หลายหัวอาจไม่ได้ดีไปกว่าหัวเดียวเสมอไป เพราะบางครั้ง ความหลายหัว หลากไอเดีย นอกจากจะไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์ออกมาดี และมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ยังนำไปสู่ความพังมากกว่าการนั่งอยู่เฉยๆ ด้วย
แล้วทำไมหลายหัวถึงทำให้ผลลัพธ์ออกมาพังได้ มันเกิดอะไรขึ้น และเราจะหยุดเรื่องนี้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง? ในบทความนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังผ่าน ‘Abilene Paradox’ หลุมพรางของการเออออ ‘ตามน้ำ’ กัน
Abilene Paradox คืออะไร?
Abilene Paradox คือความย้อนแย้งการเออออตามน้ำ โดยมีที่มาจากชื่อเมืองแห่งหนึ่งในเรื่องเล่าของเจอร์รี บี. ฮาร์วีย์ (Jerry B. Harvey) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการจัดการแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน (George Washington University) ที่มีใจความสำคัญว่า มีครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ในเมืองโคลแมน (Coleman) ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูกสาว และลูกเขย
วันหนึ่งขณะที่ทุกคนกำลังนั่งเล่นเกมโดมิโนตรงระเบียงบ้าน อากาศก็ร้อนอบอ้าว จู่ๆ พ่อก็พูดขึ้นมาว่า “เราเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการขับรถไปทานข้าวเย็นที่ร้านอาหารในเมืองอาบีลีน (Abilene) กันดีไหม?”
แม่จึงตอบกลับไปว่า “ก็เป็นไอเดียที่ดีนะ” ลูกสาวก็ตอบเช่นกันว่า “น่าสนุกดี ในชีวิตนี้ยังไม่เคยไปที่เมืองนั้นเลยสักครั้ง” ส่วนลูกเขย แม้ลึกๆ แล้ว จะไม่อยากไปเพราะขี้เกียจขับรถ แต่ก็จำใจตอบไปว่า “ถ้าแม่อยากจะไป ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร”
ซึ่งตลอดการเดินทางกว่า 104 กิโลเมตร ค่อนข้างจะทุลักทุเลเลยทีเดียว เพราะอากาศ ณ ขณะนั้นร้อนพอสมควร อีกทั้ง ยังมีฝุ่นที่เยอะ และรถที่ติดมากด้วย แต่ที่หนักที่สุดนั่นก็คือ อาหารร้านที่ตั้งใจไปกินซะดิบดีกลับมีรสชาติธรรมดา ด้วยเหตุนี้ ทุกคนเลยรู้สึกผิดหวังมาก
พอกลับถึงบ้านปุ๊บ ก็มีใครบางคนพูดขึ้นมาว่า “ที่เราไปกันวันนี้สนุกดีเนอะ” จากนั้น แม่ก็ตอบกลับว่า “เอาตรงๆ เลยนะ แม่ก็ไม่ได้อยากจะไปหรอก แต่ที่ไปเพราะเห็นทุกคนกระตือรือร้น อยากจะไป”
ทันใดนั้น ลูกเขยก็บอกว่า “ผมก็ไม่ได้อยากไปเหมือนกัน แต่เออออตามเพราะอยากเอาใจทุกคน” เช่นเดียวกัน ลูกสาวก็บอกว่า “ไกลก็ไกล ร้อนก็ร้อนขนาดนี้ หนูไม่ได้อยากจะไปหรอก แต่ที่ไปเพราะอยากให้ทุกคนแฮปปี้ก็เท่านั้นเอง” ส่วนพ่อผู้เป็นคนต้นคิดก็แบไต๋ออกมาว่า “จริงๆ แล้ว พ่อก็ไม่ได้อยากจะไปเหมือนกัน แต่แค่คิดว่าทุกคนอาจจะเบื่อกับการอยู่บ้าน”
เจอร์รีเรียกหลุมพรางของการเออออตามน้ำแบบนี้ว่า ‘Abilene Paradox’ หรือหลุมพรางของสถานการณ์การตัดสินใจแบบกลุ่มที่ ‘ไม่มีใครแย้ง’ อย่างเช่น เวลาถามความคิดเห็น ทุกคนก็จะเห็นด้วยแบบเดียวกันหมด แต่เมื่อถามแยกรายคน กลับพบว่า ลึกๆ แล้ว หลายๆ คนก็ไม่ได้เห็นด้วย
แถมจริงๆ แล้ว นี่ก็ไม่ต่างอะไรจากการคิดตามกลุ่ม หรือเราเรียกกันว่า ‘Groupthink’ การเห็นดีเห็นงามกับไอเดียที่ดูไม่เข้าท่า ทั้งที่ในใจ ก็อาจจะเห็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่เมื่อคนส่วนใหญ่เลือกแบบนั้น ด้วยความที่มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม จึงโต้ตอบด้วยความรู้สึกว่า คนอื่นว่ายังไง ฉันก็ว่าอย่างงั้น หรือเข้าทำนองสำนวนไทย ‘เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม’ เดินลงหุบเหวแห่งความพังไปพร้อมๆ กันนั่นเอง
เราจะหยุด Abilene Paradox ด้วยวิธีไหนได้บ้าง?
Abilene Paradox ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ยังเกิดในโลกของการทำงานเป็นทีมได้ด้วย อย่างเช่น เวลาที่มีการตัดสินใจเรื่องสำคัญ หรือการโหวตนโยบายต่างๆ ทุกคนอาจจะตอบเป็นเอกฉันท์ว่า “ได้ครับพี่ ดีครับผม เวิร์กมากเลยครับนาย” แต่ลึกๆ ในใจก็อาจจะค้านหัวชนกำแพงก็เป็นได้ ซึ่งเราสามารถหยุดวงจรอุบาทว์นี้ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอยในทีมด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. สร้าง ‘Safe Zone ของความล้มเหลว’
คอย Cheer Up ให้ทีมรู้สึกอิสระ และปลอดภัยว่า ‘การเสนอไอเดียที่ไม่เวิร์กไม่ใช่ความผิดบาปมหันต์’ และควรทำให้ความล้มเหลวกลายเป็นเรื่องเล็กด้วย ไม่ใช่พอพูดอะไรที่อาจจะดูไม่ดีออกไป ก็ต้องมานั่งระแวง กลัวว่าจะโดนว่า โดนตำหนิต่อ
2. ฟังให้เป็น ฟังด้วยความตั้งใจจริง
อีกหนึ่งทักษะสำคัญของการบริหารทีมให้มีประสิทธิภาพคือ ‘การฟัง’ อย่าฟังแค่เข้าหูซ้าย ทะลุออกหูขวา จนพวกเขารู้สึกว่า พูดไปก็เท่านั้น นั่งนิ่งๆ ดีกว่า เพราะนอกจากจะทำให้พังแล้ว ก็ยังเปรียบเสมือน ‘ดาบสองคม’ ที่ปิดปาก ปิดความเฉิดฉาย ทั้ง High Performer และ High Potential ตามแบบฉบับของ Matrix Structure ด้วย
ดังนั้น ไม่ว่าคนพูดจะเป็นใคร สนิทกันมาก-น้อยแค่ไหน ตำแหน่งเล็กกว่า หรือมีอำนาจน้อยกว่าเราเท่าไร ถึงที่สุดแล้ว ก็ควรให้ความเคารพ ให้เกียรติพวกเขาแบบเดียวกับที่พวกเขาให้เราอย่างเท่าเทียมอยู่ดี
3. คาดหวังว่า ‘ต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแน่ๆ’
อย่าคาดหวังว่าโลกจะสวยงาม ทุกอย่างจะราบรื่นเหมือนหนูน้อยที่วิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์แบบเดียวกับ Toxic-Nice Culture เนื่องจาก หลายๆ ครั้ง ความเห็นดีเห็นงามเหมือนกันหมดก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป
จริงๆ แล้ว ไอเดียดีๆ นวัตกรรมเจ๋งๆ มากมายบนโลกใบนี้ก็มาจากความคิดที่ไม่เหมือนกันด้วย หมั่นบอกทีมบ่อยๆ ว่า แย้งได้ แตกต่างได้ ถ้ารู้สึกไม่เห็นด้วยตรงไหน สามารถพูดออกมาตรงๆ ได้เลย ไม่ต้องซุกไว้ใต้พรมเพราะไม่อยากทำให้บรรยากาศดีๆ เสีย
ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งที่หัวหน้าควรจัดการ แต่ความเออออตามน้ำ ดันหลังตามๆ กันไปก็เป็นสิ่งที่ควรระวังด้วย อ่านจบแล้ว ลองทบทวนดูว่า ตอนนี้เราหรือทีมกำลังเข้าข่ายแบบเดียวกับการเดินทางไปยังเมืองอาบีลีนรึเปล่า ทุกคนว่าไงก็ว่าตามไหม? มีอะไรก็รีบพูดออกไป อย่ารอให้หมดเวลาจนอะไรๆ มันสายเกินแก้เลยนะ 🙂
Sources: https://bit.ly/3COd3hB