ลูกทีมไม่เชื่อใจ ทำอะไรก็ไม่เข้าตา เปิด 5 เทคนิคเปลี่ยนตัวเองเป็น ‘Respected Leader’ ที่มีแต่คนรัก

Share

ถ้ารู้สึกว่า ลูกทีมไม่เชื่อใจ และแสดงท่าทีที่ไม่ต้องการทำงานร่วมกับเราอย่างชัดเจน เราควรทำอย่างไร?

ชาวออฟฟิศหลายๆ คนต้องเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับความเข้ากันไม่ได้ระหว่างตัวเองกับหัวหน้าอย่างแน่นอน เพราะแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นความคิด สไตล์การทำงาน ประสบการณ์ ช่วงวัย ภูมิหลังการเติบโต และอื่นๆ อีกมากมาย

ถึงแม้ว่า สาเหตุที่เป็นต้นตอของความเข้ากันไม่ได้จะมีอยู่มากมาย แต่ผลการสำรวจของ CPP องค์กรพัฒนาภาวะผู้นำจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ปัญหาความเข้ากันไม่ได้ของลูกทีมกับหัวหน้าที่พบได้ในที่ทำงานมีสาเหตุมาจากลักษณะนิสัยที่แตกต่างและการมีอีโก้ (Ego) ระหว่างกันมากถึง 49 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งความเข้ากันไม่ได้ของลูกทีมกับหัวหน้ามีหลายระดับ ตั้งแต่ความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากการสื่อสารไม่เข้าใจ แต่สามารถแก้ปัญหาได้เมื่อคุยกันอย่างชัดเจน ไปจนถึงความขัดแย้งรุนแรงที่เป็นต้นเหตุของความไม่เชื่อมั่น และความแตกหักที่อาจจะบานปลายเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ในที่ทำงานเลยก็ได้

อีกทั้งปัญหาความสัมพันธ์ของลูกทีมกับหัวหน้า เป็นปัญหาสามัญประจำที่ทำงานที่พบเจอได้ในทุกบริษัท และเป็นปัญหาที่แก้เท่าไรก็แก้ได้ไม่ขาดเสียที เพราะปัจจุบัน เรายังเห็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสุดเผ็ดร้อนในประเด็นนี้กันบนโลกออนไลน์อยู่ โดยเฉพาะใน ‘พันทิป’ (Pantip) และ ‘ทวิตเตอร์’ (Twitter) แพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทย

และในความคิดของคนเป็นหัวหน้า คงไม่มีใครที่ต้องการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะนอกจากจะบั่นทอนสุขภาพจิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงด้วย

แล้วถ้าหัวหน้าต้องการจะแก้ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของลูกทีมกับตัวเอง และทำให้ลูกทีมเชื่อมั่นในตัวเอง ควรเริ่มอย่างไรดี?

หลายๆ คนอาจจะเริ่มมองหาวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากความเข้ากันไม่ได้เกิดจากลักษณะนิสัยที่ต่างกัน เราก็พยายามหาลูกทีมที่เหมือนกับเรา หรือเป็นลูกทีมฉบับ ‘mini-me’ แทน ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ผิด แต่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน เพราะในอนาคต หัวหน้าก็ต้องรับมือกับลูกทีมที่ต่างจากตัวเองอยู่ดี

และเพื่อช่วยให้หัวหน้าทุกคนสามารถรับมือกับลักษณะนิสัยของลูกทีมที่แตกต่างกัน รวมถึงทำให้ลูกทีมเชื่อมั่นในความเป็นหัวหน้าของตัวเอง เราจึงนำ 5 เทคนิคการเป็น ‘Respected Leader’ หรือ ‘หัวหน้าที่น่าเคารพ’ จากบทความของ Inc. และ Harvard Business Review มาฝากกัน

Consistent : ลงรอย

หัวหน้า คือตำแหน่งที่ต้องมีความสมดุลทั้ง ‘สายบู๊’ หรือการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และ ‘สายบุ๋น’ หรือการบริหารทีมให้เป็นทีมจริงๆ ซึ่งทุกคนคงมีความเป็นสายบู๊อยู่ในตัวอยู่แล้ว เพราะก่อนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าก็ต้องสั่งสมประสบการณ์ทำงานมาไม่ใช่น้อย แต่สิ่งที่หัวหน้าหลายๆ คนยังขาดไป ก็คือทักษะการบริหารทีม ทำให้ทีมรู้สึกเป็นทีมเดียวกัน และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น

ดังนั้น หัวหน้าต้องเป็นคนที่อ่านสถานการณ์เก่ง ทราบว่า ลูกทีมแต่ละคนมีลักษณะการทำงานอย่างไร คอยปรับสไตล์การทำงานให้เข้ากับลูกทีม รวมถึงลดอีโก้ความเป็นหัวหน้าของตัวเองลง และเปิดใจฟังลูกทีมอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกัน

Punctual : ตรงต่อเวลา

ความตรงต่อเวลา เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทุกคนต้องมี ไม่ใช่แค่กับหัวหน้าเท่านั้น แต่หัวหน้าต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาเป็นอย่างมาก เพราะการบริหารเวลาที่ดี จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตัวเองและลูกทีม อีกทั้งบทบาทการเป็นหัวหน้า ไม่ใช่แค่ทำงานให้ดีอย่างเดียวด้วย หากต้องการให้ลูกทีมทำงานอย่างตรงต่อเวลา หัวหน้าก็ต้องวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกทีมเห็นก่อน

Responsive : โต้ตอบ

การโต้ตอบในที่นี้ หมายถึงการสื่อสาร พูดคุย และประสานงานระหว่างกันและกัน ซึ่งทักษะการสื่อสารที่ดี จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกทีมได้ด้วย เพราะการที่หัวหน้าสามารถสื่อสารหรือถ่ายทอดเรื่องราวให้ลูกทีมฟังได้เป็นอย่างดี ลูกทีมจะรู้สึกว่า หัวหน้าของเราเป็นคนที่มีความสามารถ และเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างแน่นอน

Comfortable : อ่อนโยน

“Forgive others and yourself for mistakes.” (ให้อภัยกับความผิดพลาดของตัวเองและผู้อื่น)

ในมุมของคนทำงานทุกคน ไม่มีใครที่ทำงานแล้วต้องการให้เกิดความผิดพลาด เพราะนอกจากที่จะต้องมาตามแก้ปัญหา ยังเสียเวลาในการทำงานส่วนอื่นด้วย แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น หัวหน้าไม่ควรตำหนิลูกทีม จนทำให้สูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem) แต่ให้ตักเตือนเป็นบทเรียนด้วยความอ่อนโยนแทน

Respect : เคารพ

“Give respect, Earn respect” (เมื่อให้ความเคารพ เราก็จะได้รับเคารพกลับมา)

การเคารพผู้อื่น เป็นพื้นฐานสำคัญในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ถึงแม้ว่า เราจะเป็นหัวหน้าที่มีตำแหน่งงานสูงกว่า แต่ทุกคนก็มีความคิดและการตัดสินใจเป็นของตัวเอง ทำให้หมดยุคของการเป็นหัวหน้าที่เอาแต่ออกคำสั่ง และใช้ตำแหน่งในการบังคับผู้อื่น

ดังนั้น การมอบความเชื่อมั่นและความเคารพให้กับผู้อื่นก่อน จะทำให้หัวหน้าได้รับสิ่งเหล่านั้นกลับมาโดยที่ไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยากเลย

จริงๆ แล้ว หัวใจสำคัญของการเป็นหัวหน้าที่น่าเคารพ ก็คือความจริงใจที่หัวหน้าต้องสื่อออกมาให้ลูกทีมรับรู้ รวมถึงการยอมรับในความแตกต่าง เพราะเราไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดเหมือนกับเรา หรือเชื่อมั่นในตัวเราได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยการเป็นหัวหน้าที่เข้าใจลูกทีม จะทำให้ลูกทีมเชื่อว่า เราเป็นคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างแน่นอน

แล้วทุกคนคิดว่า การเป็นหัวหน้าที่น่าเคารพและสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกทีมได้จริงๆ ยังต้องมีคุณสมบัติอะไรอีกบ้าง?

Sources: https://bit.ly/3b23tgd

https://bit.ly/3zHCvnH

https://bit.ly/3RVhH33