‘ใครจะอยู่กันแบบครอบครัวก็อยู่ไป แต่ไม่ใช่ที่นี่’ รู้จักเทคนิคการบริหารคนแบบทีมกีฬาจาก Netflix จนทำให้มีแต่คน ‘โคตรเก่ง’ ในองค์กร

Share

เชื่อว่าในที่นี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘Netflix’ แพลตฟอร์มให้บริการสตรีมมิ่งซีรีส์และ ภาพยนต์ออนไลน์อันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงในประเทศไทยเช่นกัน โดย Netflix เริ่มทำธุรกิจมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1997 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระยะเวลารวมกว่า 25 ปี

แน่นอนว่าการจะสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ Netflix ก็สามารถทำได้ ด้วยศักยภาพของผู้บริหารและเหล่าพนักงานที่มีแต่คน ‘โคตรเก่ง’

แล้ว Netflix ตามหาคน ‘โคตรเก่ง’ ได้อย่างไร? เริ่มแรก เราขอพาทุกคนย้อนกลับมาถามตัวเองกันก่อนว่า เคยได้ยินประโยค “ที่นี่เราทำงานกันเหมือนครอบครัว” กันบ้างไหม และรู้สึกยังไงกันบ้าง

ในช่วงแรกหลายๆ คนก็อาจจะรู้สึกดี เป็นกันเอง อบอุ๊นอบอุ่นจังเลยเนอะ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ความวินาศสันตะโรจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนเราคิดไม่ถึงเลยล่ะ

ทั้งการที่ต้องการจะลงมือทำอะไรก็ทำไม่ได้ เพราะต้องนึกถึงความรู้สึกของคนรอบข้าง การโดนใช้งานในรูปแบบ ‘พี่ทำงานนี้ไม่ทัน น้องทำให้ที’ โดยที่เราไม่ได้รับอะไรเลยนอกจากความเหนื่อยล้าจากชิ้นงานที่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะเป็นการที่เราต้องเสียโอกาสที่ดีไปเพราะมัวแต่เกรงใจคนในองค์กร

CEO ของ Netflix ‘รีด เฮสติงส์ (Reed Hastings)’ บอกว่า เราไม่ควรบริหารคนแบบครอบครัว เขามองว่าพนักงานทุกคนเป็นเหมือนผู้เล่นใน ‘ทีมกีฬา’ ซึ่งทีมที่ว่าก็คือองค์กรนั่นเอง โดยเขาเชื่อว่าเป้าหมายขององค์กรไม่ควรเป็นความสัมพันธ์ แต่ควรเป็นการสร้างผลลัพธ์ร่วมกัน

วันนี้ Future Trends จะพาทุกคนไปดูว่า Netflix บริหารคนแบบทีมกีฬาอย่างไร จนทำให้มีแต่คน ‘โคตรเก่ง’ ในองค์กร

1. เลือกสรรแต่ผู้เล่นที่ความสามารถ

องค์กรที่มีแต่พนักงานที่มีความสามารถ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลงานหรือองค์กร แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงานได้เช่นกัน โดยจะเป็นแรงกระตุ้นให้พนักงานคนอื่นพัฒนาตนเองขึ้นให้เหมือนคนอื่นๆ ในทีมนั่นเอง 

นอกจากนี้ Netflix จะไม่เก็บพนักงานที่ไม่เก่งเอาไว้ เพราะหากพนักงานคนนั้นไม่พัฒนาความสามารถหรือหรือสร้างข้อผิดพลาดให้ ก็จะส่งผลเสียต่อองค์กร

เช่นเดียวกับทีมกีฬาที่คอยเฟ้นหานักกีฬาเก่งๆ จากทั่วทุกมุมโลกเพื่อตามหาดาวเด่นที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับทีมได้ แต่ถ้าหากหมดความสามารถ หรือที่เรียกว่าฟอร์มตกแล้ว ก็คงไม่มีเหตุผลที่จะต้องต่อสัญญากันอีก

2. ประเมินพนักงานแบบ 360-Degree Review

การประเมินผลนั้นมีประโยชน์ในหลายๆ ทางสำหรับองค์กร เช่น ทำให้ทราบศักยภาพของพนักงาน ทำให้ทราบถึงผลลัพธ์เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น เป็นต้น 

Netflix ใช้การประเมินแบบ 360-Degree Review หรือการประเมินรอบทิศ 360 องศา เป็นการประเมินที่ช่วยให้พนักงานในองค์กรได้รับรู้จุดแข็งและจุดอ่อนในการทำงาน รวมถึงฟีดแบ็กทางด้าน Soft Skills ซึ่งฟีดแบ็กที่ได้รับจะไม่ได้มาจากหัวหน้าเพียงคนเดียว แต่ยังมาจากเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงจากตัวเองอีกด้วย  

เช่นเดียวกับทีมกีฬาที่ต้องมีการประเมินศักยภาพทางร่างกายด้วยการปฏิบัติจริง เพื่อที่จะได้แก้ไขและปรับวิธีการเล่นให้ดีขึ้นได้

3. ผู้จัดการทีมต้องเป็นคนสร้างสรรค์ทีมที่มีคุณภาพ

แพตตี้ แมคคอร์ด (Patty McCord) อดีตพนักงาน Netflix เจ้าของหนังสือ ‘ทำไม NETFLIX ถึงมีแต่คนโคตรเก่ง’ บอกว่าขณะที่เธอยังทำงานอยู่ที่ Netflix การให้คำแนะนำของเธอต่อหัวหน้าทีมนั้นคือการมองหาความสำเร็จในอนาคต จากนั้นจึงกลับมาคิดว่าทำอย่างไรเราถึงจะประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายได้

นอกจากนี้ หัวหน้ายังมีหน้าที่ในการตามหาพนักงานที่มีคุณภาพและเหมาะสมเพื่อนำมาเสริมความแข็งแกร่งกับทีมอีกด้วย หากเป้าหมายในอนาคตต้องการคุณสมบัติของพนักงานใหม่สักคนหนึ่ง หัวหน้าก็ตามหาพนักงานคนนั้นมาให้ได้ ดังนั้น การที่ทีมจะมีคุณภาพขึ้นได้ หัวหน้าจึงมีส่วนสำคัญไม่แพ้สิ่งใดเลยล่ะ 

ในวงการกีฬา นักกีฬาที่เล่นเก่งแต่ไม่สามารถเล่นร่วมกับทีมในปัจจุบันได้ จำเป็นต้องโดนโดนคัดออก หรือแม้แต่การเป็นผู้เล่นที่เก่ง แต่ความสามารถไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของการแข่งขันในรอบนั้นๆ  ก็อาจจะโดนเปลี่ยนตำแหน่งได้เช่นกันนั่นเอง

การบริหารคนแบบนักกีฬาจาก Netflix อาจจะดูโหดร้ายไปสักนิด เพราะไม่มีที่สำหรับคนที่ไม่เก่ง คนที่ไม่เหมาะสม หรือคนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพเลย แต่สุดท้าย มันคือโลกของความเป็นจริงที่มีผลลัพธ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการที่มีแต่คน ‘โคตรเก่ง’ ในองค์กรนั้น สามารถทำให้ Netflix ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ได้

เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย

Sources:

https://medium.com/yoursproductly/85-your-organization-is-like-a-sports-team-not-a-family-f7c45597bd99
https://www.naiin.com/product/detail/481996
https://hbr.org/2014/01/how-netflix-reinvented-hr
https://jobs.netflix.com/culture