3 Mindsets รับต้นปี จากหนังสือ ‘ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้’ ที่จะเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการวางแผนชีวิตให้ดีขึ้นได้ในปี 2025 หนังสือดีที่ไม่มีขาย แต่มีมอบพิเศษท้ายบทความ

Share

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าการวางแผนชีวิตเป็นเรื่องยาก เพราะทุกอย่างไม่แน่นอน พลิกผันได้ตลอดเวลา แต่นั่นกลับเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องมีแผนมากกว่าที่เคย

**มอบพิเศษ หนังสือ ‘ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้’ จากทาง AP Thailand จำนวน 15 เล่ม รายละเอียด คลิกที่นี่

คุณอนุพงษ์ อัศวโภคิน และคุณพิเชษฐ วิภวศุภกร ผู้ร่วมก่อตั้งและนำพา AP Thailand ผ่านวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงมากมายตลอด 40 ปี ได้แบ่งปันแนวคิดสำคัญเรื่องการวางแผนที่น่าสนใจผ่านหนังสือ ‘ชีวิตดีๆ ที่เลือกเองได้’ โดยพวกเขามองว่า แผนที่ดีไม่ใช่เพียงแค่เอกสารที่เขียนไว้อย่างสวยหรู แต่ต้องเป็นแผนที่มีชีวิต พร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

ทุกวันนี้โลกที่เราเห็นบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานหลายอย่างได้เก่งกว่าคนไปแล้ว บริษัทไหนที่มองหาแค่คนเก่ง อาจกำลังเดินเกมผิดทาง คุณอนุพงษ์สะท้อนให้เห็นว่าการวางแผนในยุคนี้ต้องมองให้ไกลกว่าเดิม ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

แนวคิดการวางแผนของทั้งสองท่านไม่ได้จำกัดอยู่แค่การบริหารธุรกิจ แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการวางแผนชีวิตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นเส้นทางอาชีพ หรือกำลังมองหาแนวทางในการพัฒนาตนเอง ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วเกินกว่าจะคาดเดา

[แนวคิดที่ 1: “We hope for the best but we expect for the worst”]

หนึ่งในหลักคิดสำคัญที่คุณอนุพงษ์ยึดถือในการวางแผนคือ “We hope for the best but we expect for the worst” – เราหวังสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น

แนวคิดนี้ไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เมื่อ AP ต้องเผชิญกับหนี้สินกว่าสองพันล้านบาทในชั่วข้ามคืน แต่ด้วยการวางแผนและการตัดสินใจที่รอบคอบ บริษัทเลือกที่จะไม่ปลดพนักงาน แม้จะเหลือเงินจ่ายเดือนพนักงานเพียงสองเดือน คุณอนุพงษ์มองว่าการรักษาบุคลากรไว้เป็นสิ่งสำคัญในระยะยาว เพราะเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การต้องหาและฝึกพนักงานใหม่จะเป็นต้นทุนที่สูงกว่า

“ปัญหาทุกอย่างมีวงจรของมัน ตอนนี้แย่ สักพักเดี๋ยวก็กลับมาดี” คุณอนุพงษ์กล่าว สะท้อนมุมมองที่มองเห็นทั้งความหวังและความเป็นจริง ทีม AP เลือกที่จะปรับตัว ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำงานหนักขึ้น และช่วยกันประคับประคองบริษัทผ่านพ้นวิกฤต

การวางแผนแบบ “หวังดีที่สุด เตรียมพร้อมที่สุด” จะช่วยให้เรามีทั้งแรงบันดาลใจในการก้าวไปข้างหน้า และมีภูมิคุ้มกันเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการเงิน การพัฒนาทักษะ หรือการเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงในอาชีพการงาน

[แนวคิดที่ 2: “There is no independent without boundary”]

“ไม่มีอิสรภาพไหนที่ไม่มีกติกา” คือหลักการสำคัญในการวางแผนพัฒนาองค์กรของ AP Thailand แนวคิดนี้อาจฟังดูขัดแย้งในตัวเอง แต่กลับเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืน

การสร้างกรอบการทำงานที่ชัดเจนคือกุญแจสำคัญในการให้อิสระกับทีม คุณอนุพงษ์เปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า เหมือนการส่งพนักงานสามคนไปเอาของที่คลังสินค้า หากไม่มีการบอกเส้นทางที่ชัดเจน ทั้งสามคนก็จะไม่มีทางไปถึงจุดหมายเดียวกันได้ การมีกรอบที่ชัดเจนจึงไม่ใช่การจำกัดอิสรภาพ แต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้ทุกคนกล้าตัดสินใจภายในขอบเขตที่วางไว้

ในมุมของการบริหารธุรกิจ AP ใช้แนวคิดนี้ในการสร้าง “ผู้นำอิสระ” (Independent Responsible Leaders) โดยกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ในแต่ละตำแหน่งไว้อย่างชัดเจน ทำให้พนักงานสามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากผู้บริหารในทุกเรื่อง ส่งผลให้การทำงานมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลักการนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการวางแผนชีวิตส่วนตัวได้เช่นกัน การกำหนดกรอบที่ชัดเจนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน การใช้เวลา หรือเป้าหมายในชีวิต จะช่วยให้เรามีอิสระในการตัดสินใจภายใต้ขอบเขตที่วางไว้ เป็นการสร้างสมดุลระหว่างความยืดหยุ่นและความมีวินัย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จในระยะยาว

[แนวคิดที่ 3: “ทุกปัญหามีทางออกเสมอ”]

คุณพิเชษฐเคยแบ่งปันคำสอนของหลวงปู่ชา สุภัทโท ที่ท่านใช้ยึดถือเป็นหลักในการทำงานว่า “ทุกปัญหามีทางออกเสมอ” โดยท่านเปรียบเทียบไว้เหมือนการพยายามหมุนไม้ให้เสียดสีกันเพื่อก่อไฟ หากเราหมุนไป หมุนไปเรื่อยๆ แต่ยอมแพ้เสียก่อนที่ไฟจะติด ก็จะเสียเวลาเปล่า ดังนั้นจึงต้องอดทนสู้ต่อไป เพราะท้ายที่สุด ความสำเร็จจะมาเอง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของโครงการ “บ้านกลางกรุง สาทร-ถนนจันทน์” ในปี 2546 แม้จะเป็นโครงการที่มีทำเลดีเยี่ยม แต่กลับประสบปัญหาการขายในช่วงแรก แทนที่จะยอมแพ้ ทีมผู้บริหารเลือกที่จะวิเคราะห์ปัญหาอย่างถี่ถ้วน จนพบว่าการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนคือสาเหตุหลัก พวกเขาจึงตัดสินใจปรับแผน ซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อสร้างทางออกใหม่ เปลี่ยนด้านหลังให้เป็นด้านหน้า จนในที่สุดโครงการก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

คุณพิเชษฐมองว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่การไม่เคยล้มเหลว แต่อยู่ที่การไม่ยอมแพ้เมื่อเจอปัญหา ทุกครั้งที่เผชิญความท้าทาย สิ่งสำคัญคือต้องมีสติ วิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบด้าน และกล้าที่จะปรับเปลี่ยนแผนเมื่อจำเป็น

การนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิต ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องดันทุรังจนสุดทาง แต่เป็นการมองหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ บางครั้งทางออกอาจไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังไว้แต่แรก แต่อาจเป็นโอกาสใหม่ที่ดีกว่าเดิม เช่นเดียวกับที่วิกฤตต้มยำกุ้งนำไปสู่การพัฒนาโครงการทาวน์โฮมรูปแบบใหม่ที่กลายเป็นจุดแข็งของ AP ในเวลาต่อมา

จากประสบการณ์ของผู้บริหาร AP Thailand สะท้อนว่าการวางแผนที่ดีไม่ใช่การยึดติดกับเป้าหมายอย่างตายตัว แต่เป็นการสร้างสมดุลระหว่างความมุ่งมั่นและความยืดหยุ่น ระหว่างความหวังและความพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน ระหว่างอิสรภาพและความรับผิดชอบ

การมีแผนไม่ได้รับประกันว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ช่วยให้เรามีเข็มทิศนำทางเมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การไปให้ถึงเป้าหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้และเติบโตจากทุกย่างก้าวของการเดินทาง

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “แผนที่วางไว้” อาจใช้ไม่ได้ตลอดไป แต่สิ่งสำคัญคือความสามารถในการปรับตัว กล้าเผชิญกับความท้าทาย และมีความยืดหยุ่นพอที่จะปรับเปลี่ยนแผนเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เหมือนที่ AP Thailand ได้พิสูจน์ให้เห็นตลอด 40 ปีที่ผ่านมา