AIS เข้าซื้อ 3BB TRUE ควบรวม DTAC ว่าด้วยภาพสะท้อน ‘Duopoly’ ตลาด (เกือบ) ผูกขาดในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

Share

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 กรกฎาคม) มีรายงานข่าวออกมาว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ ‘เอไอเอส’ (AIS) ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของไทยประกาศเข้าซื้อหุ้นและหน่วยลงทุนในเครือของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เจ้าของกิจการเน็ตบ้าน ‘ทรีบรอดแบนด์’ (3BB) ด้วยมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

ถึงแม้ว่า ดีลการเข้าซื้อกิจการระหว่าง 2 บริษัทนี้ จะต้องผ่านตัวกลางอย่างคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่คอยกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารภายในประเทศเสียก่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ดีลนี้ผ่านฉลุยแน่นอน

หลังจากที่มีรายงานข่าวออกมา ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสนับสนุนและตรงข้ามตามมามากมาย แต่หนึ่งในความเห็นที่น่าสนใจ ก็คือดีลนี้เป็นกลยุทธ์แก้เกมการควบรวมกิจการระหว่าง ‘ทรู’ (TRUE) และ ‘ดีแทค’ (DTAC) คู่แข่งคนสำคัญของเอไอเอสหรือเปล่า?

จริงๆ แล้ว การเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ปกติในโลกของการทำธุรกิจ บ้างก็ทำเพื่อให้ธุรกิจมีฐานลูกค้ามากขึ้น บ้างก็ทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในสนามการแข่งขันอันดุเดือด แต่สำหรับธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยก็มีความเป็น ‘ตลาดผู้ขายน้อยราย’ (Oligopoly) อยู่แล้ว ยิ่งควบรวมกัน ยิ่งจะกลายเป็นการผูกขาดตลาดมากขึ้นหรือเปล่า?

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ให้นิยามของ ‘การผูกขาด’ ไว้ว่า ‘การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้า หรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดขายตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป’ แต่เมื่อเทียบเคียงกับสภาพตลาดหลังดีลการเข้าซื้อหรือควบรวมของทั้งสองฝั่งเสร็จสิ้น จะทำให้ธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทยเข้าข่ายสิ่งที่เรียกว่า ‘Duopoly’ มากกว่าตลาดผูกขาดแบบ ‘Monopoly’ ที่เราคุ้นเคยกัน

วันนี้ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Duopoly และชวนวิเคราะห์แนวโน้มการทำธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคต รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคอย่างเราๆ มีอะไรบ้าง?

Duopoly คืออะไร?

Duopoly คือสถานการณ์ที่ในตลาดมีผู้ขายสินค้าประเภทเดียวกัน หรือเป็นสินค้าที่คล้ายคลึงกันเพียงสองราย ซึ่งมีอยู่ในทุกกลุ่มธุรกิจ เช่น เป๊ปซี่ (Pepsi) กับโคคา-โคล่า (Cola-Cola) รายใหญ่ของธุรกิจเครื่องดื่มอัดลม แอร์บัส (Airbus) กับโบอิ้ง (Boeing) รายใหญ่ของธุรกิจประกอบเครื่องบิน บีทีเอส (BTS) กับบีอีเอ็ม (BEM) รายใหญ่ของธุรกิจรถไฟฟ้าในไทย เป็นต้น

ภาพของความเป็น Duopoly ทำให้รู้สึกว่า นี่ไม่ใช่การทำธุรกิจผูกขาดสไตล์ ‘กินรวบ’ ที่มีเจ้าเดียว รวยคนเดียว ไม่แบ่งใคร เพราะอย่างน้อยก็ยังมีการแข่งขันในตลาดอยู่ แต่จริงๆ แล้ว ส่วนแบ่งทางการตลาดที่ผู้เล่นรายใหญ่ทั้งสองถืออยู่ มีมากจนไม่มีพื้นที่ให้ผู้เล่นรายเล็กแทรกเข้ามาแข่งขันด้วยได้ สุดท้ายแล้วก็มีความผูกขาดในตัวอยู่ดี

มีความเห็นมากมายที่ชี้ว่า การเข้าซื้อกิจการของเอไอเอสไม่ได้ทำให้เกิดตลาดแบบ Duopoly เพราะยังมีผู้เล่นรัฐวิสาหกิจอีกรายอย่าง ‘โทรคมนาคมแห่งชาติ’ หรือ ‘เอ็นที’ (NT) แต่เมื่อดูการแข่งขันของกลุ่มค่ายมือถือในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 เอ็นทีถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 3.59 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีอำนาจในตลาดน้อยมากเมื่อเทียบกับเอไอเอสและทรูที่ถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 44.29 และ 32.32 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ถึงแม้ว่า การแข่งขันของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย จะไม่เข้าข่ายลักษณะของ Duopoly ตามตำรา แต่หากดีลการเข้าซื้อและควบรวมของทั้งสองฝั่งเสร็จสิ้น การแข่งขันแบบ Duopoly ในชีวิตจริงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในมิติของการทำธุรกิจและผลกระทบต่อผู้บริโภค

1. ‘เอไอเอส’ ถือไพ่เหนือกว่า ‘ทรู’ ในธุรกิจ ‘เน็ตบ้าน’

บริษัทที่เอไอเอสเข้าซื้อกิจการอย่างทรีบรอดแบนด์ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในบ้านอยู่แล้ว ทำให้เอไอเอสสามารถขยายธุรกิจเน็ตบ้านของตัวเองได้ทันที โดยไม่ต้องทุ่มงบในการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้บริษัทขาดทุนจากเทคโนโลยีที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้

นอกจากที่จะได้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจมาอยู่ในมือแล้ว ยังได้ฐานลูกค้าจากทรีบรอดแบนด์ที่เป็นเบอร์สองของธุรกิจเน็ตบ้านในขณะนี้มาด้วย จากที่แต่เดิมเอไอเอส ไฟเบอร์ (AIS Fibre) สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้เพียงบางส่วน ทำให้การเข้าซื้อกิจการเป็นเหมือนการเสริมศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น

2. ‘ทรู’ ถือไพ่เหนือกว่า ‘เอไอเอส’ ในธุรกิจ ‘เน็ตมือถือ’

จริงๆ แล้ว ข้อนี้มีความคล้ายคลึงกับข้อแรก เพราะพันธมิตรที่ทรูจะทำการควบรวมกิจการด้วย คือดีแทคที่ทำธุรกิจด้านการสื่อสาร และให้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือมาอย่างยาวนาน ถือเป็นยักษ์ใหญ่อีกเจ้าที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 19.76 เปอร์เซ็นต์ หากทั้งสองบริษัทควบรวมธุรกิจกันสำเร็จ จะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มค่ายมือถือมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และนี่คงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เอไอเอสต้องงัดไม้เด็ดมาสู้ให้ได้

3. ผู้บริโภคได้ประโยชน์ในช่วงแรก แต่ถูกผูกขาดในช่วงหลัง

ผู้บริโภค คือตัวแปรสำคัญที่จะชี้วัดว่า ใครจะเป็นเบอร์หนึ่งของการแข่งขันแบบ Duopoly เพราะเมื่อเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงสองรายในตลาด ก็ต้องเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ในช่วงแรก เราอาจได้เห็นการฟาดฟันกลยุทธ์ทางการตลาดมากมาย อย่างโปรโมชันการตัดราคาสุดโหดที่จูงใจให้เข้ามาเป็นลูกค้าของตัวเอง

แต่เมื่อช่วงโปรโมชันหมดลง ความใส่ใจในผู้บริโภคและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อาจจะลดลงไปด้วย เพราะผู้เล่นแต่ละราย จะหันไปโฟกัสกับการสร้างความมั่นคงทางธุรกิจมากกว่าสร้างฐานลูกค้าใหม่แทน และต่อให้ผู้บริโภคต้องการจะเปลี่ยนใจ ก็มีตัวเลือกไม่มาก หนีไปก็เจอปัญหาเช่นเดิม ไม่ต่างอะไรกับการหนีเสือปะจระเข้เลยสักนิด

ถึงแม้ว่า ภายหลังการเข้าซื้อหรือควบรวมธุรกิจของผู้เล่นรายใหญ่แต่ละราย จะมีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งนี้ก็ไม่อาจการันตีถึงความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีปัจจัยจากผู้บริโภค และความกดดันของตลาดที่ต้องแข่งกันเป็นเบอร์หนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แล้วทุกคนคิดว่า หลังจากที่ดีลการเข้าซื้อของเอไอเอส และการควบรวมธุรกิจของทรูกับดีแทคเสร็จสิ้น การทำธุรกิจของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในไทย จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด?

Sources: https://bit.ly/3RebiPZ

https://bit.ly/3RbX02q

https://bit.ly/3Rgeqek

https://bit.ly/3bMRT8x

https://bit.ly/3aicO2V