ช่วงนี้กระแสการเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้นำแรงไม่หยุดจริง ๆ ผมจึงถือโอกาสกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของผู้นำในองค์กร โดยขอยกตัวอย่าง บริษัท Procter and Gamble Co. หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อย่อ P&G (พีแอนด์จี) หนึ่งในองค์กรที่ผลิตผู้นำมากมายออกมาเป็นผู้นำในธุรกิจหลากหลายวงการ
บริษัทพีแอนด์จี ขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นโรงเรียนผลิตผู้นำในองค์กรต่าง ๆ มามากมายทั่วโลก ทันทีเมื่อคุณย่างก้าวเข้ามาเป็นพนักงานในบริษัท ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม บริษัทจะสอนคุณว่า ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจะต้องมี 5 คุณสมบัติและจิตวิญญาณ ดังต่อไปนี้
1. Envision
ผู้นำควรเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ และสามารถถ่ายทอดเป้าหมายออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย รวมถึงต้องทำให้ทีมงานเชื่อว่า แม้เป้าหมายเป็นสิ่งที่ท้าทายเพียงใดก็สามารถทำให้เกิดผลได้จริง
การแสดงวิสัยทัศน์ที่ดี ต้องประกอบไปด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ยอดขาย ส่วนแบ่งการตลาดที่ต้องการ หรืออัตราการเติบโตต่อปี ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเวลา และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การตอบคำถามว่า ทำไมเป้าหมายนี้ ถึงมีความหมายกับทุกคนในองค์กร ทำนองว่า “What’s in it for me?” “แล้วมันเกี่ยวอะไรกับพวกเราด้วยนะ”
2. Engage
เมื่อผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่ดี มีเป้าหมายชัดเจน ขั้นต่อไปคือ การหาแนวร่วมมาทำเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ให้สำเร็จ
ผู้นำต้อง “ขาย” ไอเดียให้กับทุกคนในองค์กรว่า เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วจะมีความสุขมากขนาดไหน และหากไอเดียนั้นมาจากคนในองค์กร ก็จะได้ “Buy-in” ที่สูงมาก เพราะได้ร่วมกันคิด “แผนการนี้เจ๋งจริง ๆ และสามารถทำให้เกิดขึ้นได้” บางทีความล้มเหลวของผู้นำ อาจมาจากการที่ไม่ได้รับความร่วมมือของทุกคนมากพอ หรืออาจเพียงเพราะคุณไม่ได้อธิบายมันให้ดีพอเท่านั้นเอง
3. Empower or Energize
เมื่อได้แนวร่วมแล้ว การทำให้ทุกคนอยากตื่นมาทำงานทุกเช้า และตื่นเต้นที่จะได้โอกาสแสดงฝีมือเต็มที่ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการทำให้คนมีความสนุกในการทำงานทุกวัน ทำได้ด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมการ “จับถูก” มากกว่าการ “จับผิด”
ในมุมของการให้อำนาจการตัดสินใจ หรือ Empower คนให้มีความรับผิดชอบในขอบเขตที่ผู้นำกำหนด เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ทีมงานรู้สึกถึงความไว้ใจที่องค์กรมอบให้ ทำให้มีความเป็นเจ้าของ (Ownership) ในส่วนงานของตัวเองมากขึ้น
ฉะนั้นเมื่อมอบหมาย หรือ Delegate งานลงไป ผู้นำต้อง Empower ด้วย จะได้ผลลัพธ์ที่ดี จนคุณอาจคาดไม่ถึง
4. Enable
“กองทัพจะเคลื่อนไปได้เร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับพลทหารคนสุดท้ายของแถว” และ “คุณก็เก่งได้ไม่เกินศักยภาพของทีมงาน” ฉะนั้นผู้นำต้องรู้จักเพิ่มขีดความสามารถทุกจุดขององค์กร ต้องประเมินว่า ทีมงานขาดความเก่งหรือความชำนาญในเรื่องใด เพิ่มเสริมตรงจุดนั้น หรือการสอนงานและสร้างทีมที่เก่งกว่าตัวเองให้ได้ เสมือนการสร้างทีมฟุตบอล ที่มีกองหน้า กองกลาง กองหลัง และผู้รักษาประตูที่เก่งกาจ รวมทั้งมีแผนการเล่นที่ชัดเจน ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเอง และที่สำคัญคือ “เล่นกันเป็นทีม”
5. Execute
AG Laftly อดีต CEO ของ P&G เคยกล่าวไว้ว่า “Execution is the only strategy that our consumers see” หมายความว่า “การลงมือทำสำคัญกว่าแผนกลยุทธ์ที่สวยหรูบนกระดาษ” ไม่ว่าแผนของคุณจะฉลาดล้ำหรือดีแค่ไหน คนที่ลงมือทำให้เกิดผลสำเร็จคือ ทีมงานของคุณเอง
หากคนในองค์กรไม่เข้าใจหรือทำอะไรติดขัด ผู้นำคือคนที่ต้องลงมือทำไปพร้อมกับทุกคน การตรวจงานไม่ใช่แค่ทำไปเป็นพิธีเท่านั้น แต่คือการลงไปเพื่อเข้าใจปัญหาและทำให้อุปสรรคนั้นเบาบางลงหรือผ่านพ้นไปได้
จะใช้ 5 คุณสมบัติเหล่านี้ อย่างไรและเมื่อใด ?
ผมลองเสนอว่า กรณีที่เป็นเด็กเพิ่งเรียนจบใหม่ที่อ่อนประสบการณ์ งานส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะลงมือทำ ประสานงานเอง หรือ “Execution” มากหน่อยประมาณ 70-80% ของงานในแต่ละวัน
เมื่อคุณเติบโตขึ้น งานลักษณะ “ลงมือทำเอง” จะน้อยลงเป็นสัดส่วนผกผันกับ “งานวางแผน” หรือ “Envisioning” กล่าวคือ ผู้นำองค์กรจะใช้เวลามากขึ้นในการทำงานกำหนดเป้าหมาย วางแผนกลยุทธ์ และหาแนวร่วมจากทีมงาน และทำให้ทุกคนตื่นเต้นกับเป้าหมายนั้น แต่เมื่อมีความต้องการที่ให้คุณต้องช่วยลงมือปฏิบัติ ผู้นำต้องสามารถลงล้วงลึกเข้าไปในรายละเอียด และพร้อมจะ “มือเปื้อนโคลน” แบบถึงลูกถึงคน ความเป็นผู้นำในลักษณะนี้ ผมขอเรียกว่า “นำแบบได้ใจ”
สรุปได้ว่า ผู้นำที่ดีต้องมีส่วนผสมของ 5E ดังที่กล่าวไป ซึ่งส่วนผสมจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หน้าที่ และบทบาทของผู้นำต่างกันไป เมื่อคุณมีตำแหน่งที่สูงขึ้น จะมีงานในส่วน Envisioning มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำมีหน้าที่สั่งอย่างเดียวโดยไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม ทำให้ทุกคนมีความสุขและสนุกไปกับการทำงาน และเพิ่มขีดความสามารถของทุกคนในทีม ส่งผลต่อความสำเร็จของผู้นำคนนั้นมากพอ ๆ กับการลงมือทำ
คำถามคือ ส่วนผสมใน 5E’s of Leadership ที่ลงตัวของคุณคืออะไร และมีส่วนใดที่คุณยังทำมันได้ไม่ดีพอ
คุณเท่านั้นที่รู้คำตอบ !