำให้ลูกทีมคิดว่าเรื่องทั้งหมดเป็นของคุณไม่ได้ ต้องทำให้พวกเขารู้ถึงการ ‘ถ้อยทีถ้อยอาศัย’
บทเรียนนี้จะทำให้ทีมดำเนินการตามโครงการได้สำเร็จ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นเดียวกัน ในฝูงผึ้ง ความสำเร็จของสมาชิกในทีมทุกคนเชื่อมโยงกับความสำเร็จของทีม เฉกเช่นนั้น โปรดมอบหมายงานที่เหมาะสมกับความรู้และความสนใจของพนักงานแต่ละคน นั่นแหละคือผู้นำผึ้ง
[ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ]
ผึ้งต้องทำการตัดสินใจในภาพรวมที่ช่วยให้พวกมันรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น การจัดสรรทรัพยากร หรือ ที่ตั้งของรังใหม่ของพวกมัน เมื่อรังผึ้งแออัดเกินไป ผึ้งสอดแนมจะสำรวจรอบๆ ตัวเพื่อหาที่อยู่ใหม่ จากนั้นพวกมันจะกลับมาและสื่อสารสิ่งที่ค้นพบกับรังผึ้ง และร่วมกันตัดสินใจ มันหมายถึงการมี ‘ศรัทธา’ ในเพื่อนร่วมงานของคุณเป็นรากฐานของทีมที่จะประสบความสำเร็จ
ผู้นำแบบผึ้งมีหน้าที่ในการแสดงศักยภาพ และความสามารถให้สมาชิกเห็น เพื่อเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถพึ่งพา และเชื่อใจคุณได้ กลับกันคุณต้องเชื่อมั่นในตัวพวกเขาที่คุณเป็นคนมอบหมายงาน มอบหมายบทบาทด้วยตัวเอง การไว้ใจซึ่งกันและกัน จะเกิดขึ้นได้จากทั้งสองฝ่าย
เสนอแนะเพิ่มเติมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล ความโปร่งใส ความยุติธรรม และความรับผิดชอบ เป็นปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดความไว้วางใจในทีม
[ ความยืดหยุ่น และ ปรับเปลี่ยนอย่างแพรวพราว เป็นสมบัติที่ดีของผู้นำผึ้ง ]
เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ผึ้งเป็นตัวอย่างที่ดีของความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแหล่งอาหารไม่สามารถตอบสนองพวกมันได้อีกต่อไป พวกมันจะปรับเส้นทางการหาอาหาร และเปลี่ยนรูปแบบอาหารให้หลากหลายยิ่งขึ้น
เป็นบทเรียนสำหรับผู้นำยุคใหม่ที่ต้องมีความยืดหยุ่นให้กับคนในทีม อะไรที่ทีมรู้สึกว่ามันล้าหลัง ไม่ทันสมัย เหมาะแก่การเปลี่ยนแปลง คุณในฐานะผู้นำควรศึกษาชั่งน้ำหนังในเหตุและผล และนำไปปรับเปลี่ยนอย่างแพรวพราว สร้างสรรค์
จงคำนึงไว้เสมอว่าการยืดหยุ่น และการปรับเปลี่ยน ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล หากมันตอบโจทย์ความต้องการของคนในทีม และเรื่องที่เปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลในทางที่ดีขึ้น มันไม่จำเป็นเลยที่คุณในฐานะผู้นำผึ้งจะต้องกังวล
“Busy as a Bee” “จงยุ่งเหมือนกับผึ้ง” มาจากข้อเท็จจริงที่ว่าผึ้งเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ขยันขันแข็งที่สุด แต่แม้ว่าพวกมันจะเร่งรีบมากแค่ไหนก็ตาม ความสามารถโดยกำเนิดของพวกมันคือการทำงานที่อาศัยความเป็นทีมอันทำให้รังแข็งแกร่งขึ้น และทำให้ทุกคนปลอดภัย
นั่นอาจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำทีม ไม่ว่าสมาชิกในทีมทุกคนจะเก่งแค่ไหน มันเป็นเรื่องของส่วนรวมเสมอ
ท้ายที่สุดนี้ การถอดบทเรียนทั้ง 5 ข้อ เป็นเพียงแค่การแนะนำ การปรับใช้ขึ้นอยู่กับนิสัยความเป็นปัจเจกบุคคลด้วย แต่อย่าลืมว่าการทำงานบนโลกใบนี้ไม่ได้มีคุณอยู่แค่คนเดียว มองดูรอบๆ ตัวเห็นทีมของคุณบ้างหรือไม่ การที่จะประสบความสำเร็จได้ คือต้องทำงานร่วมกัน จงอย่าเป็นผึ้งที่ไม่มีรัง
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Sources:
https://elearningindustry.com/what-can-bees-teach-us-about-teamwork