‘ใครๆ ก็ทำได้’ ประโยคสั้นๆ ที่อาจแสดงถึงอาการของ Imposter Syndrome ภาวะที่หัวใจไม่ยอมรับในความสามารถของตัวเอง

Share

เคยรู้สึกแบบนี้ไหม เวลาที่ทำงานอะไรก็ตามสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ภายในใจกลับคิดว่า ‘คนอื่นก็ทำได้เหมือนกัน’  ‘วันนี้โชคดีจริงๆ ’ หรือจะเป็น ‘หลวงพ่อช่วยลูกช้างแล้ว’

ประโยคสั้นๆ ที่ดูแสนธรรมดา แต่กลับแอบแฝงไว้ด้วยความผิดปกติเล็กๆ ที่ก่อตัวขึ้นภายในจิตใจโดยที่เราไม่ทันได้รู้สึกตัว กับอาการของ ‘Imposter Syndrome’

Imposter Syndrome ถูกค้นพบและตั้งชื่อโดย ดร. พอลลีน โรส แคลนซ์ (Pauline Rose Clance) และ ดร.ซูซาน เอเมนท์ อิมีส (Suzanne Ament Imes) นักจิตวิทยาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจียในปี ค.ศ. 1978

โดย Imposter Syndrome เป็นภาวะที่เรารู้สึกวิตกกังวล ไม่มั่นใจในความสามารถของตนเอง และมักตั้งคำถามและเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสำเร็จที่ได้รับมา และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้ภาวะนี้พัฒนาต่อจนเป็นโรคซึมเศร้าได้

ถึงแม้ Imposter Syndrome จะส่งผลต่อสุขภาพจิต แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สภาพแวดล้อมในครอบครัว การถูกกดดันจากสังคม ความรู้สึก รวมไปถึงบุคลิกภาพของตนเอง

[ คนแบบไหนบ้างที่เสี่ยงกับภาวะ Imposter Syndrome ]

  • สงสัยในความสามารถของตนเอง
  • ดูถูกผลงานของตนเอง
  • ด้อยค่าความสำเร็จของตนเอง
  • คิดว่าความสำเร็จมาจากปัจจัยภายนอก
  • มีความคาดหวังที่ไม่อยู่กับความเป็นจริง
  • กลัวว่าผลงานจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
  • Burnout

[ วิธีรับมือและก้าวข้ามภาวะ Imposter Syndrome ]

แม้ว่าการพยายามจะทำให้รู้สึกเหนื่อย และสิ้นหวังมากกว่าเพิ่มกำลังใจ แต่เราจำเป็นต้องไปต่อ ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภาวะ Imposter Syndrome นั้นคอยบั่นทอนความรู้สึกดีและความมั่นใจของตนเอง แต่จำไว้ว่าเรายังไม่ได้หมดหนทางที่จะสู้ 

นอกจากนี้ อย่าพยายามที่จะเพิกเฉยต่อความรู้สึก แต่ให้ควบคุมอารมณ์ด้วยการยอมรับในการมีอยู่ของมันแทน และอย่าลืมที่จะสังเกตผลกระทบที่เกิดกับร่างกายด้วยนะ

โดยมีเทคนิคที่สามารถใช้เพื่อควบคุมอารมณ์ได้ นั่นก็คือ SBNRR (stop, breathe, notice, reflect, respond) โดยเทคนิคนี้จะทำให้เราใจเย็นลง สามารถตัดสินใจในสถานการณ์ ความคิด ความรู้สึก ที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างมีสติมากกว่าเดิม

Stop: อนุญาตให้ตัวเองหยุดและใช้เวลาทบทวน

Breathe: หายใจเข้า-ออกลึกๆ และปล่อยให้ความคิดล่องลอยไป

Notice: สังเกตความรู้สึก ร่างกาย คนรอบข้าง สภาพแวดล้อม สถานการณ์ และสิ่งอื่นๆ ที่สามารถสังเกตได้

Reflect: ไตร่ตรอง ประเมินสถานการณ์ว่าสิ่งใดที่ดึงเราเข้าไปในภาวะ Imposter Syndrome

Respond: ตอบสนองต่อกระบวนการทั้งหมด หากสามารถมาถึงขั้นตอนสุดท้ายได้ แปลได้ว่าเรากำลังมีสติเพิ่มขึ้น

[ แนวทางอื่นๆ ในการรับมือ Imposter Syndrome และเพิ่ม Self-Esteem ให้ตัวเอง ]

1. หาจุดโฟกัสใหม่ 

หันเหจากความสำเร็จและมุ่งไปที่ตัวตน เพราะตัวเรานั้นมีค่ามากที่สุด

2. ไล่มันออกไปจากสมอง 

การเลิกคิดวกไปวนมาจะช่วยให้ความกลัวต่อการผิดพลาดนั้นลดลง

3. ฝึกเห็นอกเห็นใจตัวเองบ้าง

อย่าพยายามเอาชนะตัวเองแต่ให้คิดในแง่บวกว่าเราเดินทางมาไกลกว่าเดิม และกำลังเติบโตขึ้นไปอีกขั้น

4. ใจดีกับตัวเอง 

เพราะชีวิตไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิดพลาด เราเองก็เหมือนกัน

5. ขอฟีดแบ็กจากคนที่ไว้ใจได้เป็นระยะๆ

เพื่อนำมาพัฒนาตัวเองและช่วยให้เลิกกังวลว่าคนอื่นคิดกับเราอย่างไร

6. ชื่นชมตัวเองบ่อยๆ  

แม้จะเป็นความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ แต่การชื่นชมตัวเองก็สามารถช่วยเพิ่มความรู้สึกภูมิใจและมองเห็นคุณค่าในตัวเองให้มากขึ้นได้

7. ประเมินพฤติกรรม

ลองเขียนตารางเกี่ยวกับพฤติกรรม ด้านหนึ่งเป็น ‘ฉันไม่เก่งในเรื่อง…’ ส่วนอีกด้านเป็น ‘ฉันเก่งในเรื่อง…’ จากนั้นลองประเมิน ซึ่งเช็กลิสต์นี้จะช่วยให้เราสามารถพิสูจน์ความสามารถของเราได้

8. เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นให้น้อยลง  

แม้จะดูยาก แต่ถ้าหากทำได้จะเป็นเรื่องที่ดีมากเรื่องหนึ่ง เพราะเราจะสามารถมองเห็นคุณค่าในตัวของเราได้มากขึ้นโดยไม่ต้องสนใจคนอื่น

9. ยอมรับในตัวเอง

ยอมรับในความสามารถ รวมไปถึงยอมรับในข้อผิดพลาด สิ่งไหนที่ทำได้ดีก็อย่าลืมชื่นชมตัวเอง สิ่งไหนที่ทำพลาดไปก็อย่าตัดสินว่าตัวเราห่วย แต่ให้จดจำความผิดพลาดนั้นเพื่อนำมาพัฒนาตัวเองต่อแทน

ในวันที่การแข่งขันเกือบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เราคงหลีกเลี่ยงที่จะนำตัวเองไปเปรียบเทียบ “ความสำเร็จ” กับคนอื่นไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ควรมั่นใจและภูมิใจในตัวเองนะ เพราะตัวเราคือคนที่ “สมควรถูกรัก” ที่สุดแล้ว

เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย

Sources: https://www.betterup.com/blog/what-is-imposter-syndrome-and-how-to-avoid-it#what