‘AI is not the bomb’ Christopher Nolan กับการเรียนรู้ที่จะหยุดความกลัวที่มีต่อ AI และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นความรัก

Share

หากพูดถึงผู้กำกับชื่อดังอันดับต้นๆ ของโลก คงไม่พ้นที่จะมีชื่อของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ติดอยู่ในโพลอย่างแน่นอน หรือถ้าใครยังไม่ค่อยคุ้น ก็เขาคนนี้นี่แหละที่เป็นคนกำกับภาพยนต์ชื่อดังอย่าง Batman Begins และ The Dark Knight 

ในปีนี้  โนแลนได้กลับมาพร้อมกับผลงานกำกับเรื่องใหม่  ‘Oppenheimer’ ภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) หรือที่เราอาจจะรู้จักกันในชื่อของ ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ ที่มีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 20 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ 

เป็นที่ทราบกันว่าโนแลนนั้นน่าจะมีความหลงใหลในโลกวิทยาศาสตร์ สังเกตได้จากผลงานการกำกับของเขาหลายๆ เรื่อง อย่าง Inception และ Interstellar เช่นเดียวกันกับผลงานล่าสุดของเขา ‘Oppenheimer’ ที่นำเสนอเรื่องราวของนักฟิสิกส์ผู้ใช้วิทยาศาสตร์ผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อหยุดสงครามโลก

ด้วยเหตุนี้ ‘Wired’ เว็บไซต์นำเสนอข่าวทางวิทยาศาสตร์สัญชาติอังกฤษได้มีโอกาสสัมภาษณ์กับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) เกี่ยวกับผลงานภาพยนต์เรื่องล่าสุด รวมไปถึงประเด็นของการนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์อย่าง AI เข้ามาใช้ในการผลิตภาพยนต์อีกด้วย โดยวันนี้ Future Trends จะขอหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจบางส่วนมานำเสนอให้กับผู้อ่าน ซึ่งจะมีประเด็นไหนที่น่าสนใจบ้าง ไปดูกัน

[ ความเป็นมาของการสร้าง Oppenheimer ]

โนแลนเผยว่าความหลงใหลต่อชีวประวัติของเจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ของเขานั้นมีมาสักระยะใหญ่ๆ แล้ว ทั้งแนวคิดที่น่าเหลือเชื่อ ความสัมพันธ์ของทฤษฎีกับโลกของความเป็นจริง ความเป็นไปได้อันน้อยนิดที่จะสามารถทำลายล้างโลกได้ แต่พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะปล่อยระเบิดอยู่ดี โดยโนแลนเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่น่าทึ่งทางประวัติ

คนจำนวนมากรู้จักออพเพนไฮเมอร์ในนามของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระเบิดปรมาณู และรู้ในเรื่องราวบางส่วน ซึ่งซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างเขากับประวัติศาสตร์สหรัฐฯ แต่ความไม่รู้อย่างลึกซึ้งนั้นเป็นจุดที่ทำให้โนแลนพึงพอใจ เพราะเขาเชื่อว่า คนที่ไม่รู้จะสามารถเข้าถึงภาพยนต์อันแสนบ้าคลั่งของเขาได้อย่างสุดเหวี่ยง

ออพเพนไฮเมอร์เป็นคนที่ฉลาด เขารู้วิธีที่จะจูงใจผู้คนผ่านการแสดงออกผ่านบุคลิก พรสวรรค์ของเขามีอยู่จริง และเป็นความสมบูรณ์แบบที่ทำให้ทุกคนสามารถมารวมตัวกันเพื่อสร้างบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยมือของพวกเขาเอง

FYI โนแลนทิ้ง Hidden Egg เล็กๆ ว่าภาพยนต์เรื่องต่อไปของเขาคือ Oppenheimer ไว้ใน Tenet (ภาพยนต์เรื่องก่อนหน้าของโนแลน) อีกด้วยนะ

[ AI is the bomb? ]

ไม่นานมานี้ได้มีงาน TED ที่แวนคูเวอร์ และมีสปีกเกอร์พูดถึงการเติบโตที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับการใช้ AI เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธ เช่น ระเบิดปรมาณู อาวุธนิวเคลียร์ และการที่จะสามารถจัดระเบียบโลกได้ โลกจะต้องมีอาวุธ AI ที่ดีกว่าเดิม แน่นแนนว่าคำพูดที่ส่งผลกระทบต่อภาพยนต์ของโนแลนได้ไม่น้อย เพราะถ้าให้พูดถึงระเบิดปรมาณูก็ต้องมีชื่อของออพเพนไฮเมอร์โผล่ออกมา อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการเดินสายโปรโมตภาพยนต์เช่นกัน

โนแลนกล่าวว่าความสัมพันธ์ของ AI กับระเบิดนั้นน่าสนใจ มันไม่เหมือนกัน แต่ก็ถือเป็นการเปรียบเทียบได้ดี เช่นเดียวกับใน Tenet ที่มีการปล่อยเทคโนโลยีออกมาโดยไม่มีการคิดหน้าคิดหลังจนเกิดความอันตราย ซึ่งถือเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้ และเขายังเชื่ออีกว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและเป็นอันตรายต่อโลกได้เช่นเดียวกับระเบิดปรมาณู

การถือกำเนิดของของ AI และระเบิดนั้นแตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์มองว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นการค้นพบโดยธรรมชาติ ในขณะที่การสร้าง AI นั้นเป็นความพยายามของมนุษย์

[ ความคิดเห็นของโนแลนที่มีต่อ AI ]

โนแลนให้ความเห็นว่าความกลัวและความกังวลของมนุษย์ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะคงอยู่สักระยะ จากนั้นจะลดลงและเปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่นแทน (แต่มันก็ไม่ได้หายไปหรอกนะ)

เช่นเดียวกับการเติบโตของ AI ก็เป็นเรื่องที่มนุษย์กังวลกันมาสักพัก แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งไม่นานมานี้เพิ่งเริ่มมีนักข่าวและสำนักข่าวเขียนเรื่องราวของมันเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อหน้าที่การงานของตัวเอง

AI ในยุคปัจจุบันนั้นทรงพลัง และส่งผลกระทบต่อความรับผิดชอบและการตัดสินใจของมนุษย์ ทำให้ผู้สัมภาษณ์จาก Wired แสดงความกังวลต่อการมีอยู่ของมันได้อย่างชัดเจน โนแลนนั้นก็เห็นด้วยกับความกังวลนั้น (แค่เพียงเล็กน้อย) เพราะเขายังเชื่อว่ามันจะเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ ตราบใดที่ผู้ใช้งานยังตระหนักได้ถึงความถูกต้อง และยังคงมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง

[ AI ในวงการภาพยนต์ ] 

Deepfake เป็น AI ตัวหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อวงการภาพยนต์อย่างมาก เป็นความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่สามารถปรับภาพและตกแต่งเสียงได้อย่างน่ามหัศจรรย์ อย่างเช่นการสร้างทางเข้า ประตู หรือหน้าต่าง 

อย่างไรก็ตาม โนแลนยังคงนิยมที่จะใช้เทคนิคเดิมๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาในการถ่ายทำภาพยนต์อยู่ดี โดยลดการใช้ CG และเน้นการใช้ความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด สำหรับเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาปรับใช้ก็เช่นการทาสีสายไฟเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับสตั๊นท์ จากนั้นจึงใช้ AI ลบสีเหล่านั้นออก เป็นต้น

การใช้ AI ในอุตสาหกรรมภาพยนต์นั้นช่วยทำให้ชิ้นงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทั้งยังเพิ่มความสะดวกให้กับคนทำงาน โดย AI ช่วยให้สามารถเริ่มชิ้นงานที่มีรายละเอียดจากฐานข้อมูล ซึ่งแตกต่างจากแรงงานมนุษย์ที่จะต้องใช้ความทรงจำหรือการอ้างอิง

ถึงแม้ว่าคริสโตเฟอร์ โนแลน จะยังคงเอกลักษณ์ในการถ่ายทำภาพยนต์ของตนเอาไว้ และยังไม่ได้นำ AI มาปรับใช้โดยตรง แต่ความรู้สึกกลัวและความกังวลของเขาก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในตอนนี้โนแลนสามารถยอมรับการมีอยู่ของ AI และแสดงความคิดเห็นในเชิงบวก เพียงแค่มนุษย์ต้องพึงระลึกถึงความถูกต้องในการใช้งาน และไม่หลงลืมที่จะรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง

เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย

Source:

https://www.wired.com/story/christopher-nolan-oppenheimer-ai-apocalypse/?fbclid=IwAR3TCobgOPuKY9sRUEGGbcBrbo37iJ5ogQ1EJQ7vwyqfZ95s9mo67Cch1L0