ทำไม ‘Apple’ ต้องลงสนาม ‘บริการทางการเงิน’ (Financial Services)?
การที่ ‘Apple’ เปิดตัว ‘Apple Wallet’ ไล่เรียงมาจนถึงบริการบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง 4.15 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หลายคนมองว่า จิตวิญญาณของ Apple ที่เป็นเจ้าแห่ง ‘แกดเจ็ต’ รายหนึ่งของโลกกำลังเปลี่ยนไป
แม้การลงสนามบริการทางการเงินของ Apple จะดูแปลกจากขนบความเป็นเจ้าพ่อแกดเจ็ตที่มีสาวกอยู่ทั่วทุกมุมโลก แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Apple สร้างน่านน้ำทางธุรกิจด้วยผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพียงแต่ครั้งนี้แปลกตาเป็นพิเศษ เพราะผลิตภัณฑ์ที่ว่าไม่ใช่ ‘แกดเจ็ต’ อย่างที่สาวก Apple คุ้นเคย
เรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างสม่ำเสมอของ Apple คืออะไร และเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ Apple โตวันโตคืนจริงหรือเปล่า? Future Trends จะพาไปสำรวจในประเด็นต่างๆ พร้อมๆ กัน
จริงๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ Apple ตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่เสมอ สามารถตีความได้หลากหลาย แต่หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึง คือทฤษฎี ‘New S-Curve’ หรือการสร้าง S-Curve ของตัวเองไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นกราฟที่สะท้อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะของ S-Curve หรือกราฟรูปตัว ‘เอส’ ที่หลายคนเคยเห็นผ่านตาในตำราเรียน จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงตาม ‘เวลา’ ที่ดำเนินไป ได้แก่ ช่วงเริ่มต้น ช่วงเติบโตอย่างรวดเร็ว และช่วงเสมอตัว มักใช้กับการอธิบายการเติบโตทางธุรกิจ หรือการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่
หากเปรียบเทียบลักษณะของ S-Curve เข้ากับการทำธุรกิจของ Apple เส้นกราฟแต่ละเส้นคงหมายถึงการเติบโตของสินค้าแต่ละชนิดหลังจากเปิดตัวสู่ตลาด เส้นกราฟในช่วงแรกเคลื่อนที่อย่างช้าๆ เพราะเป็นช่วงที่สินค้าเริ่มวางจำหน่าย จนกระทั่งเป็นที่รู้จัก และเกิด Word of Mouth หรือการบอกต่อแบบปากต่อปาก เส้นกราฟจะเข้าสู่ช่วงที่ชันที่สุด เนื่องจากเติบโตอย่างรวดเร็ว ก่อนเข้าสู่ช่วงเสมอตัว เพราะเป็นสินค้าขึ้นหิ้งติดลมบนไปแล้ว
ตัวอย่างเช่น การเปิดตัว iPhone ในปี 2007 ถือเป็น S-Curve เส้นใหม่ที่เกิดขึ้น หลังจาก S-Curve เส้นก่อนหน้าอย่าง iPod ประสบความสำเร็จมาก แต่เมื่อฐานแฟนคลับของ iPod เริ่มอยู่ตัว Apple จำเป็นต้อง ‘รีเฟรช’ แบรนด์ให้สดใหม่ เพื่อทำให้ชื่อของ ‘Apple’ อยู่บนพื้นที่สื่อด้วยความตื่นตาตื่นใจต่อไป
ดังนั้น โทรศัพท์ที่มีปุ่มกดเพียงปุ่มเดียว และหน้าจอที่กินพื้นที่ของเครื่องมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนั้นของ ‘สตีฟ จ็อบส์’ แม้จะเป็นสิ่งที่สวนทางกับความคุ้นเคยของคนทั่วไปก็ตาม
สินค้าชนิดอื่นนอกจาก iPhone และ iPod ก็ทำหน้าที่สร้าง S-Curve เส้นใหม่ให้กับบริษัทไม่ต่างกัน เมื่อ Apple เปิดตัวสินค้าใหม่เรื่อยๆ สินค้าแต่ละชนิดจะสร้าง S-Curve เส้นใหม่ไล่เรียงกันไป หากเปรียบ ‘Apple II’ คอมพิวเตอร์ในตำนานเป็น S-Curve เส้นแรกของบริษัท และบริการทางการเงินเป็น S-Curve เส้นล่าสุด จะเห็นว่า Apple ใน ‘ปัจจุบัน’ เติบโตจาก Apple ใน ‘อดีต’ มากขึ้นจริงๆ
ถือได้ว่า Apple คือหนึ่งในบริษัทที่ต่อ S-Curve ของตัวเองเส้นแล้วเส้นเหล่า จนกลายเป็น ‘Big Tech’ ระดับโลกที่พร้อมสร้างน่านน้ำใหม่ๆ ของตัวเองเสมอ และทำให้หลายคนเฝ้ารอว่า S-Curve ในอนาคตของ Apple จะเป็นอะไร
แต่การเปลี่ยนผ่านจาก S-Curve เส้นเก่าสู่เส้นใหม่ ไม่ได้มีด้านดีเพียงอย่างเดียว เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Dilemma Zone’ หรือภาวะ ‘หนีเสือปะจระเข้’ เพราะในขณะที่ S-Curve เส้นเก่าอยู่ในช่วงเสมอตัว S-Curve เส้นใหม่เพิ่งเริ่มขยับจากจุดเริ่มต้น รอยต่อระหว่างเส้นกราฟทั้งสองเส้น คือช่วงเวลา ‘วัดใจ’ ที่บริษัทต้องเตรียมรับมือ หาก S-Curve เส้นใหม่ไปไม่ถึงช่วงเวลาแห่งการเติบโตอย่างที่ต้องการ
แล้วถ้าการสร้าง S-Curve เส้นใหม่มีความเสี่ยงต่อเม็ดเงินที่ไหลเวียนในบริษัท วิธีนี้ยังเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการทำให้บริษัทเติบโตหรือเปล่า?
คำถามนี้คงไม่มีคำตอบตายตัว แต่ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย หากนักลงทุนต้องการตัวเลขการเติบโตของบริษัท เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ในอนาคต การสร้าง S-Curve เส้นใหม่อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าปล่อยให้บริษัทอยู่กับ S-Curve เส้นเก่าของตัวเอง
Sources: https://bit.ly/40FadV7
หนังสือ Blitzscaling เขียนโดย รี้ด ฮอฟฟ์แมน (Reid Hoffman) และคริส เยห์ (Chris Yeh) แปลโดย กมลวรรณ พยุหะเกียรติ